‘โททาล’ รื้อแผนลงทุนไทย จับตาประมูลปิโตรฯ รอบ 26 ‘อันดามัน’

‘โททาล’ รื้อแผนลงทุนไทย จับตาประมูลปิโตรฯ รอบ 26 ‘อันดามัน’

ครม.รุกจัดการปิโตรเลียมอ่าวไทย อนุมัติต่ออายุและโอนสิทธิ์ 3 แปลง “แหล่งต้นคูนเหนือ” โอนสิทธิ์จากโททาล 33% ให้ ปตท.สผ.ถือทั้งหมด 100% เพิ่มอำนาจบริหารใจแหล่งพลังงาน จับตา “โททาล” หลังขายหุ้นหลายโครงการ พร้อมสนใจประมูลปิโตรฯ รอบ 26 แหล่งทะเลอันดามัน

รัฐบาลมีแนวคิดเพิ่มความมั่นคงพลังงานโดยสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยเพิ่มขึ้น โดยนอกจากหาข้อสรุปการใช้พื้นที่พลังงานในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ยังมีการต่ออายุและบริหารจัดการผู้ถือหุ้นในแหล่งสัมปทานที่ดำเนินการอยู่ให้มีศักยภาพมากขึ้น

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการบริหารจัดการปิโตรเลียมในพื้นที่อ่าวไทยเพื่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ โดยส่วนแรก ครม.อนุมัติตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ การโอนสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 3/2549/71 แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย หมายเลข G12/48 

ทั้งนี้ อนุมัติให้บริษัท โททาล เอนเนอร์ยี่ส์ อีพี ไทยแลนด์ โอนสิทธิ์ประโยชน์ และพันธะที่ถือครองอยู่ในพื้นที่นี้สัดส่วน 33.33% ให้แก่บริษัท ปตท.สผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โดยกระทรวงพลังงานจะออกเป็นสัมปทานปิโตรเลียมเพิ่มเติม

รวมทั้ง เมื่อบริษัท ปตท.สผ.ถือสัมปทานหลังจากการโอนสิทธิ์แล้ว 100% จะทำให้บริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมในพื้นที่เพื่อประโยชน์ของประเทศได้มากขึ้น โดยแหล่งสัมปทานบริเวณแหล่งนี้ครอบคลุมบริเวณแหล่งผลิตปิโตรเลียมต้นคูนเหนือ ซึ่งผลิตก๊าซธรรมชาติได้ 10 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันและผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวได้ 164 บาร์เรลต่อวัน 

สำหรับแหล่งต้นคูณเหนือมีอายุสัมปทานเหลือถึงวันที่ 14 มี.ค.2578 โดยการโอนสิทธิ์การบริหารพื้นที่สัมปทานจะไม่กระทบค่าภาคหลวงและผลประโยชน์ปิโตรเลียมที่ประเทศไทยจะได้รับแต่อย่างใด

รายงานข่าวระบุว่า ก่อนหน้านี้ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เมื่อวันที่ 1 ก.ย.2566 ว่า บริษัท ปตท.สผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.สผ.ลงนามสัญญาซื้อขายเพื่อเข้าซื้อสัดส่วนการลงทุน 33.33% ในแปลง G12/48 จากบริษัท TotalEnergies EP Thailand

ทั้งนี้ แปลง G12/48 เป็นโครงการผลิตก๊าซธรรมชาติและคอนเดนเสท ตั้งอยู่นอกชายฝั่งอ่าวไทยครอบคลุมพื้นที่ 37 ตารางกิโลเมตร การเข้าซื้อดังกล่าวเป็นไปตามแผนการลงทุนของ ปตท.สผ.ที่ให้ความสําคัญกับการขยายฐานการลงทุนในไทยที่เป็นหนึ่งในพื้นที่ยุทธศาสตร์ของ ปตท.สผ.

