การค้าระหว่างประเทศกับเศรษฐกิจโลก
ปี 2023 มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของโลก ซึ่งหมายถึงการส่งออกสินค้าและบริการ (เช่น การท่องเที่ยวและการขนส่ง) มีมูลค่าเท่ากับ 30.5 ล้านล้านเหรียญ (ข้อมูลจากองค์กรการค้าโลกหรือ WTO) ในขณะเดียวกัน จีดีพีของโลกในปีเดียวกันเท่ากับ 105.4 ล้านล้านเหรียญ แปลว่าการค้านั้นคิดเป็นสัดส่วนเท่ากับ 28.9% ของจีดีพีโลก
สำหรับประเทศไทยนั้น มูลค่าส่งออกสินค้าในปี 2023 เท่ากับ 284,560 ล้านเหรียญ และมูลค่าจีดีพีเท่ากับ 515,000 ล้านเหรียญ แปลว่าการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 49-70% ของจีดีพี หากรวมรายได้จากการท่องเที่ยวจากต่างประเทศอีกประมาณ 1.2 ล้านล้านบาทในปี 2023 ก็แปลว่า ประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกสินค้าและบริการรวมกันประมาณ 62% ของจีดีพี และในปี 2024 นี้ ก็น่าจะเพิ่มขึ้นไปอีกเป็นประมาณ 66% ของจีดีพี จากการเร่งฟื้นตัวของรายได้จากการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.8 ล้านล้านบาท ใกล้เคียงกับรายได้จากการท่องเที่ยวที่สูงถึง 2 ล้านล้านบาทในปี 2019 ก่อนการระบาดโควิด 19
จะเห็นได้ว่า การค้าระหว่างประเทศ หรือการพึ่งพากำลังซื้อของต่างประเทศ มีความสำคัญอย่างมากสำหรับเศรษฐกิจไทย และในบรรยากาศที่สหรัฐมีแนวโน้มสูงที่จะกีดกันการค้ามากขึ้น และมาตรการดังกล่าวอาจทำให้เกิดปฏิกิริยาโต้ตอบทางการค้า ที่จะยิ่งทำให้บรรยากาศการค้าระหว่างประเทศถดถอยลงได้อย่างมากในปีหน้าและปีต่อๆไป
ดังนั้นในขั้นแรกจึงอาจทำให้นึกได้ว่า ควรหันไปให้ความสำคัญกับการผลักดันการท่องเที่ยวเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะการท่องเที่ยวนั้นน่าจะได้รับผลกระทบที่มีขอบเขตจำกัดกว่ามาก เมื่อเทียบกับการปรับขึ้นภาษีศุลกากรจากการทำสงครามทางการค้าในส่วนของการซื้อ-ขายสินค้าระหว่างประเทศ
แต่ก็น่าสนใจว่า การค้าระหว่างประเทศนั้นมีประวัติและแนวโน้มมาอย่างไร ซึ่งผมขออ้างอิง Our World in Data ที่มีตัวเลขการส่งออกของโลกเทียบกับจีดีพีของโลก โดยมีข้อมูลย้อนหลังไปไกลถึงปีค.ศ 1827 ดังที่ผมนำรูปมาให้ดูด้านล่างนี้ครับ
จะเห็นได้ว่ามูลค่าการค้าโลกนั้นปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจาก ช่วงประมาณปี 1840 อยู่ที่ 4% ของจีดีพีโลก มาถึงจุดสูงสุดในศตวรรษดังกล่าวในปี 1880 ที่ 12% ของจีดีพีโลก ซึ่งปัจจัยที่ขับเคลื่อนการขยายตัวของการค้าดังกล่าวคือ การบังคับเปิดตลาดในทวีปเอเชียและทวีปอื่นๆ โดยประเทศมหาอำนาจ ตัวอย่างเช่น
- สนธิสัญญานานกิง (1842) ซึ่งยุติสงครามฝิ่นครั้งที่ 1 ระหว่างจีนกับอังกฤษ ที่ให้สิทธิชาวอังกฤษค้า-ขายโดยเสรีกับจีน ซึ่งต่อมาประเทศมหาอำนาจอื่นๆก็ทำสนธิสัญญาลักษณะเดียวกันกับจีน
- สนธิสัญญาหวางเซี่ย (1844) คล้ายกับสนธิสัญญานานกิง แต่เป็นสนธิสัญญาที่ทำกับสหรัฐอเมริกา
- สนธิสัญญาเทียนจิน (1858) ซึ่งยุติสงครามฝิ่นครั้งที่ 2 และเปิดเสรีให้กับชาวต่างชาติในจีนเพิ่มขึ้น
- สนธิสัญญาคานากาว่า (1854) ระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐ ซึ่งมีผลในการทำให้ญี่ปุ่นเปิดความสัมพันธ์ทางการค้ากับสหรัฐ และต่อมากับประเทศมหาอำนาจอื่นๆ
