การขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างยั่งยืน

การขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างยั่งยืน

ปีนี้ เราได้ข่าวดีๆ เกี่ยวกับการลงทุนใน Data Center ของบริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศไทยอยู่เป็นระยะ และจากวิสัยทัศน์ที่ท่านนายกรัฐมนตรีแถลงต่อที่ประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค

 ชูประเด็นผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัล e-commerce และ AI ซึ่งผู้เขียนเองก็เห็นว่าเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นโอกาสของประเทศไทย บทความนี้ จึงจะขอชวนไปสำรวจรายงาน 2 ฉบับ เกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัลที่เพิ่งได้รับการเผยแพร่เมื่อเร็วนี้

รายงาน e-Conomy SEA 2024 ที่จัดทำโดย Google, Temasek และ Bain & Company ชี้ว่าเศรษฐกิจดิจิทัลของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมี 6 สาขาที่เป็นแรงขับเคลื่อน คือ e-commerce บริการส่งอาหารออนไลน์ การคมนาคมขนส่ง การท่องเที่ยวออนไลน์ สื่อดิจิทัล และบริการทางการเงินดิจิทัล โดยคาดว่าในปี 2567 มูลค่ารวมของสินค้าดิจิทัลของประเทศไทย จะเพิ่มขึ้นถึง 4.6 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.61 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566 กว่า 19% ซึ่งมีปัจจัยสำคัญมาจากการขยายตัวของ e-commerce และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว

รายงานฉบับนี้ มีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับ e-commerce มาจากฐานลูกค้าเดิมเป็นหลัก และพฤติกรรมของลูกค้าสั่งสินค้าที่ถี่แต่ไม่มากในแต่ละคราว ภาคการท่องเที่ยว มีแนวโน้มจะท่องเที่ยวแบบ luxury มากขึ้น สำหรับบริการทางการเงิน AI ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากต่อสินเชื่อดิจิทัล โดยสรุปแล้ว รายงานฉบับนี้นำเสนอข้อคิดเห็นว่าเพื่อให้เกิดการเติบโตขึ้นอย่างทั่วถึง ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ควรมุ่งเน้นเรื่องดังต่อไปนี้ ได้แก่ 1) ตอบสนองให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว 2) เพิ่มความแข็งแกร่งด้านความปลอดภัยทางดิจิทัล (digital safety and security) และ 3) ลงทุนใน AI เพื่อเพิ่มศักยภาพของธุรกิจ

เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในกระบวนการสมัครเข้าเป็นสมากชิก OECD จึงขอกล่าวถึงรายงานอีกฉบับหนึ่ง ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือ OECD Digital Economy Outlook 2024 ระบุว่า ในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ นโยบายและยุทธศาสตร์ด้านดิจิทัลของประเทศประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับ รัฐบาลดิจิทัล การเชื่อมโยงดิจิทัล (connectivity) และทักษะด้านดิจิทัล โดยนำเสนอแผนภาพใยแมงมุมของทั้ง 38 ประเทศไว้น่าสนใจมาก กล่าวโดยสรุปได้ว่า นโยบายด้านดิจิทัลของประเทศส่วนใหญ่ มุ่งเน้นที่จะเพิ่มการใช้งานดิจิทัลเทคโนโลยี ส่งเสริมการพัฒนาด้านสังคม และเพิ่มความสามารถด้านนวัตกรรมของประเทศ และนโยบายที่เกี่ยวกับ ‘ข้อมูล’ เป็นนโยบายสำคัญที่ดำเนินควบคู่ไปกับนโยบายด้านดิจิทัลสำหรับทุกประเทศ

รายงานฯ ของ OECD ยังกล่าวถึงความสำคัญของทักษะต่างๆ ในยุคของเศรษฐกิจดิจิทัล โดยแบ่งเป็น ทักษะพื้นฐาน ทักษะด้านเทคโนโลยีข้อมูลสารสนเทศ (ICT) และทักษะเสริมที่จำเป็น โดยทักษะพื้นฐานประกอบด้วย วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการอ่าน ทักษะด้าน ICT แบ่งเป็น ขั้นพื้นฐาน ได้แก่ การใช้ office software การค้นหาข้อมูล และการใช้ social media และขั้นผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ AI และการเขียนโปรแกรม สำหรับทักษะเสริมที่จำเป็นประกอบด้วย การคิดวิเคราะห์ ความเข้าใจผู้อื่น (empathy) และการทำงานเป็นทีม รายงานฯ กล่าวถึงประเด็นที่น่ากังวล จากผลสอบ PISA ผู้เรียนที่ทำคะแนนได้สูงทั้ง 3 ทักษะพื้นฐานได้คะแนนลดลงในทุกประเทศ นอกจากนี้ยังพบว่าร้อยละ 25 ของประชากรผู้ใหญ่ (adult) ของประเทศสมาชิก OECD ยังขาดทักษะ ICT ขั้นพื้นฐาน ทั้งนี้ รายงานฯ สรุปว่า ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมด้านทักษะสำหรับอนาคต ในระดับปัจเจกบุคคลจะต้องเข้าใจว่าตนเองขาดทักษะใดและต้องเรียนรู้เติมเต็มส่วนที่ขาดนั้น ในระดับธุรกิจ ต้อง up-skill และ re-skill พนักงานอย่างต่อเนื่อง และระดับรัฐบาลต้องออกแบบนโยบายที่เหมาะสมต่อการเตรียมความพร้อมทักษะของทั้งประชาชนและภาคธุรกิจ เมื่ออ่านดูนโยบายการส่งเสริมต่างๆ เกี่ยวกับทักษะเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัล ที่ประเทศ OECD ใช้ ก็พบว่าประเทศไทยก็มีนโยบายคล้าย ๆ กันอยู่บ้าง เช่น วีซ่าพิเศษสำหรับผู้มีทักษะสูง การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการอบรมเพิ่มทักษะ การให้ภาคธุรกิจมีส่วนร่วมในการพัฒนาทักษะ เป็นต้น ซึ่งผลสัมฤทธิ์ของมาตรการเหล่านี้มีมากน้อยเพียงใดยังไม่ประจักษ์ชัดนัก แต่นโยบายที่ผู้เขียนเห็นว่าประเทศไทยยังต้องปรับปรุงเพิ่มเติมเร่งด่วน คือนโยบายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับภาคการศึกษา

รายงานฯ ของ OECD มีประเด็นน่าสนใจอีกมากมาย แต่สำหรับบทความนี้จะขอกล่าวถึงอีกหนึ่งเรื่อง คือ รายงานฯ พบว่า Data Center ทั่วโลก มีการใช้พลังงานรวมกันมากกว่าการใช้พลังงานทั้งประเทศของประเทศ OECD บางประเทศเสียอีก ถึงแม้การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจะมีส่วนช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมได้ แต่การทำงานของเทคโนโลยีดิจิทัลเองก็มี carbon footprint อยู่ระดับหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีประเด็นของขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องคำนึงถึงด้วย ดังนั้น สิ่งที่สำคัญคือต้องมีการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และเศรษฐกิจสีเขียวควบคู่กันไป

สำหรับประเทศไทยนั้น เศรษฐกิจดิจิทัลเป็นนโยบายสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ แต่ต้องไม่ลืมว่ามีปัจจัยและนโยบายด้านอื่นๆ ที่มีผลกระทบเชื่อมโยงกันอยู่ จึงจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญต่อการผลักดันนโยบายเหล่านั้นควบคู่กันไป เพื่อให้เกิดการเติบโตของเศรษฐกิจและความยั่งยืนไปพร้อมกัน