ประชุมเจ้าหนี้ ‘การบินไทย’ ส่อวุ่น ลุ้นตีความ ‘คลัง’ พ้นเจ้าหนี้การบินไทย

ประชุมเจ้าหนี้ ‘การบินไทย’ ส่อวุ่น ลุ้นตีความ ‘คลัง’ พ้นเจ้าหนี้การบินไทย

จับตาประชุมเจ้าหนี้ “การบินไทย” ส่อวุ่น ลุ้นตีความ “คลัง” พ้นสถานะเจ้าหนี้ หลังแปลงหนี้เป็นทุน 100% อาจหมดสิทธิ์โหวตแก้ไขแผนฟื้นฟู ตั้งตัวแทนคลัง-คมนาคมนั่งผู้บริหารแผน ขณะที่คณะกรรมการเจ้าหนี้มั่นใจโหวตผ่าน วาระลดพาร์-จ่ายเงินปันผล

KEY

POINTS

Key points 

  • การประชุมเจ้าหนี้บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อพิจารณาวาระเพิ่มผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการถูกเลื่อนเพราะแรงคัดค้านของเจ้าหนี้หุ้นกู้กลุ่มสหกรณ์
  • กระทรวงการคลังเสนอชื่อผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการเพิ่ม 2 คน จากปัจจุบันมีผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ 3 คน จะทำให้คุมเสียงส่วนใหญ่ในคณะผู้บริหารแผน
  • การประชุมเจ้าหนี้จะมีการเสนอให้ตีความว่ากระทรวงการคลังอยู่ในสถานะเจ้าหนี้อยู่หรือไม่ เมื่อใช้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุนครบ 100%

การประชุมเจ้าหนี้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในวันที่ 29 พ.ย.2567 จะมีการพิจารณาโหวตเพื่อแก้ไขแผนฟื้นฟูกินการ 3 ประเด็น ประกอบด้วย 

1.วาระขอลดมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (Par Value) เพื่อล้างผลขาดทุนสะสมหลักทรัพย์ที่มีประมาณ 60,000 ล้านบาท

2.วาระขอพิจารณาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟู โดยการบินไทยจะเสนอชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ก่อนกำหนด เป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่าจำนวนเงินปันผลที่จะมีการเสนอจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นในครั้งนั้นๆ

3.วาระขอพิจารณาเพิ่มผู้บริหารแผนฟื้นฟู 2 ราย ประกอบด้วย นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบาย และแผนการขนส่ง และจราจร กระทรวงคมนาคม และนายพลจักร นิ่มวัฒนา รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการเจ้าหนี้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การประชุมในส่วนของ 2 วาระแรก ประเด็นขอลดมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ และขอพิจารณาชำระหนี้ ซึ่งมีผลต่อการจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นนั้น เชื่อว่าเจ้าหนี้ส่วนใหญ่จะโหวตผ่าน เนื่องจากเป็นประเด็นที่เกิดประโยชน์ต่อเจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นในอนาคต 

ส่วนการพิจารณาในวาระ 3 เรื่องการพิจารณาเพิ่มผู้บริหารแผนจะต้องอยู่ที่การพิจารณาของเจ้าหนี้แต่ละกลุ่ม

อย่างไรก็ดี ในช่วง 19-21 พ.ย.ที่ผ่านมา ได้มีเจ้าหนี้จำนวนมากแสดงเจตนาแปลงหนี้เป็นทุน ซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อมั่นในธุรกิจของการบินไทยและทำให้เจ้าหนี้ส่วนใหญ่ต้องการแปลงหนี้เป็นผู้ถือหุ้นต่อ โดยเฉพาะในส่วนของกระทรวงการคลังทราบว่ามีการแปลงหนี้ตามสิทธิ 100% ส่งผลให้ปัจจุบันกระทรวงการคลังไม่ถือเป็นเจ้าหนี้การบินไทย แต่กลับมาเป็นผู้ถือหุ้นใหม่แล้ว

ทั้งนี้การโหวตแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการนั้น ทราบว่าตามหลักจะเป็นการใช้สิทธิโหวตโดยเจ้าหนี้ ดังนั้นเมื่อปัจจุบันกระทรวงการคลังไม่ถือเป็นกลุ่มเจ้าหนี้แล้วเนื่องจากใช้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุนทั้งหมด จึงเป็นเรื่องที่ต้องติตตามว่ากระทรวงการคลังจะใช้สิทธิในการโหวตแก้ไขแผนฟื้นฟู ซึ่งรวมไปถึงวาระ 3 เรื่องการเพิ่มผู้บริหารแผนที่กระทรวงการคลังเป็นผู้เสนอเข้ามาเองได้หรือไม่

คลังใช้สิทธิแปลงหนี้เต็ม100%

แหล่งข่าวจากการบินไทย กล่าวว่า ภายหลังเปิดให้เจ้าหนี้ใช้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุนแล้วเสร็จ พบว่ากระทรวงการคลังเป็นเจ้าหนี้เพียงรายเดียวที่มีการแปลงหนี้เป็นทุน 100% ส่งผลให้กระทรวงการคลังจะมีสถานะกลับมาเป็นผู้ถือหุ้นการบินไทย 

