'สุริยะ' ประกาศดันนโยบาย 'คมนาคมสีเขียว' เร่งเปลี่ยนอีวีบัส 5,000 คัน

'สุริยะ' ประกาศดันนโยบาย 'คมนาคมสีเขียว' เร่งเปลี่ยนอีวีบัส 5,000 คัน

“สุริยะ” ประกาศนโยบายหนุนคมนาคมสีเขียว ดันลงทุนโครงการ และระบบขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เร่งเปลี่ยนอีวีบัสกว่า 5,000 คัน พร้อมเปลี่ยนผ่านการเดินทางด้วยระบบรางครอบคลุมกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมือง

“กรุงเทพธุรกิจ” จัดงาน Sustainability Forum 2025: Synergizing for Driving Business ระหว่างวันที่ 3 - 4 ธ.ค.2567 โดยในวันที่ 4 ธ.ค.2567 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดงานพร้อมกล่าวปาฐกถาในประเด็น “Mobility Infrastructure for Sustainability 's Journey” โดยระบุว่า รัฐบาลจะเดินหน้าโครงการลงทุนทุกระบบให้มีประสิทธิภาพ เพื่อเชื่อมการเดินทางแบบไร้รอยต่อ และลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ควบคู่ไปกับการสนับสนุนพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ดี ตนได้มอบนโยบายให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เดินหน้าพัฒนาโครงข่ายด้านคมนาคม บริการประชาชน เพื่อสร้างโอกาสประเทศไทย สนองนโยบายรัฐบาล สร้างโอกาสการเดินทางของประชาชน และการขนส่งสินค้า เชื่อมประสิทธิภาพด้านการคมนาคมให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งทางบก น้ำ ราง และอากาศ ตลอดจนเชื่อมต่อการคมนาคมกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) ในภูมิภาคอาเซียนอย่างยั่งยืน

สำหรับการขับเคลื่อนเป้าหมายดังกล่าว กระทรวงฯ กำหนดกรอบนโยบาย 9 แนวทาง ดังนี้ 1.สานต่อโครงการต่างๆ ตามแผนแม่บทของกระทรวงคมนาคม 2.ส่งเสริมโครงข่ายคมนาคมให้เชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ 3.สร้างโอกาสในการลงทุน 4.ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบขนส่งได้อย่างเท่าเทียม 5.เปิดโอกาสให้โลจิสติกส์ไทย

6.สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กรีนโลจิสติกส์เพื่อลดปัญหาฝุ่น PM 2.5  7. เพิ่มความปลอดภัยภาคคมนาคมขนส่งทั้งในช่วงก่อสร้าง และการให้บริการ โดยมุ่งเน้นการกำกับดูแลให้ได้มาตรฐาน 8.ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามระเบียบ กฎหมาย และหลักธรรมาภิบาลที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และ 9.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกมิติ

\'สุริยะ\' ประกาศดันนโยบาย \'คมนาคมสีเขียว\' เร่งเปลี่ยนอีวีบัส 5,000 คัน

“เป้าหมายกระทรวงคมนาคม เรามุ่งเน้นปรับเปลี่ยนการขนส่งจากทางถนน เป็นการขนส่งทางรางและทางน้ำ ส่งเสริมให้ประชาชนเปลี่ยนการเดินทางมาเป็นขนส่งสาธารณะ มุ่งหวังประเทศไทยจะต้องมีคมนาคมขนส่งคน และสินค้าที่มีประสิทธิภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัด มลพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ ซึ่งมีผลต่อสุขภาพของประชาชน” นายสุริยะ กล่าว

ทั้งนี้ การผลักดันภาคขนส่งให้มีประสิทธิภาพ กระทรวงฯ ได้มุ่งเน้นพัฒนาระบบขนส่งที่ตอบโจทย์การเดินทางของประชาชน เชื่อมต่อทุกการเดินทางจากบ้าน ที่ทำงาน สู่พื้นที่สำคัญต่างๆ โดยเชื่อว่าการเดินทางด้วยระบบราง รถไฟฟ้าที่ครอบคลุมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัด มลพิษทางอากาศ

รวมทั้งกระทรวงฯ จะเร่งเสริมให้เอกชน และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบขนส่งทางบก พัฒนาฟีดเดอร์ที่สนับสนุนระบบราง ด้วยการเปลี่ยนผ่านอีวีบัส รถเมล์ รถโดยสารประจำทาง และรถโดยสาร บขส. ให้ปรับเปลี่ยนจากการใช้น้ำมันเป็นยานยนต์ไฟฟ้า

