สภาพัฒน์ แนะทำแผนจัดการแบตเตอรี่ลิเทียมฯ รับยอดขายรถ EV – ไฮบริด โตต่อเนื่อง
“สภาพัฒน์” แนะไทยทำแผนจัดการซากแบตเตอรี่ EV โดยเฉพาะแบตเตอรี่ลิเทียมฯที่จะเพิ่มในไทยมากถึง 7.8 ล้านตันต่อปี ในปี 2583 แนะ 3 แนวทางวางแผนจัดการอย่างเป็นระบบก่อนก่อมลพิษทางสิ่งแวดล้อมและส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ประชาชน
รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV)ถือเป็นเทรนด์แห่งอนาคตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีแนวโน้มที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ประเทศไทยตั้งเป้าจะเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของอาเซียน โดยมีนโยบายทั้งด้านการส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดภายในปี 2573 และการส่งเสริมให้ประชาชนทันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทนรถยนต์เครื่องสันดาปควบคู่ไปด้วย โดยที่ผ่านมายอดผลิตรถ EV ในไทยจากการเข้ามาลงทุนของค่ายรถต่างๆ ทำให้ไทยมีกำลังการผลิตมากถึง 4 แสนคันต่อปี และยอดการจดทะเบียนรถไฟฟ้าในประเทศ ในปี 2566 ที่มีจำนวน 2 แสนคันเพิ่มขึ้นจากปี 2564 มากถึง 3 เท่าตัว
โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV ซึ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบบสมบูรณ์ มีสัดส่วนการจดทะเบียนใหม่เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 16 เท่าตัว สอดคล้องกับทิศทางตลาดรถยนต์ของโลกที่คาดการณ์ว่า 1 ใน 4 ของยอดขายรถยนต์ของโลกภายในปี 2568 คือ รถยนต์ไฟฟ้า และ 3 ใน 4 ของรถยนต์ที่ขายทั่วโลกในปี 2583 จะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า BEV
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่าการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดนี้ในอีกด้านหนึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาขยะอันตรายที่มาจากรถยนต์ไฟฟ้าที่เสื่อมสภาพ โดยเฉพาะชิ้นส่วนหลักของรถยนต์ไฟฟ้าอย่างแบตเตอรี่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลิเทียมไอออน ที่มีอายุการใช้งานเฉลี่ยเพียง 8 - 10 ปี อีกทั้งราคาแบตเตอรี่ดังกล่าวยังมีแนวโน้มถูกลงในอนาคต
แบตฯลิเทียมเสื่อมสภาพพุ่ง 7.8 ล้านตันปี 2583
โดยในปี 2563 มีแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนเสื่อมสภาพประมาณ 1.0 แสนตัน และอาจเพิ่มขึ้นเป็น 7.8 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2583 ซึ่งการจัดการแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่ไม่เหมาะสมจะส่งผลต่อมลพิษทางสิ่งแวดล้อมและส่งผลเสียต่อสุขภาพ
โดยงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบจากแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของรถยนต์ทั้ง EV และรถไฮบริด โดยระบุว่าขยะแบตเตอรี่เสื่อมสภาพที่ถูกทิ้งหรือฝังกลบจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในหลายด้าน อาทิ มลพิษทางน้ำและดินจากสารโลหะหนัก รวมทั้งสารเคมีในแบตเตอรี่ เช่น ลิเทียมเฮกชะฟลออโรฟอสเฟต (LIPF6) กรดโฮโดรฟลูอริก (HF)ที่เมื่อสัมผัสกับน้ำจะก่อให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีที่อันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เป็นต้น ขณะเดียวกันการกำจัดแบตเตอรี่ EV ที่ไม่ถูกวิธีอาจทำให้เกิดความร้อนและระเบิด ซึ่งอาจสร้างความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินได้
ไทยยังไม่มีกฎหมายควบคุมชัดเจน
สำหรับประเทศไทยการกำจัดซากแบตเตอรี่ยังมีปัญหา เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายและข้อบังคับการจัดการแบตเตอรี่จากรถ EV ที่เฉพาะเจาะจง โดยมีเพียงพระราชบัญญัติกองทุนส่งเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า พ.ศ.." ซึ่งยังอยู่ระหว่างการจัดทำ และแม้จะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่มีผลโดยอ้อม
