4 ข้อเสนอ ‘TDRI’ ปรับโครงสร้างภาษี แนะทยอยขึ้น VAT ครั้งละ 1%

4 ข้อเสนอ ‘TDRI’ ปรับโครงสร้างภาษี แนะทยอยขึ้น VAT ครั้งละ 1%

เปิด 4 ข้อเสนอ “TDRI” ปรับโครงสร้างภาษี แนะทยอยขึ้น VAT ครั้งละ 1% ถึงเพดาน 10% ใน 5 ปี ชี้ภาษีเงินได้ไม่ควรเป็น flat rate ไม่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ จี้เก็บภาษีบนฐานทรัพย์สิน

จากกรณีที่นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวถึงแผนการปรับโครงสร้างภาษี เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ประกอบด้วย

1.การปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ตาม Global Minimum Tax (GMT) ที่อัตรา 15% จากปัจจุบันไทยเก็บอยู่ที่ 20%

2.ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อจูงใจการทำงานในประเทศไทย อาจมีการพิจารณาจาก 35% เหลือ 15%

และ 3.ปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หรือภาษีบริโภค ซึ่งทั่วโลกมีการเก็บอยู่ที่อัตราระหว่าง 15-25% ในขณะที่ไทยเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% จากอัตราที่กำหนดไว้ 10%

ด้าน ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อํานวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Somchai Jitsuchon ในประเด็นมาตรการภาษีดังกล่าว 4 ข้อ ได้แก่

1.การปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ควรเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยไม่ประกาศล่วงหน้า เช่น ขึ้น 1% ก่อนแล้วหาจังหวะในอนาคตขึ้นทีละ 1% แต่ไม่ประกาศล่วงหน้า เพราะอาจทำให้เกิดการคาดการณ์เงินเฟ้อ (inflation expectation) โดยมีเป้าให้เพิ่มขึ้นถึง 10% ภายใน 5 ปี

2.ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ไม่ควรเก็บเป็นอัตรา flat rate เนื่องจากจะไม่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้มีรายได้สูง-ต่ำ รวมทั้งควรพิจารณาลดการใช้มาตรการลดหย่อนภาษีที่ให้ประโยชน์กลุ่มรายได้สูง ขณะที่การคิดภาษีเงินได้จากดอกเบี้ย และปันผลอาจพิจารณาเป็น flat rate เพื่อง่ายต่อการคำนวณ

3.หากพิจารณาปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็น 15% จากปัจจุบัน 20% ควรยกเลิกสิทธิประโยชน์จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อดึงดูดการลงทุนจากทุกอุตสาหกรรมอย่างเท่าเทียม แล้วเปลี่ยนเป็นการใช้มาตรการในด้านอื่นๆ อาทิ การพัฒนาทักษะแรงงาน และการลดกฎระเบียบที่ไม่จำเป็น เพื่อลดการรับเงินใต้โต๊ะอีกด้วย

4.การพิจารณาเก็บภาษีบนฐานทรัพย์สิน เช่น Capital Gain, Windfall Tax 

นอกจากนั้น ดร.สมชัย ยังระบุด้วยว่า “ที่สำคัญคือ อย่าลืมเก็บภาษีบนฐานทรัพย์สิน ด้วยนะจ๊ะ (กินยาไรไปถึงลืมได้อ่ะ)”

“ข้อเสนอเรื่องภาษีของ รมต. คลัง ในภาพรวมนั้นจำเป็นเพราะรายได้ภาษีไทยต่ำไปมาก แต่ในรายละเอียดต้องปรับอีกเยอะ ที่สำคัญเหมือนท่านจะลืมแหล่งรายได้ภาษีที่สำคัญ และควรจัดเก็บเพิ่มขึ้นอย่างมากคือ ภาษีจากฐานทรัพย์สิน ไม่ทราบทำไมถึง 'ลืม' ได้นะครับ” ดร.สมชัย ระบุ

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์