"เผ่าภูมิ" ชี้ กนง.ตัดสินใจดอกเบี้ยอย่างอิสระ เผยแลกเปลี่ยนข้อมูล ธปท.แล้ว

"เผ่าภูมิ" ชี้ กนง.ตัดสินใจดอกเบี้ยอย่างอิสระ เผยแลกเปลี่ยนข้อมูล ธปท.แล้ว

ลุ้นกนง.นัดสุดท้ายของปี 67 ลดดอกเบี้ยหรือไม่ “เผ่าภูมิ” ชี้ กนง.มีอิสระในการตัดสินใจ แต่คลังกับ ธปท.ได้มีการหารือแนวโน้มและภาพเศรษฐกิจไทยที่เห็นตรงกันแล้ว ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกร คาด กนง.คงดอกเบี้ย ก่อนปีหน้าลดอีก 2 ครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในวันนี้ (18 ธ.ค.) คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการประชุมนัดสุดท้ายของปี โดยจะพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายว่าจะลดลงหรือไม่จากในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 0.25%

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ตอบคำถามสื่อมวลชนเกี่ยวกับประเด็นการประชุม กนง.ในวันนี้ว่าการประชุม กนง.นั้นเป็นอำนาจของคณะกรรมการ ถือว่ามีความอิสระในการพิจารณา แต่ได้มีการหารือกันเรื่อยๆระหว่างกระทรวงการคลังกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับประเด็นต่างๆทางเศรษฐกิจ

 

“ภาพต่างๆนั้นก็มีการเห็นภาพของเศรษฐกิจไทยไปในทิศทางเดียวกัน มีมุมมองที่ค่อนข้างที่จะตรงกัน” นายเผ่าภูมิ กล่าว

สำหรับแนวโน้มการประชุม กนง.วันนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่ากนง. มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.25% มติไม่เป็นเอกฉันท์ หลังจากในการประชุมเดือนต.ค. ที่ผ่านมา กนง. มีมติปรับลดดอกเบี้ยที่ 0.25% ไปแล้ว ซึ่งกนง. มองว่าการปรับลดดอกเบี้ยดังกล่าวจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่เป็นกลางและสอดคล้องกับความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพการเงิน

ดังนั้น เนื่องจากภาพความเสี่ยงต่างๆ ในปัจจุบันไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากเดิมเท่าใดนัก ประกอบกับทิศทางเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/2567 คาดว่าจะขยายตัวเร่งขึ้นโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากฤดูกาลท่องเที่ยวและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากทางภาครัฐ ส่งผลให้กนง. มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับเดิมในการประชุมกนง. วันที่ 18 ธ.ค. ที่จะถึงนี้  
ขณะที่

ในปี 2568 มีความเป็นไปได้ที่กนง. อาจปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมอีกราว 2 ครั้ง เนื่องจากความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในปีหน้ามีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ อาจปรับขึ้นภาษีนำเข้ากับประเทศต่างๆ รวมถึงไทย ประกอบกับแนวโน้มที่สินค้าไทยอาจเผชิญการแข่งขันที่สูงขึ้นจากการเข้ามาตีตลาดของสินค้าจีนซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อไปยังผู้ประกอบการของไทย ขณะที่ ทิศทางเงินเฟ้อในปี 2025 ยังมีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำกว่าเป้าหมายของกนง. ที่ 1-3% อย่างไรก็ดี ทิศทางนโยบายการเงินของกนง. ในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะจังหวะและขนาดในการปรับลดดอกเบี้ยยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยคงขึ้นอยู่กับข้อมูลด้านเศรษฐกิจ เงินเฟ้อและเสถียรภาพทางการเงินที่ออกมาระหว่างทางเป็นสำคัญ