'มาริษ'ย้ำรัฐบาลแพทองธาร หวังเข้า OECD ช่วยจีดีพีโต 1.6% ยันร่วมสมาชิก BRICS

'มาริษ'ย้ำรัฐบาลแพทองธาร หวังเข้า OECD ช่วยจีดีพีโต 1.6% ยันร่วมสมาชิก BRICS

‘มาริษ‘ ย้ำรัฐบาล ‘แพทองธาร‘ มุ่งเข้า OECD เป็นสะพานเชื่อมประเทศกำลังพัฒนา เผย TDRI คาดจีดีพีโตเพิ่ม 1.6% ปฏิรูปประเทศเทียบมาตรฐานสากล ยืนยันหวังเข้า BRICS เร็วที่สุด

ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา หลังกิจกรรมการเปิดตัวกระบวนการหารือเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development : OECD) ของไทย ร่วมกับนายมาทีอัส คอร์มันน์ (H.E. Mr. Mathias Cormann) เลขาธิการ OECD เมื่อวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา

โดยนายมาริษ กล่าวว่า เลขาธิการ OECD ได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เพื่อเริ่มกระบวนการเข้าเป็นสมาชิกของไทย ได้หารือกับนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รองประธานสภาผู้แทนราษฎร มูลนิธิคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) และหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อรับฟังความเห็น และสร้างความตระหนักรู้ในการเข้าเป็นสมาชิกของไทย ตลอดจนรับทราบความพร้อมและข้อจำกัดของไทยต่อการเข้าร่วมกระบวนการเป็นสมาชิกด้วย

“ทุกภาคส่วนทั้งนายกฯ แพทองธาร และผมย้ำเจตนารมณ์ที่สำคัญว่า เราต้องการเป็นสมาชิกของ OECD และย้ำผลประโยชน์ที่ไทยจะได้รับ และสิ่งที่ OECD จะได้รับจากไทยเช่นกัน” 

นายมาริษ กล่าวต่อว่า ผลประโยชน์ที่ไทยและ OECD จะได้รับคือ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) คำนวณว่า การที่ไทยเข้าเป็นสมาชิก OECD จะทำให้ GDP เติบโตถึง 1.6% เพราะสามารถเพิ่มการแข่งขันของภาคธุรกิจ ก้าวข้ามกับดักการพัฒนาเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง และยกระดับชีวิตของประชาชน เพราะไทยต้องปฏิรูปทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยอาศัยมาตรฐานตัวชี้วัดการปฏิรูปประเทศนี้ ทั้งนี้ การเข้าเป็นสมาชิก OECD ต้องมีการรับรองตราสารกฎหมายบางประการ ทำให้ประเทศไทยมีความชัดเจน โปร่งใส และมีมาตรฐานมากขึ้น ยกระดับคุณภาพทั้งหมดและกฎระเบียบให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

นายมาริษ กล่าวต่อว่า OECD เห็นความสำคัญของไทย จึงต้องการให้ไทยเข้าเป็นสมาชิก OECD ในอดีต OECD มักถูกพูดถึงว่าเป็นกลุ่มของคนรวย (Rich Man Club) โดยประเทศพัฒนาแล้ว แต่พบว่าเมื่อเวลาผ่านไป ก็ต้องการขยายกรอบความร่วมมือให้ครอบคลุมถึงประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทยและประเทศอื่น ประเทศไทยเองต้องการมีบทบาทขับเคลื่อนประเทศกำลังพัฒนามีสิทธิมีเสียงกำหนดทิศทางของโลก และให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถกำหนดระเบียบโลกได้มากขึ้น 

“สิ่งที่หลายคนเคยมองว่า OECD คือกลุ่มของคนรวย ตอนนี้ไม่ใช่ กลายเป็น OECD ต้องการขยายขอบเขตการพัฒนามาตรฐานให้ครอบคลุมมากขึ้น ไทยสามารถพูดให้เขาเห็นและนำคุณค่าสำคัญอย่างมาตรฐานการปฏิบัติที่ดีที่สุด (Best Practices) ไปส่งเสริมให้ประเทศกำลังพัฒนาเห็นความสำคัญเข้าร่วมมาตรฐานสากลมากขึ้น และประเทศกำลังพัฒนาก็มีคุณค่าและวัฒนธรรม เราจึงจะให้ OECD ต้องฟังในกลุ่มประเทศพัฒนาเช่นกัน เราเป็น Bridge Builder เชื่อมต่อไปยังกรอบความร่วมมืออีกหลายกรอบ เช่น ASEAN BIMSTEC APEC และ ACD ซึ่งตอบสนองนโยบายรัฐบาล”

ทั้งนี้ นายมาริษ ยังระบุกรณีเงื่อนไขภายในประเทศต่อการเข้าเป็นสมาชิกของไทยว่า ไม่มีความยากลำบาก เพราะต่อให้ไม่มี OECD ไทยก็มุ่งไปสู่ความเป็นมืออาชีพอยู่แล้ว และเราต้องพัฒนาและปฏิรูปประเทศให้อยู่ดีกินดีมากขึ้น

ส่วนประเด็นระยะเวลาที่ต้องใช้ในการเข้าร่วมกลุ่ม ตามเป้าหมาย 5 ปีของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตินั้น นายมาริษ ตอบว่า กระทรวงการต่างประเทศดูในเรื่องนโยบาย การวางแผนว่าจะกี่ปี ขึ้นอยู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ได้กำชับให้กระทรวงร่วมมือ ผลักดันเป้าหมาย ภายในระยะเวลาที่หน่วยราชการกำหนด กระทรวงการต่างประเทศช่วยเขาผลักดันและเติมเต็มส่วนที่ขาด เพื่อให้เกิดโดยเร็วที่สุด ซึ่งจะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับหน่วยราชการ รวมถึงภาคประชาชน

นอกจากนี้ นายมาริษ ชี้แจงถึงการสมัครเข้าร่วมกลุ่ม BRICS พร้อมกับกระบวนการเข้าร่วม OECD ว่า ทำได้เลย ชี้แจงหลายครั้งแล้วว่า การเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มประเทศต่าง ๆ นั้น ไม่ใช่แค่ BRICS หรือ OECD เป้าหมายสำคัญของรัฐบาลที่นำโดยนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร เรามองความร่วมมือเพื่อการพัฒนา ไม่ได้เป็นการรวมกลุ่มทางการเมือง 

“คุณจะมีความขัดแย้งใด ๆ ก็เป็นเรื่องของคุณ แต่ไทยมองกรอบต่าง ๆ เป็นเวทีเพื่อส่งเสริมประเทศสมาชิกได้มีโอกาสมานั่งถกเถียงกัน เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ไม่นำไปสู่การแบ่งแยกกลุ่มการเมือง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าว

ขณะเดียวกัน นายมาริษ ชี้แจงถึงความคืบหน้าการเข้าร่วมกลุ่ม BRICS ว่า ยังไม่ได้รับแจ้งอย่างเป็นทางการ BRICS มีขั้นตอนเกี่ยวกับการเป็นหุ้นส่วนต่อไป แต่เท่าที่ทราบกันนั้นเป็นข่าวจากสำนักข่าว จึงยังไม่มีการแจ้งอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม ไทยต้องการเป็นสมาชิกแน่นอน เร็วที่สุด ขึ้นอยู่กับขั้นตอน ซึ่งต้องเคารพขั้นตอนที่เขามีอยู่ ไม่ว่าเป็นหุ้นส่วนหรือสมาชิก