เช่น กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาสิงแวดล้อม กฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย กฎหมายว่าด้วยโรงงาน และกฎหมายว่าด้วยสาธารณสุขเป็นแนวทางในการจัดการ แต่ยังไม่เพียงพอในการจัดการแบตเตอรี่อย่างครบวงจรและเป็นระบบ สอดคล้องกับการศึกษาของสมาคมเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานไทย (Thailand Energy Storage Technology Association: TESTA) ที่พบว่า ปัญหาหลักในการจัดการซากแบตเตอรี่รถ EV ของประเทศไทย คือ การขาดแนวทางในการจัดการซากแบตเตอรี่ที่ชัดเจนส่งผลให้การจัดการซากแบตเตอรี่ยังถูกจัดการรวมในประเภทขยะอันตรายทั่วไป ซึ่งจากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ ปี 2566 พบว่า กว่า 1 ใน 4 ของขยะมูลฝอยทั้งหมด ถูกกำจัดอย่างไม่ถูกต้อง
นอกจากนี้ หากพิจารณาตามสถานที่กำจัดขยะ ยังพบอีกว่า มากกว่า90% เป็นสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยแบบไม่ถูกต้องอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 ไทยมีการพัฒนาและทดสอบเทคโนโลยีการจัดการซากแบตเตอรี่บ้างแล้ว ส่งผลให้สามารถปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์การใช้งานแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้งานแล้วให้สามารถนำกลับมาใช้เป็นแหล่งพลังงานสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก และอาคารบ้านเรือน สำนักงาน หรือโรงงานอุตสาหกรรมได้
แนะศึกษาเทคโนโลยีรีไซเคิลแบตฯ
ซึ่งคาดว่าแบตเตอรี่ดังกล่าวจะมีอายุการใช้งานไม่น้อยกว่า 8 ปี หรือใกล้เคียงกับอายุการใช้แบตเตอรี่ใหม่ในรถยนต์ไฟฟ้าเดิม อีกทั้งยังสามารถพัฒนเทคโนโลยีในการรีไซเคิล โดยสามารถแยกสกัดลิเทียม และโคบอลต์ออกมาใช้ประโยชน์ได้ รวมทั้งได้มีการพัฒนาแบตเตอรีลิเทียมไออนต้นแบบที่ใช้ลิเทียมที่ได้จากการรีไซเคิลแบตเตอรี่ฯ เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตแบตเตอรี่
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการรายใหญ่ใหญ่ในประเทศ เริ่มมีการศึกษาแนวทางการรีไซเคิล ตลอดจนมีแผนการลงทุนตั้งโรงงานเพื่อรองรับการจัดการซากแบตเตอรี่อย่างครบวงจร จึงถือเป็นการเตรียมความพร้อมก้าวสำคัญ ซึ่งชี้ให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของไทยในการส่งเสริมให้มีอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ระบบหมุนเวียนที่มีความครอบคลุมตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิต โดยลดการพึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศ
แนะ 3 ข้อจัดการซากแบตฯยั่งยืน
ดังนั้นเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวไทยต้องมีการดำเนินการเพิ่มเติม ดังนี้
1.การศึกษาและกำหนดมาตรฐานการจัดการซากแบตเตอรี่ที่มีความรัดกุม ปลอดภัย และครอบคลุมวงจรชีวิตของแบตเตอรี่ ตั้งแต่กระบวนการเก็บ การขนส่ง และวิธีการรีไซเคิล กำจัดแบตแบตเตอรี่ที่เหมาะสม เพื่อเป็นแนวทางหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินการอย่างเป็นระบบ อาทิ การนำหลัก EPR มาปรับใช้เป็นแนวทางให้ผู้ผลิตคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย การมีข้อกำหนดให้ผู้ใช้รถต้องมีส่วนในการรับผิดชอบตั้งแต่ซื้อรถจนเลิกใช้รถ ตลอดจนมีการควบคุมและป้องกันการรั่วไหลของซากแบตเตอรี่ตั้งแต่ขั้นตอนการจัดเก็บ จนถึงโรงงานรีไซเคิล/กำจัดแบตเตอรี่
2.การสนับสนุนและส่งเสริมด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี การจูงใจให้มีการลงทุน ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรที่จำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมรีไซเคิล เช่น การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาโครงการร่วมที่สนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมด้านการรีไซเคิล การให้สิทธิพิเศษทางภาษี
เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุนใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากต่างประเทศเนื่องจากจำนวนผู้ประกอบการในไทยที่มีศักยภาพในการรีไซเคิลแบตเตอรี่รถ EV ยังมีไม่เพียงพอ โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรบรรจุความรู้เกี่ยวกับการรีไซเคิลแบตเตอรี่ในหลักสูตรการศึกษา เพื่อเตรียมบุคลากรที่มีทักษะเพียงพอสำหรับรองรับอุตสาหกรรมรีไซเคิลแบตเบตเตอรี่ในอนาคตเนื่องจากกระบวนการรีไซเคิลแบตเตอรี่มีความชับซ้อน โดยเฉพาะการสกัดแร่หายากจากแบตเตอรี่
3.การมีระบบติดตามแบตเตอรี่ที่เชื่อมโยงทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการและรีไซเคิลแบตเตอรี่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์และกำหนดนโยบายเพื่อพัฒนาปรับปรุง การประสานงาน การรับรู้และแลกเปลี่ยนข้อมูลที่รวดเร็วขึ้น