ปฎิบัติการ“ความมั่นคงอาหาร” รับมือประชากรโลกเพิ่มอีกพันล้านคน
องค์การสหประชาชาติ คาดว่า ในปี 2593 ประชากรจะสูงขึ้นถึง 9.7 พันล้านคน จาก 8.1 พันล้านคนในปัจจุบัน ทำให้องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) คาดว่าโลกจำเป็นต้องผลิตอาหารเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 60% จึงจะเพียงพอต่อความต้องการอาหารที่จะเพิ่มมากขึ้น
ฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผย ข้อมูลอัตราการพึ่งพาตนเองด้านอาหาร หรือ (SSR) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่แสดงถึงสัดส่วนของปริมาณผลผลิตที่ผลิตได้ในประเทศเทียบกับปริมาณผลผลิตที่ต้องใช้บริโภคภายในประเทศ
ช่วงปี 2562 - 2566 ประเทศไทยมีความสามารถในการพึ่งพาตนเองของสินค้าเกษตรที่สำคัญในระดับสูง เนื่องจากเป็นประเทศผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญยกเว้นสินค้าเกษตรบางชนิดที่ผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศ ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ ได้แก่ กาแฟ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันฝรั่ง ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง หอมหัวใหญ่ และกระเทียม เป็นต้น
สศก. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนด้านความมั่นคงอาหารตลอดห่วงโซ่ ภายใต้คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงอาหารภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ระยะที่ 1 (พ.ศ.2566-2570) เพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านอาหารอย่างยั่งยืน บริหารจัดการทรัพยากรเพื่อผลิตอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำ (ร่าง) แผนขับเคลื่อนการลดการสูญเสียอาหารในห่วงโซ่การผลิต พ.ศ. 2566-2570 และ (ร่าง) แนวปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยอาหารสำหรับการบริจาคอาหาร
สำหรับผลการดำเนินงานด้านความมั่นคงด้านอาหาร ด้านการจัดปฏิทินผลผลิตสินค้าเกษตรรายเดือนระดับจังหวัดเพื่อการบริหารจัดการความมั่นคงอาหารและโภชนาการเป็นการจัดทำข้อมูลประมาณการปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยวได้ในแต่ละเดือน ตลอดปีเพาะปลูก หรือปีการผลิต
ข้อมูลประกอบด้วยชนิดและปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรพืชปศุสัตว์ประมงทั้งรายปีและรายเดือนจำนวนเกษตรกรเนื้อที่เพาะปลูก การคาดการณ์ผลผลิตในปีต่อไป ทั้งนี้ข้อมูลปฏิทินสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมากมายเช่น เฝ้าระวังโรคระบาดศัตรูพืชป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือแม้แต่แผนการตลาด
สำหรับข้อมูลในระบบปฏิทินผลผลิตสินค้าเกษตรรายเดือน ระดับจังหวัดปี 2566 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้รวบรวมข้อมูลการผลิตสินค้าเกษตรจากหน่วยงานจังหวัดมีจำนวนทั้งสิ้น 608 ชนิดประกอบด้วยสินค้าพืช 443 ชนิดสินค้าปศุสัตว์สามชนิดและสินค้าประมง 142 ชนิด โดยมีสินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่นรวมอยู่ด้วยจำนวน 48 ชนิด
“อยู่ระหว่างการดำเนินการยกร่างการจัดทำแนวทางการขับเคลื่อนความมั่นคงอาหารในระดับพื้นที่จังหวัด โดยมีเป้าหมายเพื่อลดจำนวนคนขาดแคลนอาหารและลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร เพื่อให้หน่วยงานในจังหวัดสามารถประเมินสถานการณ์ความมั่นคงอาหารในพื้นที่ และจัดทำแนวทางรองรับรวมถึงสามารถติดตามและรายงานผลการดำเนินงานมายังส่วนกลาง”
การยกร่างแผนขับเคลื่อนความมั่นคงอาหารที่เกี่ยวข้องได้แก่ ร่างแผนการลดการสูญเสียอาหารในห่วงโซ่การผลิตพ.ศ. 2566 ถึงพ.ศ. 2570 รับผิดชอบโดยกรมวิชาการเกษตร มีเป้าหมายเพื่อลดการสูญเสียอาหาร แนวปฎิบัติเพื่อความปลอดภัยทางด้านอาหาร
สำหรับการบริจาคอาหารรับผิดชอบโดยกรมควบคุมมลพิษ มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้เกิดความมั่นใจทั้งต่อผู้บริจาคและผู้รับบริจาคว่าอาหารที่แจกจ่ายยังคงมีความปลอดภัยและเหมาะสมต่อการบริโภค แม้ประเทศไทยจะมีความศักยภาพด้านการผลิตแต่ความมั่นคงมีหลายมิติซึ่งประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น อาจเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของไทยที่ต้องถตอบโจทย์ความมั่นคงอาหารได้เกือบทุกมิติ