นอกจากนี้ ปี 2565 บริษัท TotalEnergies EP Myanmar ยุติลงทุนโครงการยาดานา และกลุ่ม ปตท.สผ.เข้าเป็นผู้ดำเนินการ โดยได้รับความเห็นชอบจากผู้ร่วมทุนของโครงการเมื่อวันที่ 14 มี.ค.2565 ซึ่งทำให้สัดส่วนการลงทุนของ ปตท.สผ.ในปี 2565 อยู่ที่ 37.1%

ในขณะที่ บริษัท โททาล อี แอนด์ พี ไทยแลนด์ จำกัด เป็น 1 ใน 4 บริษัทที่เข้าร่วมประมูลสัมปทานผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61(แหล่งเอราวัณ) และหมายเลข G2/61 (แหล่งบงกช) เมื่อปี 2561 ซึ่ง ปตท.สผ.เป็นผู้ชนะการประมูล

ครม.ต่ออายุสัมปทานแหล่ง“บัวหลวง”

นอกจากนี้ ครม.รับทราบการต่ออายุการผลิตปิโตรเลียมเลขที่ 3/2539/50 แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข B8/38 ซึ่งครอบคลุมพื้นที่แหล่งปิโตรเลียมบัวหลวงให้กับบริษัท แมคโค เอนเนอยี่ ไทยแลนด์ (บัวหลวง) ลิมิเต็ด ผู้รับสัมปทานและผู้ดำเนินงานสัมปทานรายเดิม ซึ่งจะหมดอายุสัมปทานวันที่ 23 ต.ค.2568 

สำหรับการต่ออายุสัมปทานจะทำให้ผู้ผลิตรายเดิมได้สิทธิ์ผลิตปิโตรเลียมต่ออีก 10 ปี ตั้งแต่วันที่ 24 ต.ค.2568-23 ต.ค.2578 

ขณะที่พื้นที่การผลิตแหล่งบัวหลวงมีศักยภาพปิโตรเลียม ได้แก่ พื้นที่ผลิตปิโตรเลียมบัวหลวง 379 ตารางกิโลเมตร เริ่มผลิตน้ำมันดิบปี 2551 มีปริมาณการผลิตน้ำมันสะสม 46.2 ล้านบาร์เรล มีปริมาณสำรองน้ำมันดิบ ณ สิ้นปี 14.86 ล้านบาร์เรล

ทั้งนี้ การต่อสัมปทานครั้งนี้ประเทศได้ผลประโยชน์ตามระบบ Thailand II โดยพัฒนาทรัพยากรปิโตรเลียมขึ้นมาใช้ประโยชน์เต็มที่ และรัฐได้ผลประโยชน์พิเศษเพิ่มนอกเหนือค่าภาคหลวงและภาษีเงินได้ปิโตรเลียม 

รวมทั้งผู้รับสัมปทานได้เสนอข้อผูกพันการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รวมถึงผลประโยชน์พิเศษแก่รัฐ คิดเป็นมูลค่ารวม 672 ล้านบาท (19.2 ล้านดอลลาร์)  ดังนี้

1. ผู้รับสัมปทานจะดำเนินการเจาะหลุมสำรวจหรือหลุมประเมินผลในชั้นหินฐานในบริเวณที่ไม่มีสิ่งติดตั้ง (Open Water Well) จำนวน 1 หลุม โดยมีค่าใช้จ่ายขั้นต่ำ 2.5 ล้านดอลลาร์

2. ผู้รับสัมปทานจะศึกษาทางเทคนิคเพื่อการพัฒนาปิโตรเลียม เช่น กระบวนการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ กระบวนการเพิ่มปริมาณการผลิต โดยมีค่าใช้จ่ายขั้นต่ำ 2 แสนดอลลาร์

3. ผู้รับสัมปทานจะเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำจากกระบวนการผลิต ปิโตรเลียม และอาจดำเนินการอื่นร่วมด้วยเพื่อพัฒนาทรัพยากรปิโตรเลียม ได้แก่ การเจาะหลุมสำรวจหรือหลุมประเมินผลจากสิ่งติดตั้งที่มีในพื้นที่ที่ยังไม่พิสูจน์ทราบศักยภาพปิโตรเลียมหรือยังไม่มีหลุมผลิต โดยมีค่าใช้จ่ายขั้นต่ำรวม 15 ล้านดอลลาร์

4. ผู้รับสัมปทานตกลงให้ผลประโยชน์พิเศษแก่รัฐ ได้แก่ โบนัสการลงนาม ค่าตอบแทน การต่อระยะเวลาผลิต โบนัสการผลิตเมื่อได้รับการต่อระยะเวลาผลิต เงินอุดหนุนเพื่อการพัฒนาปิโตรเลียม ในประเทศไทย รวมเป็นเงิน 725 ล้านบาท (21.5 ล้านดอลลาร์)

