อนาคตเศรษฐกิจไทย 25 ปี ข้างหน้า

อนาคตเศรษฐกิจไทย 25 ปี ข้างหน้า

สํานักวิจัยเศรษฐกิจมหภาคอาเซียนบวก 3 (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office หรือ AMRO) เดือนที่แล้ว ออกรายงานเศรษฐกิจไทยประจําปี 2024 และมีบทวิเคราะห์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยระยะยาว

โดยประเมินว่าภายใต้แนวโน้มปัจจุบันที่เศรษฐกิจขยายตัวอัตราร้อยละ 2-3 ต่อปี ไทยจะไม่สามารถเติบโตเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้ในช่วงยี่สิบห้าปีข้างหน้า แต่ถ้ามีการปฏิรูปเศรษฐกิจจริงจัง จะสามารถพัฒนาเป็นประเทศรายได้สูงได้ภายในสิบแปดปี คือปี 2042 รวมถึงเสนอมาตรการที่รัฐบาลควรทํา ซึ่งควรต้องรับฟัง นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

นับแต่วิกฤติเศรษฐกิจเอเซียปี 1997 คือเกือบ 30 ปีมาแล้ว อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยถดถอยลงตลอด อัตราการขยายตัวลดลงเป็นขั้นบันได จากเฉลี่ยร้อยละ 6 ต่อปีช่วงก่อนวิกฤติ มาเป็นเฉลี่ยร้อยละ 4 ช่วงสิบปีหลังวิกฤติ เป็นเฉลี่ยร้อยละ 3 ในช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด และลดเหลือเฉลี่ยร้อยละ 2 หลังโควิด เป็นภาพการถดถอยที่ต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทย แสดงถึงความไม่สามารถของเศรษฐกิจที่จะฟื้นตัวหลังถูกกระทบจากช๊อคหรือวิกฤตที่รุนแรง ต่างกับประเทศอื่น

รายงานของ AMRO วิเคราะห์ว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ถดถอยต่อเนื่อง เป็นผลจากสามปัจจัย 

อันแรก คือ การลดลงของการลงทุนในประเทศ ทั้งการลงทุนภาครัฐและภาคเอกชนที่ลดลงต่อเนื่อง จากอัตราการลงทุนรวมที่เคยเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 30 ของรายได้ประชาชาติช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจเอเซีย ลดลงเหลือเฉลี่ยร้อยละ 16 ช่วงสิบปีหลังวิกฤต และล่าสุดอยู่ที่ประมาณร้อยละ 19 ตํ่ากว่าหลายๆประเทศในภูมิภาค สําหรับภาครัฐ การลงทุนภาครัฐที่เคยสูงถึงร้อยละ 8 ของรายได้ประชาชาติก็ลดลงเช่นกัน เป็นผลจากความไม่ต่อเนื่องของโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐ เช่น โครงการประเทศไทย 4.0 และ โครงการ อีอีซี ที่ทำให้ความคืบหน้าช้า ส่วนหนึ่งโยงกับความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณ และอีกส่วนเป็นผลจากความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศ

ปัจจัยที่สอง คือ การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร ที่ในอดีตเศรษฐกิจไทยได้ประโยชน์จากแรงงานหนุ่มสาวที่มีมาก แต่ปัจจุบันโครงสร้างเปลี่ยนมาเป็นสังคมสูงวัยที่ประชากรในวัยทำงานลดลง จำนวนเด็กเกิดใหม่มีน้อยลง และผู้สูงวัยอายุยืนขึ้น ทําให้อัตราการพึ่งพาของเด็กและคนชราต่อกําลังแรงงานของประเทศเพิ่มสูง คือ ร้อยละ 43.1 ในปัจจุบัน ส่งผลต่ออุปทานแรงงาน ผลิตภาพของประชากรในวัยทำงาน และภาระการคลังของประเทศ รายงานประเมินว่าผลของสังคมสูงวัยและกําลังแรงงานของประเทศที่ลดลง จะฉุดให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยลดลง 0.4 เปอร์เซนต์ (Percentage point) ต่อปีในช่วงปี 2030 ถึง 2050

ปัจจัยที่สาม คือ การไม่ปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และไม่เดินหน้าในการปฏิรูปเศรษฐกิจ ทําให้ผลิตภาพหรือ Productivity ของประเทศไม่เพิ่มขึ้น กระทบความสามารถในการผลิตและความสามารถในการแข่งขัน ในอดีตเศรษฐกิจไทยได้ประโยชน์จากการเคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคเกษตรสู่ภาคอุตสาหกรรมและบริการ ทําให้ผลิตภาพแรงงานเพิ่มสูงขึ้น แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว 

ภาคเกษตรกลายเป็นแหล่งจ้างงานสุดท้ายของผู้ที่ไม่มีงานทํา และจากโครงสร้างพื้นฐานในภาคเกษตรที่ไม่เพียงพอ ผลิตภาพของภาคเกษตรไทยจึงตํ่ามากๆ มีแรงงานในภาคเกษตรร้อยละ 30 ของแรงงานของประเทศ แต่ผลผลิตมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 8.6 ของจีดีพี รายงานวิเคราะห์ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลจากมาตรการภาครัฐที่บิดเบือน เช่น การอุดหนุนภาคเกษตร ค่าจ้างขึ้นตํ่า และการศึกษาในชนบทที่หย่อนคุณภาพ ทั้งหมดไม่เอื้อให้ภาคเกษตรปรับตัวหรือปรับโครงสร้างการผลิต

