'ดนุชา' เผยคืบหน้าไทยเข้า 'OECD' ดันแผนยกระดับกฎหมาย - นโยบายเศรษฐกิจ
สศช. เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการ OECD เดินหน้าขับเคลื่อนการเข้าเป็นสมาชิกอย่างต่อเนื่อง จัดทำ Initial Memorandum (IM) ซึ่งหน่วยงานไทยจะต้องประเมินความพร้อมด้านกฎหมาย นโยบาย และแนวปฏิบัติภายในประเทศ รวมถึงความสอดคล้องกับมาตรฐานของ OECD ชวน OECD ตั้งสำนักงานในไทย
เมื่อวันที่ 20-22 พฤศจิกายน 2567 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการ External Relations Committee (ERC) คณะกรรมการ Economic Policy Committee (EPC) และหารือกับ Directorate for Legal Affairs เกี่ยวกับกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD โดยมีนายศรัณย์ เจริญสุวรรณ เอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และคณะเจ้าหน้าที่เข้าร่วม ณ สำนักงานใหญ่ OECD กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส
การประชุมคณะกรรมการ ERC เลขาธิการ สศช. ได้กล่าวรายงานความก้าวหน้าการดำเนินโครงการ OECD-Thailand Country Programme (CP) ระยะที่ 2 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ไทยเข้าถึงองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีของ OECD อย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วยโครงการย่อย 20 โครงการ ภายใต้ 4 สาขาความร่วมมือ โดยมี สศช. เป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแล ประสานงาน และติดตามผลการดำเนินงาน ปัจจุบันมีโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จ 4 โครงการ ได้แก่
(1) Maintaining a Sound Economic Policy through the Second Economy Survey
(2) Deepening Collaboration to Promote Responsible Business Conduct
(3) Enabling Clean Energy Financing and Investment
และ (4) Reinforcing Anti-corruption Framework
สำหรับโครงการอื่น ๆ มีแผนที่จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2568 อนึ่ง การดำเนินโครงการ CP ระยะที่ 2 นอกจากจะช่วยยกระดับมาตรฐานของไทยให้ทัดเทียมกับ OECD ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับสากลแล้ว ยังช่วยสนับสนุนกระบวนการเข้าเป็นสมาชิกของไทยอีกด้วย เนื่องจากผลลัพธ์ของโครงการคือข้อเสนอแนะในการปรับปรุงกฎหมาย นโยบาย และแนวปฏิบัติต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับ OECD ซึ่งหน่วยงานไทยสามารถนำไปปรับใช้กับแนวปฏิบัติภายในประเทศได้ และยังช่วยให้มีประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับ OECD อีกด้วย
ในโอกาสนี้ เลขาธิการ สศช. ได้กล่าวถึงความก้าวหน้าการดำเนินการเพื่อเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทย โดยปัจจุบันนายกรัฐมนตรีได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับการดำเนินงานในการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของประเทศไทยแล้ว เพื่อให้ทุกหน่วยงานสามารถขับเคลื่อนการเข้าเป็นสมาชิกอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
โดยขั้นตอนถัดไปคือการจัดทำ Initial Memorandum (IM) ซึ่งหน่วยงานไทยจะต้องประเมินความพร้อมด้านกฎหมาย นโยบาย และแนวปฏิบัติภายในประเทศ รวมถึงความสอดคล้องกับมาตรฐานของ OECD
นอกจากนี้ เลขาธิการ สศช. ยังได้เน้นย้ำประเด็นที่ไทยเคยเสนอให้ OECD พิจารณาจัดตั้งสำนักงานภูมิภาค (Regional Office) ของ OECD ณ กรุงเทพฯ ซึ่งไทยยินดีและมีความพร้อมในทุกด้าน อันจะช่วยส่งเสริมและยกระดับความร่วมมือระหว่างไทยกับ OECD ให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น
ในห้วงการประชุมคณะกรรมการ ERC มีประเทศสมาชิก OECD ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ อิตาลี นิวซีแลนด์ แคนาดา ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส ออสเตรีย คอสตาริกา และญี่ปุ่น กล่าวชื่นชมการดำเนินโครงการ CP ระยะที่ 2 ซึ่งช่วยส่งเสริมวาระการปฏิรูปประเทศของไทย พร้อมกล่าวยินดีและสนับสนุนกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทย ทั้งการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิค (technical assistance) การจัด capacity-building เพื่อพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ไทย การสนับสนุนงบประมาณให้กับเจ้าหน้าที่ไปปฏิบัติงานชั่วคราว (staff on loan) ซึ่งเลขาธิการ สศช. กล่าวขอบคุณและเน้นย้ำว่าไทยยินดีและพร้อมได้รับการสนับสนุนจากประเทศสมาชิก OECD ทุกด้าน โดยเฉพาะประเด็นที่เป็นความท้าทายต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทย เช่น การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs การให้การสนับสนุนทางการเงินและการเปิดตลาดคาร์บอน การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (decarbonisation) การปรับปรุงขั้นตอนกระบวนการทางกฎหมาย และการทำให้ระบบการบริหารราชการง่ายขึ้น เป็นต้น
การประชุมคณะกรรมการ EPC เลขาธิการ สศช. ได้รับเชิญเข้าร่วมในฐานะผู้แทนประเทศไทย โดยเป็นการประชุมหารือระหว่างผู้บริหารระดับสูงด้านเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก OECD และประเทศที่อยู่ระหว่างกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก (Accession Candidate Country) เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลก รวมทั้งข้อเสนอแนวทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาค นอกจากนี้ ยังมีการแลกเปลี่ยนประเด็นด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ อาทิ ภาพรวมของตลาดแรงงานโดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนแรงงานในสาขาที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง สถานการณ์การชะลอตัวของตลาดที่อยู่อาศัย และการยกระดับผลิตภาพการผลิตท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วและการเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เป็นต้น ซึ่งทางฝ่ายเลขานุการของ EPC จะรวบรวมข้อคิดเห็นที่ได้แลกเปลี่ยนในที่ประชุมเพื่อใช้ประกอบการจัดทำรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (Global Economic Outlook) ของ OECD ที่มีกำหนดการเผยแพร่ในวันที่ 4 ธันวาคม 2567 ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้หารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับบทบาทของ OECD ต่อการกำหนดแนวทางในการสร้างรากฐานการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว เพื่อประกอบการจัดทำรายงานข้อเสนอนโยบายเชิงโครงสร้างในระยะต่อไป
การหารือเกี่ยวกับกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD โดยมีเลขาธิการ สคก. เลขาธิการ สศช. ออท. ณ กรุงปารีส และคณะเจ้าหน้าที่ไทย เข้าร่วมหารือกับ Ms. Gita Kothari, Deputy Director, Directorate for Legal Affairs และคณะเจ้าหน้าที่ OECD โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือแนวทางในการจัดทำ IM ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องประเมินความสอดคล้องของกฎหมาย นโยบาย และแนวปฏิบัติของไทยกับตราสารทางกฎหมายของ OECD รวมถึงแนวปฏิบัติที่ดีของ OECD ซึ่งผู้แทน OECD เน้นย้ำว่าไทยควรประสานงานคู่ขนานกับ OECD อย่างใกล้ชิดตั้งแต่เริ่มกระบวนการจัดทำ IM เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว ทั้งนี้ ไทยคาดว่าจะสามารถยื่น IM ให้กับ OECD ได้ภายในปี 2568 และ สศช. ในฐานะหน่วยงานประสานหลักในการขับเคลื่อนการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทย จะเร่งส่งเสริมความตระหนักรู้และทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก OECD อย่างต่อเนื่องต่อไป