'โททาล-วู้ดไซด์' ลงนามพัฒนาก๊าซนอกชายฝั่งเมียนมา
“โททาล-วู้ดไซด์”ลงนามพัฒนาก๊าซนอกชายฝั่งเมียนมาถือเป็นก้าวย่างสำคัญในการเปิดประเทศรับการลงทุนจากต่างชาติในอุตสาหกรรมพลังงานของเมียนมา
บริษัทพลังงานชั้นนำโลกทั้งโททาล บริษัทพลังงานชั้นนำสัญชาติฝรั่งเศส และวู้ดไซด์ บริษัทพลังงานชั้นนำสัญชาติออสเตรเลีย ได้ลงนามข้อตกลงพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่งทะเลในเมียนมา ถือเป็นก้าวย่างสำคัญในการเปิดประเทศรับการลงทุนจากต่างชาติในอุตสาหกรรมพลังงานของเมียนมา
โครงการพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่งทะเลในเมียนมาครั้งนี้่มีชื่อว่า “โปรเจค A-6” ตั้งอยู่ในอ่าวเบงกอล นอกชายฝั่งทะเลทางตะวันตกเฉียงใต้ของเขตอิระวดี ถือเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติใต้ทะเลลึกแห่งแรกของเมียนมาและคาดว่าจะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์
วู้ดไซด์ บริษัทพลังงานชั้นนำสัญชาติออสเตรเลีย ระบุว่า จะขุดบ่อก๊าซธรรมชาติที่มีอยู่4บ่อในโครงการเฟสที่2 (ทั้งโครงการมีบ่อก๊าซธรรมชาติทั้งหมด 10 บ่อแบ่งเป็นเฟสแรก 6บ่อ เฟสที่สอง 4 บ่อ)ที่ระดับความลึกระหว่าง 2,000 เมตรและ 2,300 เมตร จากนั้นจะส่งก๊าซไปยังแหล่งก๊าซที่มีอยู่แล้วของบริษัทโททาลผ่านทางท่อส่งก๊าซความยาว 240 กิโลเมตร และจากที่นั่นจะส่งต่อไปยังเมียนมา และประเทศไทยต่อไป
อย่างไรก็ตาม ทั้งโททาล วู้ดไซด์และรัฐบาลเมียนมาจะร่วมกันออกแบบทางด้านวิศวกรรมในขั้นตอนสุดท้ายของโครงการนี้และจะตัดสินใจเกี่ยวกับรายละเอียดของโครงการทั้งหมดในปลายปี 2563
ทั้งนี้ บริษัทเอ็มพีอาร์แอล อีแอนด์พี หุ้นส่วนในเมียนมา ซึ่งมีฐานดำเนินงานอยู่ในย่างกุ้ง คือบริษัทที่ได้สิทธิ์พัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติ A-6ในปี 2550 แต่บริษัทตัดสินใจที่จะแสวงหาความช่วยเหลือจากบรรดาหุ้นส่วนต่างๆที่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีและมีความเชี่ยวชาญด้านการขุดเจาะแหล่งก๊าซในทะเลลึก ทำให้บริษัทวู้ดไซด์ เข้ามาร่วมโครงการนี้เมื่อปี 2556ก่อนที่บริษัทโททาลจะตามมาในปี 2558 โดยบริษัทพลังงานต่างชาติถือหุ้นฝ่ายละ 40% และบริษัทเอ็มพีอาร์แอล อีแอนด์พี ถือหุ้น 20%
นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2533 ซึ่งเมียนมายังอยู่ภายใต้การปกครองของทหาร เมียนมาได้พัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติ 4 แหล่งด้วยความช่วยเหลือด้านเงินทุนจากต่างชาติ และประมาณ 80% ของผลผลิตก๊าซธรรมชาติถูกส่งมาขายในประเทศไทยและในจีน แต่หลังจากปี 2563 เป็นต้นไป คาดการณ์ว่าผลผลิตก๊าซธรรมชาติจะลดลง โดยเฉพาะในปี 2568 คาดการณ์ว่าจะลดลงมากถึง 60% เนื่องจากความต้องการก๊าซธรรมชาติในประเทศจะเพิ่มขึ้นเพราะประชากรเมียนมามีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น
ขณะที่ สถาบันวิจัยด้านเศรษฐกิจสำหรับภูมิภาคอาเซียนและเอเชียตะวันออก ระบุในรายงานเมื่อเดือนธ.ค.ปี2561ว่า ช่องว่างระหว่างความต้องการก๊าซธรรมชาติและกำลังการผลิตในเมียนมาจะเข้าสู่ภาวะสมดุลในปี 2566 แต่ความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ท่ามกลางความสามารถในการผลิตก๊าซธรรมชาติในเมียนมา ที่ยังต้องพุ่งเทคโนโลยีจากบริษัทตะวันตกที่มาจากกลุ่มประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้า ถือเป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับรัฐบาลเมียนมาอย่างมาก