‘เอกชน’ ห่วงผลกระทบขึ้นภาษี VAT แนะเร่งขยายฐานภาษีดึงคนเข้าระบบ
“เอกชน” มองปฏิรูปภาษีต้องพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสม ห่วงขึ้นภาษี VAT กระทบการฟื้นตัวเศรษฐกิจ แนะรัฐเร่งมาตรการขยายฐานภาษีดึงคนเข้าสู่ระบบ
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวได้ไม่ดีนัก รัฐบาลจึงยังคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ไว้ที่ 7% แม้ว่าตามกฎหมายจะกำหนดไว้ที่ 10% ซึ่งยังมีช่องว่างที่รัฐบาลสามารถปรับขึ้นภาษีดังกล่าวได้
ทั้งนี้ ในมุมของภาคเอกชนมองว่าการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลยังช่องว่างของคนจำนวนมากที่ยังอยู่นอกระบบภาษี ซึ่งรัฐควรจะต้องเร่งดำเนินมาตรการเพื่อดึงคนเหล่านี้เข้ามาในระบบให้ได้ เพื่อความยุติธรรมของผู้เสียภาษี ประชาชน และผู้บริโภค
“หากทุกคนเสียภาษีให้ถูกต้อง ก็เชื่อว่าประเทศชาติจะสามารถเก็บภาษีได้อีกมาก รวมทั้งรัฐบาลจะได้มีข้อมูลสำหรับการจัดทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเยียวยาได้อย่างตรงจุด” นายสนั่น กล่าว
นายพชรพจน์ นันทรามาส ตัวแทนสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า แนวคิดการปฏิรูปภาษีของรัฐบาลมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการปรับโครงสร้างภาษีของประเทศให้เป็นไปตามภูมิทัศน์ และการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลก เพื่อให้ประเทศไทยมีโครงสร้างภาษีที่เหมาะสมกับบริบททางเศรษฐกิจ และการแข่งขันที่จะเกิดขึ้น ซึ่งหลายภาคส่วนจะต้องร่วมกันพิจารณากันต่อไป
นายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานอาวุโส สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า วันนี้หากรัฐบาลเอาจริงเอาจังในเรื่องการขยายฐานภาษีจะมีประโยชน์ในการจัดเก็บรายได้รัฐเพิ่มขึ้นมาก เพราะในวันนี้มีคนจำนวนเพียงไม่กี่ล้านคนที่เสียภาษีอย่างถูกต้อง ที่คอยอุ้มคนทั้งหมด 70 ล้านคน
ตามที่ก่อนหน้านี้นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานสัมมนา Sustainabillity Forum 2025 : Synergizing for Driving Business จัดโดย กรุงเทพธุรกิจ ว่า กระทรวงการคลัง ได้มีการศึกษาการปรับเพิ่มภาษีบริโภค หรือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ด้วยฐานภาษีไทยอยู่ระดับต่ำ ซึ่งคงไว้ที่อัตรา 7% เท่านั้น จากอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ที่ 10% ขณะที่เฉลี่ยแล้วทั่วโลกจัดเก็บที่อัตรา 15-25% โดยจีนจัดเก็บที่ 19% สิงคโปร์ 9% และหลายประเทศในยุโรปอยู่ที่ 20%
“ภาษีบริโภคเป็นภาษีที่คนทั่วไปมองว่าเซนซิทีฟ อย่างไรก็ตามหากจัดเก็บอัตราเหมาะสมจะเป็นเครื่องมือช่วยลดช่องว่างระหว่างรายได้ของคนรวย และคนจนให้เล็กลงได้”
ทั้งนี้ เนื่องจากการบริโภคเป็นไปตามฐานะของบุคคล คนรวยมากก็บริโภคมาก ส่วนคนรายได้น้อยจะบริโภคน้อย ดังนั้นหากเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำหมายความว่าทุกคนจ่ายต่ำ ยอดการจัดเก็บรายได้รัฐก็จะมีน้อย
ขณะที่หากเก็บภาษีบริโภคในอัตราที่สูงขึ้นได้ เงินกองกลางหรือรายได้รัฐก็จะใหญ่ขึ้น ซึ่งจะสามารถนำรายได้ดังกล่างจัดสรรงบประมาณ และส่งผ่านให้คนรายได้น้อย ผ่านมาตรการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสาธารณสุข ที่อยู่อาศัย การศึกษา รวมทั้งสนับสนุนการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้ธุรกิจในประเทศ ในการอุดหนุนด้านสาธารณูปโภคให้มีต้นทุนที่ต่ำลง
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์