ซึ่งตามแผนกระทรวงฯ จะส่งเสริมการเปลี่ยนอีวีบัสรวมกว่า 5,000 คัน ประกอบด้วย รถโดยสารประจำทางไฟฟ้าเขต กทม.และปริมณฑล ภายใต้สัมปทานของเอกชน ปัจจุบันให้บริการ 2,350 คัน จะเพิ่มเป็น 3,100 คันภายในปีหน้า รวมไปถึงการเปลี่ยนรถโดยสารไฟฟ้าของ ขสมก. ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการเปลี่ยนรถไฟฟ้า 1,520 คัน ทดแทนรถโดยสารครีมแดง (รถร้อน) และการเปลี่ยนรถโดยสารไฟฟ้าระหว่างเมืองของ บขส. ที่มีแผนเปลี่ยน 381 คัน

\'สุริยะ\' ประกาศดันนโยบาย \'คมนาคมสีเขียว\' เร่งเปลี่ยนอีวีบัส 5,000 คัน

นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า เพื่อผลักดันให้ระบบรางเป็นการคมนาคมหลักของประเทศ กระทรวงฯ มีแผนพัฒนารถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวม 14 เส้นทาง ระยะทาง 554 กิโลเมตร ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 13 โครงการ ระยะทาง 276.84 กิโลเมตร อยู่ระหว่างก่อสร้าง 5 โครงการ ระยะทาง 84.30 กิโลเมตร อยู่ระหว่างขออนุมัติ 3 โครงการ ระยะทาง 29.34 กิโลเมตร เตรียมความพร้อม 12 โครงการ ระยะทาง 162.93 กิโลเมตร

นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนารถไฟทางคู่ทั่วประเทศ โดยเปิดให้บริการแล้ว 4,044 กิโลเมตร ก่อสร้างเสร็จ 5 เส้นทาง อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 4 เส้นทาง ขออนุมัติโครงการ และจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) 6 โครงการ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติแล้วพร้อมประกวดราคา 1 โครงการ

ขณะที่การพัฒนารถไฟความเร็วสูง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง จำนวน 2 เส้นทาง ระยะทาง 473 กิโลเมตร ประกอบด้วย รถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ระยะ 1 ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร อยู่ระหว่างก่อสร้าง และรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ระยะทาง 220 กิโลเมตร อยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้าง ส่วน 1 เส้นทาง อยู่ระหว่างการขออนุมัติโครงการ คือ ไฮสปีดไทยจีนระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย

\'สุริยะ\' ประกาศดันนโยบาย \'คมนาคมสีเขียว\' เร่งเปลี่ยนอีวีบัส 5,000 คัน

ด้านการพัฒนาขนส่งทางน้ำ กระทรวงมีการพัฒนาท่าเรือโดยสารสาธารณะ จำนวน 18 ท่า ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 11 ท่า  คาดว่าจะเปิดให้บริการภายในปี 2568 จำนวน 5 ท่า และภายในปี 2570 จะเปิดให้บริการได้ 13 ท่า  รวมเป็น 29 ท่า นอกจากนี้ยังมีแผนพัฒนาท่าเรือสำราญ (Cruise Terminal) ได้แก่ ชลบุรี เกาะสมุย และภูเก็ต เพื่อเป็นท่าเรือท่องเที่ยว รวมถึงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 เพื่อเพิ่มท่าเทียบเรือ และแก้ไขปัญหาการจราจรภายในท่าเรือให้เกิดความสะดวก

ส่วนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางอากาศ ได้ผลักดันให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอยู่ใน 20 อันดับโลกภายในปี 2572 โดยในระยะเร่งด่วน จะนำเทคโนโลยีใหม่มาให้บริการและเร่งปรับปรุงอาคารสถานที่ ที่ดำเนินการได้ทันที รวมถึงการตรวจ FAA เพื่อปรับระดับมาตรฐานการบิน และการเตรียมพร้อมในการตรวจของ ICAO ตลอดจนการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานในภูมิภาค เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังมีแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศ ซึ่งจะเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจกต์) โดยเฉพาะการก่อสร้างโครงการแลนด์บริดจ์เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางทะเลในภูมิภาคอาเซียน โดยการศึกษาพบว่าจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้า  15-20% เพิ่มการจ้างงานได้ 2 แสนอัตรา และโครงการนี้คาดว่าจะทำให้ GDP ของไทยโตขึ้น 5.5%

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์