- สนธิสัญญาเบาว์ริง (1855) ระหว่างไทยกับอังกฤษ ซึ่งเปิดตลาดของไทยคล้ายคลึงกับการเปิดตลาดญี่ปุ่นข้างต้น
นอกจากนั้น จะเห็นได้ว่ามูลค่าการค้าของโลกนั้นทรงตัวอยู่ประมาณ 18-12% ของจีดีพีในปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 และสัดส่วนดังกล่าวลดลงบ้างในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่ที่สำคัญคือการที่สัดส่วนการค้าต่อจีดีพีลดลงอย่างมากจาก 11% ของจีดีพี ในปี 1929 มาเหลือเพียง 5% ของจีดีพีในปี 1940 ก่อนการเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ 2
ถามว่า ความตกต่ำของการค้าระหว่างประเทศในช่วง 1929-1940 นั้น เป็นเพราะสาเหตุอะไร? คำตอบคือ ตลาดหุ้นที่สหรัฐเกิดฟองสบู่แตก จึงลดลงอย่างรุนแรงในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ทำให้มูลค่าหุ้นลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง ด้วยวิกฤตของสถาบันการเงิน และต่อมาเศรษฐกิจก็ถูกซ้ำเติมโดยการออกกฎหมาย Smoot Hawley Tariff Act เมื่อ 17 มิถุนายน 1930 ซึ่งรัฐบาลสหรัฐต้องการปกป้องคุ้มครองอุตสาหกรรมและเกษตรกรของสหรัฐจากการแข่งขันจากต่างประเทศ โดยรัฐบาลสหรัฐปรับภาษีศุลกากรเพิ่มขึ้นประมาณ 60% ของราคาสินค้านำเข้า ทำให้เกิดสงครามทางการค้าทั่วโลก มูลค่าทางการค้าของสหรัฐทั้งที่นำเข้าและส่งออกนั้น ลดลงมากถึง 67% และเห็นได้ว่ามูลค่าการค้าของโลกเทียบกับจีดีพีลดลงเหลือเพียง 5% ของเศรษฐกิจในปี 1940 เทียบกับ 11% ในปี 1929 จะเห็นได้ว่าการกีดกันทางการค้านั้น สำหรับส่วนรวมและกระทั่งสำหรับแต่ละประเทศก็สรุปได้ว่า “ได้ไม่คุ้มเสีย” อย่างแน่นอน
ดังนั้น เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง สหรัฐและประเทศพันธมิตรจึงมุ่งมั่นที่จะทำให้การค้าของโลกมีความเสรีและมีการเปิดตลาดมากขึ้น หลีกเลี่ยงการกีดกันการค้าดังที่ได้เกิดขึ้นในช่วงปี 1930-1940 ซึ่งกระบวนการเปิดตลาดโดยการประชุมระดับพหุภาคีนั้น ผมได้กล่าวถึงไปแล้วในตอนก่อนหน้า
จึงเห็นได้ว่า ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น มูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยคิดเป็นสัดส่วน 9% ของจีดีพีโลกในปี 1960 และเพิ่มขึ้นมาเป็น 17% ของจีดีพีโลกในปี 1980 แม้ว่าปีดังกล่าวจะเป็นปีที่เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยที่ค่อนข้างรุนแรง แต่ก็ไม่ได้มีการปิดตลาดหรือปิดการค้า
ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว การค้าก็จึงปรับเพิ่มขึ้นไปได้อีกถึง 20% ของจีดีพีโลกในปี 2000 จากนั้นหลังจากที่จีนได้เข้ามาเป็นสมาชิกขององค์กรการค้าโลกในปี 2001 ก็ยิ่งทำให้การส่งออกเพิ่มขึ้นต่อไปอีกเป็น 24% ของจีดีพีโลกในปี 2014 หากเอาข้อมูลล่าสุดชุดเดียวกันมาเชื่อมต่อ ก็คงจะขยับขึ้นไปได้อีกเล็กน้อย เพราะต่อมา ประธานาธิบดีทรัมป์เริ่มเพิ่มภาษีศุลกากรสินค้าที่นำเข้าจากจีนและประเทศขนาดใหญ่อื่น เช่น สหภาพยุโรป ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้
แม้ว่าแนวโน้มในอนาคตน่าจะดูไม่แจ่มใสนัก แต่ก็หวังว่าจะไม่เกิดการทำสงครามการค้ากันเหมือนช่วงปี 1930-1940 เพราะหลายประเทศน่าจะจดจำบทเรียน จาก 95 ปีก่อนหน้าได้ครับ