'พาณิชย์' เผย TEMU จดทะเบียนนิติบุคคลในไทยแล้ว 'พาณิชย์' เร่งแก้ปัญหาสินค้าจีน
"พิชัย" ประชุม กก.จัดการแก้ไขปัญหาสินค้า และธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย สั่งการหน่วยงานลุยมาตรการเข้มข้นต่อ เผย TEMU จดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลในไทยแล้ว ด้าน "นภินทร" เผยสกัดสินค้าไร้มาตรฐาน เข้าสู่ประเทศลดลง 27 % ดำเนินคดีนอมินี 747 ราย มูลค่า 11,720 ล้านบาท
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้า และธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลสินค้าไร้คุณภาพที่นำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งกรมศุลกากร สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)
ให้เพิ่มความเข้มงวด และเพิ่มความเข้มข้นต่อไป หลังจากผลการทำงานที่ผ่านมา ได้ผลเป็นอย่างดี และแก้ไขปัญหาลงไปได้มาก สามารถดูแลผู้บริโภค และผู้ประกอบการ SME ได้เป็นอย่างดี
ในส่วนของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ TEMU ล่าสุดตนได้รับรายงานว่า เมื่อ 11 พ.ย.67 ที่ผ่านมาทาง TEMU ได้ดําเนินการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โดยใช้ชื่อบริษัท เวลโค เทคโนโลยี จํากัด
ส่วนการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวนั้นมี 2 ช่องทางคือ ช่องทางการส่งเสริมการลงทุนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)และตามพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ทั้งนี้ทางจีนก็ยินดีที่จะส่งเสริมการส่งออกสินค้า SME ไทยให้เข้าไปจำหน่ายในจีนทั้งออฟไลน์ และออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรูปแบบใหม่
นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามธุรกิจอำพรางของคนต่างด้าว (Nominee) และคณะอนุกรรมการส่งเสริม และยกระดับ SME ไทยและแก้ปัญหาสินค้าที่ไม่มีคุณภาพจากต่างประเทศ กล่าวว่า ผลการดำเนินงานอย่างเข้มข้น ทำให้สินค้าไร้คุณภาพเข้าสู่ประเทศลดลง โดยช่วงก่อนมีมาตรการ ม.ค. - มิ.ย.2567 มีการนำเข้าเฉลี่ยเดือนละ 3,112 ล้านบาท และตั้งแต่เดือนก.ค.- ปัจจุบัน การนำเข้าลดลงเหลือ 2,279 ล้านบาท ลดลง 27% ลดลงทุกกลุ่มสินค้า โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคที่ไม่มีมาตรฐาน
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพิ่มมาตรการในการกำกับดูแล โดยสินค้าเกษตร ให้เพิ่มการตรวจสอบสารปนเปื้อน สารเคมีตกค้าง แมลงตกค้าง จาก 500 ครั้งต่อเดือน เป็น 5,000 ครั้งต่อเดือน
และระยะกลาง เพิ่มการตรวจสอบเป็นวันละ 200 ครั้ง หรือปีละ 7.2 หมื่นครั้ง สินค้าอุปโภคบริโภค ที่จำหน่ายผ่านเว็บไซต์ ให้ อย. และ สคบ. ตรวจสอบการติดสลาก คุณภาพสินค้า จากปกติ 1,200 ครั้ง เป็น 1,600 ครั้งต่อเดือน และเพิ่มเป็น 3,000 ครั้งต่อเดือน
ส่วนที่นำเข้า ให้ตรวจเข้ม 100% ในบางสินค้า และ 20-30% ในบางสินค้า และให้ชะลอการจ่ายเงินไว้ 5 วัน เพื่อให้ผู้บริโภคได้ตรวจสอบสินค้า รวมทั้งต้องตรวจสอบการติดสลาก อย. มอก. อย่างเข้มข้น
ส่วนการดำเนินคดี กรมศุลกากรได้ดำเนินคดีแล้ว 12,145 ราย มูลค่าความเสียหาย 529 ล้านบาท สมอ. 59 คดี 33 ล้านบาท สคบ. 159 คดี 27.8 ล้านบาท กรมทรัพย์สินทางปัญญา 177 คดี 153 ล้านบาท และ อย. 30,393 รายการ ยังประเมินมูลค่าความเสียหายไม่ได้
นายนภินทร กล่าวว่า สำหรับการแก้ไขปัญหานอมินี ได้แบ่งกลุ่มตรวจสอบธุรกิจที่มีความเสี่ยง 6 กลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยว และเกี่ยวเนื่อง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และเกี่ยวเนื่อง ธุรกิจขนส่งทางบก ธุรกิจโกดัง และคลังสินค้า ธุรกิจซื้อขายที่ดินเพื่อการเกษตร และธุรกิจอื่นๆ โดยผลการตรวจสอบตั้งแต่ 1 ก.ย. - 4 ธ.ค.2567 สามารถดำเนินคดีได้ 747 ราย มูลค่า 11,720 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าของธุรกิจที่ได้เข้าไปตรวจสอบ
“ขอแจ้งเตือนไปยังผู้ที่กระทำการเป็นนอมินีให้กับคนต่างด้าว เข้ามาทำธุรกิจในไทย ขอให้หยุดการกระทำ และแจ้งข้อมูลมายังกรมพัฒนาธุรกิจการค้า สายด่วน 1570 จะกันตัวไว้เป็นพยาน แต่ถ้ายังขืนดื้อดึง และทำผิดต่อไป หากจับกุมได้ จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด ไม่มีละเว้น” นายนภินทร กล่าว
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์