อนุมัติโอนสิทธิ์ “แหล่งวาสนา”

สำหรับแหล่งปิโตรเลียมอีกแหล่งในอ่าวไทยที่ ครม.มีมติที่เกี่ยวข้องได้แก่ การโอนสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 8/2559/76 แปลงสำรวจหมายเลขา G10/48 โดย ครม.เห็นชอบให้มีการโอนสิทธิ์ประโยชน์และพันธะที่ถือครองของ บริษัท พลังโสภณ จำกัด ในสัดส่วน 11% ให้กับบริษัทแวลูร่า เอ็นเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ทำให้บริษัทนี้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นในพื้นที่นี้ของแวลูร่า เอ็นเนอร์ยี่อยู่ที่ 75% จากเดิม 64%

สำหรับสัมปทานเดิมมีอายุ 20 ปี ตั้งแต่วันที่ 8 ธ.ค.2558-7 ธ.ค.2578 โดยวันที่ 9 ก.พ.2558 ได้อนุมัติพื้นที่นี้ให้เป็นพื้นที่ผลิตปิโตรเลียม 1 พื้นที่ คือ แหล่งผลิตปิโตรเลียมวาสนา โดยแหล่งผลิตปิโตรเลียมนี้เคยปิดไปเมื่อเดือน พ.ค.2563 เพราะราคาน้ำมันตกต่ำ แต่ล่าสุดผู้รับสัมปทานได้ลงทุนและกลับมาผลิตน้ำมันดิบได้อีกครั้งเมื่อวันที่ 28 เม.ย.2566

ทั้งนี้กระทรวงพลังงานพิจารณาว่าการโอนสิทธิ์ของบริษัทพลังโสภณให้บริษัท บริษัทแวลูร่า เอ็นเนอร์ยี่ จะเกิดประโยชน์ที่จะนำปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่ค้นพบแล้วขึ้นมาพัฒนา และรัฐมีรายได้จากค่าภาคหลวงเพิ่มขึ้น

จับตา“โททาล”สนใจประมูลรอบ26

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า ทั้ง 3 พื้นที่เป็นเรื่องที่ดำเนินการมานานแล้ว แต่กระทรวงพลังงานเสนอ ครม.ซึ่งหากดูธุรกิจปิโตรเลียมของโททาลมีปัญหาตั้งแต่ประมูลแหล่งบงกช โดยย้ายสำนักงานจากไทยไปอยู่สิงคโปร์ และในไทยแทบไม่มีพนักงานเหลือ

กระทรวงพลังงานนำเรื่องเข้า ครม.ช้านานนับปี เพราะถ้าไม่อนุมัติและปล่อยถึงปีหน้า ไทยอาจเสี่ยงโดนฟ้องเพราะการซื้อขายหุ้นแหล่งปิโตรเลียมต้องขออนุมัติจาก ครม. และถ้าไม่เสนอก็ทำอะไรไม่ได้ สิ่งที่ตามมาคือภาษีและอื่น ๆ อีกมากมาย อีกทั้ง เมื่อต้องแสดงทรัพย์สินต่อตลาดหลักทรัพย์ก็มีผลด้วยเพราะยังไม่มีผลตามกฎหมาย”

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่ได้รับรายงานมา โททาลอาจจะสนใจกลับมาประมูลอันดามัน (รอบที่ 26) ด้วยเทคโนโลยีและประเมินว่าคุ้มค่า โดยสนใจแหล่งอันดามันโดยเชื่อว่ากระทรวงพลังงานน่าจะเปิดประมูลได้กลางปี 2568 รวมทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้อนุมัติให้ยื่นสำรวจและผลิตปิโตรเลียม สำหรับแปลงบนบก (รอบที่ 25) 9 แปลง พื้นที่ 33,444 ตารางกิโลเมตร

“จากข้อมูลที่ได้รับการที่โททาลขายให้ ปตท.สผ.จริงๆ แล้วไม่ขาดทุน แต่ถอนไปลงทุนแหล่งอื่น ซึ่งฝรั่งเขาคิดต่างกับไทย เขามองว่าอยู่ยาก จึงจะเห็นว่าโททาลก็ไม่ได้ถอนการลงทุนเฉพาะที่ไทยโดยในเมียนมาก็ถอนด้วยเช่นกัน” แหล่งข่าว กล่าว