สรท.ชี้ ส่งออกไทยปี 68 เจอความผันผวนสูง  คาดขยายตัวได้ 1-3 %   

สรท.ชี้ ส่งออกไทยปี 68 เจอความผันผวนสูง  คาดขยายตัวได้ 1-3 %   

สรท.คาดส่งออกปี 68 ขยายตัว 1-3 %   ท่ามกลางความผันผวนสูง จากปัญหาสงครามการค้า ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ขอรัฐเพิ่มงบประมาณในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ  ขณะที่การส่งออกปี 67 ขยายตัวได้  3.5-4  %

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย  (สรท.)เปิดเผยว่า สรท.คาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2568 จะขยายตัวในกรอบ 1-3 %   มูลค่า 300,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งการส่งออกในปีหน้าก็ยังมีความท้าทายสูงจากความเสี่ยงที่มีความผันผวนสูงมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และไม่สามารถคาดการณได้  ทำให้สรท.วางเป้าหมายในการส่งออกในปีหน้าในวงกว้าง

โดยมีปัจจัยเสี่ยงจาก ประกอบด้วย 1. ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะ นโยบายกีดกันทางการค้าและนโยบายอื่นของสหรัฐอเมริกากับประเทศคู่ค้าที่เกินดุลการค้า  สถานการณ์สงครามในตะวันออกกลาง และ รัสเซีย-ยูเครน ยังคงยืดเยื้อ

2. Manufacturing PMI ยังคงชะลอตัวในตลาดสำคัญ แม้จะมีอุปสงค์ระยะสั้นในการนำเข้าในช่วงเทศกาลสำคัญ และวัฎจักรขาขึ้นของกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์

3. ค่าเงินบาทยังคงมีความผันผวน จากความไม่แน่นอนของทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ จากปัจจัยเงินเฟ้อและนโยบายการค้าของประธานาธิบดีสหรัฐฯ

4.สถานการณ์ค่าระวางขนส่งสินค้าทางทะเลปรับลดลงในเส้นทางสำคัญ แต่ยังมีความผันผวนจาก ทั้งการปรับขึ้นค่าใช้จ่าย อาทิ ค่า GRI (General Rate Increase) การเจรจาปรับขึ้นค่าแรงในฝั่งตะวันออกของสหรัฐที่ยังไม่ยุติ

5. มาตรการทางการค้าที่เฝ้าระวัง อาทิ การกลับมาส่งออกข้าวของอินเดีย กระทบต่อผู้ส่งออกข้าวไทย  สหภาพยุโรปเลื่อนการบังคับใช้ EUDR ออกไปเป็นปี 2569 กระทบราคาส่งมอบต่อผู้ส่งออกยางพารา

สรท.ชี้ ส่งออกไทยปี 68 เจอความผันผวนสูง  คาดขยายตัวได้ 1-3 %   

ขณะที่ปัจจัยบวกมาจากตลาดหลักมีอุปสงค์ระยะสั้นจากการเร่งนำเข้าช่วงฤดูกาลปลายปี และการเร่งสต็อกสินค้าไว้ก่อนที่สหรัฐจะมีการขึ้นภาษีอย่างเป็นทางการในปีหน้า ประกอบกับวัฏจักรการส่งออกกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขั้นกลายของไทย (กลุ่ม PCB ) มีแนวโน้มต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามสรท.มีข้อเสนอแนะที่สำคัญคือ เร่งลดต้นทุนการธุรกิจให้กับผู้ส่งออก อาทิ เร่งลดต้นทุนการทำธุรกิจให้กับผู้ส่งออก  ต้นทุนการประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และ ต้นทุนการประกันความเสี่ยงการชำระเงินค่าสินค้า

เพิ่มงบประมาณและจำนวนความถี่ในการจัดส่งเสริมกิจกรรมการค้าทั้งในกลุ่มประเทศคู่ค้าหลักและตลาดลำดับรอง  เช่น การแสดงสินค้า การจับคู่เจรจาธุรกิจ และ เร่งรัดการเจรจาการค้าเสรีในกรอบที่มีอยู่เดิม และเพิ่มการเจรจาในตลาดศักยภาพใหม่

การส่งออกปี 68  เป็นกระแสน้ำนิ่งที่ต้องต้องเฝ้าระวังสูง จับตาเกิดคลื่นใหญ่ ทั้งแรงและเร็ว จากการมีสารตัวเร่งทำปฏิกิริยา โดยเฉพาะสงครามการค้ารอบ 2  ปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งอาจทำให้เป้าเติบโตได้ 3 % สะดุดได้แต่หากไม่มีการขยายความรุนแรงก็เชื่อว่า ส่งออกเราจะขับเคลื่อนได้ต่อเนื่อง โดยสินค้าที่ยังเป็นดาวรุ่งคือสินค้าอาหาร สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมรวมถึงยางพารา สินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์”นายชัยชาญ  กล่าว

 

ในส่วนของสงครามการค้ารอบ 2  หลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ รับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งออกไทยปี 68  สรท.มองว่า ไทยต้องวางตัวเป็นกลาง อยู่เหนือความขัดแย้ง ซึ่งที่ผ่านมา ไทยวางตัวได้ดีในสงครามการค้ารอบแรก และสามารถใช้ประโยชน์จากสงครามการค้าได้ดี  นอกจากนี้ไทยจะต้องเร่งหาตลาดใหม่ ไม่ว่าจะตลาดตะวันออกกลาง อินเดีย แต่เราก็ยังต้องรักษาตลาดเก่าทั้งสหรัฐ จีน ยุโรป และอาเซียน รวมทั้งจะต้องเร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ว่าจะเป็นเอฟทีเอไทย-อียู ไทย-ยูเออี  เป็นต้น เพราะทุกเอฟทีเอมีประโยชน์ต่อการค้าของไทย โดยปัจจุบันไทยมีเอฟเอ 15 ฉบับ เราต้องเร่งการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอทีเรามีเพื่อผลักดันการส่งออกของไทยให้เติบโต

นายชัยชาญ กล่าวว่า สำหรับการส่งออกในปี 2567 ถือว่า จบแล้ว แม้เหลือเวลาอีก 2 เดือน  โดยคาดว่าทั้งปีจะขยายตัวได้  3.5-4  % มูลค่าประมาณ 297,000  ล้านดอลลาร์ เกินกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 1-2 %

โดย 10 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ต.ค.) สามารถทำได้ดี ส่งผลให้เฉลี่ย 10 เดือนแรกการส่งออกขยายตัวแล้ว 4.9% ที่เหลือเดือน พ.ย. และธ.ค.หากส่งออกเฉลี่ย 22,000 ล้านดอลลาร์ส่งออกทั้งปีจะขยายตัวได้ 3 %  แต่หากได้เฉลี่ยเดือนละ   23,200 ล้านดอลลาร์ ส่งออกทั้งปีจะขยายตัวได้ 4 %