นี่คือสามสาเหตุที่ทําให้เศรษฐกิจไทยถดถอยและกลายเป็นเศรษฐกิจที่ขยายตัวตํ่าต่อเนื่องในภูมิภาค รายงานวิเคราะห์ต่อว่า ถ้าข้อจํากัดเหล่านี้ยังอยู่ ไม่มีการแก้ไข ไม่มีการปรับโครงสร้างหรือปฏิรูปเศรษฐกิจ เศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไรในอีกยี่สิบห้าปีข้างหน้า จะเติบโตเป็นประเทศรายได้สูงหรือประเทศพัฒนาแล้วได้หรือไม่ โดยวิเคราะห์เป็นสามกรณี หรือสามฉากทัศน์

กรณีเเรก เป็นกรณีฐานที่ไม่มีอะไรเปลี่ยนในเเง่นโยบาย ไม่มีการปฏิรูปหรือปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ แต่อัตราการลงทุนและผลิตภาพการผลิตยืนระดับได้เหมือนช่วงสิบปีที่ผ่านมา ทําให้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในอัตราที่ตํ่าต่อไป คือร้อยละ 2.7 ช่วงปี 2024-2030 จากนั้นเฉลี่ยร้อยละ 2.6 จนถึงปี2050 ผลคือ ไทยจะไม่สามารถเติบโตเป็นประเทศรายได้สูงได้ภายในปี 2037 ซึ่งเป็นปีเป้าหมาย ทําได้เพียง 62 เปอร์เซ็นต์ของเป้า และจะไม่สามารถเติบโตถึงระดับรายได้ต่อหัวของประเทศรายได้สูงได้ในอีก 25 ปีข้างหน้า คือก่อนปี 2050 นี่คือความท้าทายที่ประเทศไทยมี

กรณีสอง คือ กรณีที่นโยบายเปลี่ยน มีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ มีการปฏิรูปเศรษฐกิจ ทําให้ การลงทุนและผลิตภาพการผลิตเพิ่มขึ้น อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจเพิ่มเป็นเฉลี่ยร้อยละ 3.7 ต่อปีช่วง 2024-2030 จากนั้นเฉลี่ยร้อยละ 3.6 ถึงปี 2050 ภายใต้ฉากทัศน์นี้ เศรษฐกิจไทยจะยังไปไม่ถึงระดับของประเทศรายได้สูงในปี 2037 เช่นกัน แต่ก็จะไปถึงได้ในที่สุดในอีก 18ปีข้างหน้า ชี้ว่าการยกระดับประเทศสู่ประเทศรายได้สูงในกรณีประเทศเราไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สามารถทําได้

กรณีสามเป็นกรณีเลวร้าย ที่ทุกอย่างในอนาคต ไม่ว่าการลงทุน การดําเนินโครงการของภาครัฐ ผลิตภาพการผลิต ยิ่งแย่ลง ซึ่งอาจเกิดจากปัญหาเสถียรภาพทางการเมือง ความล่าช้าเรื่องงบประมาณและการทําหน้าที่ของรัฐ ผลิตภาพการผลิตที่ลดลง ทําให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจช่วง 25ปีข้างหน้าตํ่ากว่ากรณีฐาน ผลคือ เศรษฐกิจไทยนอกจากจะไม่สามารถยกระดับเป็นประเทศรายได้สูงได้แล้ว จะยังติดอยู่ในกับดักประเทศรายได้ปานกลางต่อไปอีกยี่สิบห้าปี

นี่คือสิ่งที่อาจเกิดขึ้น ในความเห็นของผม บทวิเคราะห์ของ AMRO เตือนให้ตระหนักว่าการปฏิรูปเศรษฐกิจสําคัญมาก และอนาคตทางเศรษฐกิจของประเทศยืนอยู่บนเส้นด้ายจริงๆถ้าผู้ทำนโยบายและรัฐบาลไม่ทําอะไร ไม่คิดที่จะแก้ไข ปรับโครงสร้างหรือปฏิรูปเศรษฐกิจ ทำให้อนาคตของคนทั้งประเทศ 71.8 ล้านคนจะมืดมน สิ่งที่รายงานเสนอให้แก้ไขคือ 

หนึ่ง ฟื้นฟูให้การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเกิดขึ้นเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิต 

สอง ปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อนําไปสู่การลงทุนของภาคเอกชน นวัตกรรม การสร้างแรงงานที่มีคุณภาพมีทักษะ และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จะเพื่มความสามารถในการผลิตและความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ 

สาม เร่งรัดการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ให้เป็นไปตามแผน เหล่านี้คือสิ่งที่ต้องทำซึ่งผมเห็นด้วย

นี่คือสิ่งที่ผู้ทํานโยบายและรัฐบาลต้องถือเป็นความรับผิดชอบสูงสุดในการทําหน้าที่ นําประเทศออกจากฉากทัศน์ที่หนึ่งและสาม ไปสู่ฉากทัศน์ที่สอง ทําให้เด็กไทยที่เกิดวันนี้โตเป็นหนุ่มเป็นสาวในประเทศไทยที่เป็นประเทศรายได้สูงเมื่ออายุ 25ปี ไม่ติดอยู่ในกับดักประเทศรายได้ปานกลางเหมือนรุ่นพ่อรุ่นแม่