รวมทั้งการบินไทยได้ยื่นเอกสารจดทะเบียนผู้ถือหุ้นไปยังกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ตั้งแต่วันที่ 27 พ.ย.2567 เพื่อทำให้กระบวนการแปลงหนี้เป็นทุนเสร็จสิ้นสมบูรณ์

นอกจากนี้ ทราบว่าปัจจุบันกรมพัฒนาธุรกิจการค้ายังอยู่ระหว่างกระบวนการจดทะเบียนผู้ถือหุ้นดังกล่าว ทำให้สถานะการแปลงหนี้เป็นทุนของกระทรวงการคลังยังไม่สมบูรณ์ในเชิงกฎหมาย ดังนั้นในวันที่ 29 พ.ย.2567 เชื่อว่าจะมีการหยิบยกประเด็นการพิจารณาสถานะเจ้าหนี้ของกระทรวงการคลังมาหารือ เพื่อพิจารณาใช้สิทธิการเป็นเจ้าหนี้โหวตแก้ไขแผนฟื้นฟู ซึ่งรวมถึงวาระการเพิ่มผู้บริหารแผนด้วย

ตีความ “คลัง” มีสถานะเจ้าหนี้หรือไม่

“ตอนนี้เรียกได้ว่ากระทรวงการคลังไม่ได้เป็นเจ้าหนี้การบินไทยแล้ว เพราะไม่มีหนี้ต่อกันเหลืออยู่ เหลือเพียงกระบวนการจดทะเบียนผู้ถือหุ้น ซึ่งการบินไทยก็ได้ยื่นขอจดทะเบียนไปแล้วแต่กรมพัฒนาธุรกิจการค้ายังทำไม่แล้วเสร็จ หากที่ประชุมเจ้าหนี้จะหยิบเรื่องนี้มาถกกันก็คงต้องอยู่ที่ดุลพินิจการพิจารณาของเจ้าหนี้ทั้งหมด หรือท้ายที่สุดก็ต้องขึ้นอยู่กับศาลในการพิจารณาตีความการเป็นเจ้าหนี้” แหล่งข่าว กล่าว

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2567 การบินไทย ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนชำระแล้วของบริษัท อันเกิดจากการแปลงหนี้เป็นทุนของแผนฟื้นฟูกิจการตามที่ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินการดังกล่าว โดยเมื่อศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งอนุญาตให้บริษัทดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนชำระแล้ว ของบริษัทอันเกิดจากการแปลงหนี้เป็นทุนของแผนฟื้นฟูกิจการแล้วนั้น ย่อมเป็นกรณีถือเป็นอำนาจและหน้าที่ของนายทะเบียนบริษัทมหาชนจำกัดในการดำเนินการตามคำสั่งศาล  

ปรากฏว่า ขณะนี้ สำนักงานบริการหนี้สาธารณะ(สบน.) กระทรวงการคลังได้มีหนังสือถึงกรมพัฒนาธุรกิจการค้าขอให้ชะลอการจดทะเบียนจนหลังวันที่ 29 พ.ย. 2567 การจดทะเบียนล่าช้าได้ส่งผลกระทบทางการเงินต่อบริษัทการบินไทย  คือ ค่าดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายให้แก่เจ้าหนี้ วันละ 2 ล้านบาท ซึ่งการบินไทยคงต้องดำเนินการตามกฏหมายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งคดีอาญาและคดีแพ่งต่อไป

ขณะที่นายพรชัย ฐีระเวช ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย ในฐานะผู้แทนจากกระทรวงการคลัง กล่าวเมื่อวันที่ 27 พ.ย.2567 ว่า การเพิ่มผู้บริหารแผน 2 คน อยู่ที่ฉันทานุมัติของเจ้าหนี้ในการพิจารณา แต่ยืนยันว่าการเสนอเพิ่มผู้บริหารแผนนั้น ภาครัฐมีเป้าหมายเพื่อมีส่วนร่วมในการพิจารณาแนวทาง และนโยบายของรัฐบาล ผลักดันการบินไทยให้มีส่วนร่วมในการยกระดับไทยเป็น Aviation Hub

สำหรับโครงสร้างการถือหุ้นหลังการแปลงหนี้เป็นทุน และการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน โดยการบินไทยได้สรุปโครงสร้างการถือหุ้นก่อนการปรับโครงสร้างทุนข้อมูล ณ 31 ต.ค.2567 พบว่า กระทรวงการคลัง ถือหุ้น 47.9% ,รัฐวิสาหกิจ 2.1% ,กองทุนวายุภักษ์ 7.6% ,ผู้ถือหุ้นอื่นๆ (เดิม) 42.4%

ส่วนโครงสร้างการถือหุ้นหลังการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนเบื้องต้น พบว่ากระทรวงการคลัง ถือหุ้น 33.4% ,รัฐวิสาหกิจ 4.1% ,กองทุนวายุภักษ์ 2.8% ,ผู้ถือหุ้นอื่นๆ (เดิม) 2.8% ,เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ 44.3% และผู้ถือหุ้นเดิมก่อนปรับโครงสร้างเงินทุน พนักงานและบุคคลในวงจำกัด ที่จองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้ 12.6%