'เอกนัฏ' มอบกรมเหมืองฯ อัดงบ 525 ล้าน พัฒนา 187 ชุมชน ฟื้นฟูธรรมชาติรอบเหมือง
เหมืองแร่เพื่อชุมชน.. “เอกนัฏ” มอบกรมเหมืองฯ อัดฉีดเงินกว่า 525 ล้านบาท พัฒนา 187 ชุมชน ฟื้นฟูธรรมชาติรอบเหมือง
กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) มอบของขวัญปีใหม่โดยจัดสรร “เงินผลประโยชน์พิเศษแก่รัฐ” กว่า 525 ล้านบาท เพื่อพัฒนาชุมชนรอบเหมือง 187 แห่ง ตามแนวคิด “เหมืองแร่เพื่อชุมชน” ยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมเหมืองแร่มุ่งสู่ความยั่งยืนตามนโยบายปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย หรือ Industrial Reform ในมิติการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเติบโตไปพร้อมกับชุมชน ทั้งนี้ ต่อเนื่องจากการจัดสรรเงินฯ ในปีนี้ กพร. ยังมีแผนที่จะจัดสรรเงินกระจายสู่ชุมชนที่อยู่โดยรอบการประกอบการเหมืองแร่เป็นประจำทุกปี โดยตั้งเป้าหมายในการจัดสรรเงิน ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปีละไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท และวางมาตรการในการสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนรอบเหมืองแร่อย่างเข้มข้น
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมยังคงเป็นกลไกสะท้อนความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่ในภาวะการเปลี่ยนแปลงที่มีบริบทด้านความยั่งยืนเป็นเป้าหมาย การเสริมสร้างศักยภาพด้านการผลิตอาจไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมุ่งเน้นการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน กระทรวงอุตสาหกรรมจึงมีนโยบาย ‘ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย’ หรือ Industrial Reform เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว โดยกำหนด 3 พันธกิจสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินงาน ได้แก่
1. การจัดการกากอุตสาหกรรมตกค้างทั้งระบบอย่างเข้มงวด 2. การปกป้องอุตสาหกรรมไทยจากการทุ่มตลาด พร้อมช่วยผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการทะลักเข้าของสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน และยกระดับขีดความสามารถ SMEs ไทย และ 3. การสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมกันนี้ยังได้มอบหมายกรมต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้สังกัด บูรณาการการทำงานร่วมกันกับภาคประชาชน เอกชน และท้องถิ่น เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมไปพร้อมกับการพัฒนาชุมชนให้เกิดการเติบโตไปพร้อมกัน
“ในการปฏิรูปด้านที่ 3 นี้มีความสำคัญอย่างมาก ซึ่งหนึ่งในอุตสาหกรรมที่กระทรวงต้องการให้เกิด
การเปลี่ยนแปลงและสร้างผลกระทบเชิงบวกเพิ่มมากขึ้นคืออุตสาหกรรมเหมืองแร่ เนื่องจากเป็นต้นน้ำและเป็นวัตถุดิบสำคัญต่อหลาย ๆ อุตสาหกรรม รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ดังนั้น จึงได้มอบหมายให้ กพร. สรรหาแนวทางสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมดังกล่าว ทั้งในด้านการประกอบกิจการที่สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ มาตรฐานการประกอบการที่มีธรรมาภิบาล การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนรอบเหมือง การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการดูแลชุมชน และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับระบบนิเวศโดยรอบภายใต้แนวคิด ‘เหมืองแร่เพื่อชุมชน’ นอกจากนี้ ยังมุ่งผลักดันให้เกิดต้นแบบกิจการเหมืองแร่ที่ดี เพื่อส่งต่อไปยังกิจการอื่น ๆ ที่มีอยู่กว่า 800 แห่งทั่วประเทศ”
ด้านดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการส่งเสริม ผลักดันให้อุตสาหกรรมไทยพัฒนาด้วยความยั่งยืน กระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมจะช่วยเหลือผู้ประกอบการในทุกระดับ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ทั้งชุมชน สังคม และอุตสาหกรรมเติบโตไปด้วยกัน โดยกำหนดนโยบาย 4 มิติ คือ
1. การสร้างความสำเร็จให้ภาคธุรกิจ 2. การดูแลสังคมโดยรอบโรงงานอุตสาหกรรม 3. การรักษาสิ่งแวดล้อม และ 4. การกระจายรายได้ให้กับประชาชนเพื่อมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยการจัดสรรเงินผลประโยชน์พิเศษแก่รัฐให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในวันนี้ เป็นกิจกรรมเชิงประจักษ์ ที่แสดงให้เห็นว่า หน่วยงานของกระทรวงอุตสาหกรรม นอกจากจะมีพันธกิจที่ต้องกำกับ ดูแล และส่งเสริมการประกอบกิจการให้ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว อีกพันธกิจสำคัญคือการดูแลสังคมโดยรอบสถานประกอบการพร้อมกับการกระจายรายได้ ดูแลชุมชนในพื้นที่ให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนด้วย
ด้าน ดร.อดิทัต วะสีนนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เปิดเผยว่า กพร. ดำเนินการแนวคิด ‘เหมืองแร่เพื่อชุมชน’ เพื่อยกระดับมาตรฐานการทำเหมืองควบคู่ไปกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนที่เป็นที่ตั้งของแหล่งแร่ ซึ่งแนวคิดนี้จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยพัฒนาภาคอุตสาหกรรม สังคมและชุมชนให้เติบโตร่วมกันได้อย่างยั่งยืน โดย กพร. ได้จัดสรร “เงินผลประโยชน์พิเศษแก่รัฐ” ให้แก่ชุมชนต่าง ๆ ที่อยู่ในละแวกพื้นที่การประกอบธุรกิจเหมืองแร่ ซึ่งการจัดสรรในครั้งนี้ ถือเป็นการมอบของขวัญปีใหม่ให้แก่ 187 ชุมชนทั่วประเทศ มูลค่ารวมกว่า 525 ล้านบาท โดยเงินผลประโยชน์พิเศษแก่รัฐเป็นเงินที่ได้จากผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ที่ได้รับสิทธิในการสำรวจแร่หรือการทำเหมือง ซึ่งเงินนี้จะถูกนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์สองด้าน คือ การสำรวจและวิจัยเกี่ยวกับแร่ หรือ การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอันจะช่วยให้เกิดการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการจัดสรรเงินผลประโยชน์พิเศษแก่รัฐ มีอิสระที่จะนำเงินส่วนนี้ไปใช้พัฒนาชุมชนโดยรอบเหมืองภายใต้วัตถุประสงค์ที่กฎหมายกำหนดไว้ นอกจากนี้ ในปีงบประมาณถัดไป กพร. ยังมีแผนที่จะจัดสรรเงินกระจายสู่ชุมชนอื่นที่อยู่โดยรอบการประกอบกิจการเหมืองแร่เพิ่มเติม โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะสามารถจัดสรรเงินนี้ได้ปีละไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท เพื่อเร่งให้ชุมชนได้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยแท้จริง
“สำหรับในปี 2568 การขับเคลื่อนแนวคิด ‘เหมืองแร่เพื่อชุมชน’ จะยังคงเป็นแนวทางที่สำคัญในการทำงานของ กพร. เพื่อให้ชุมชนโดยรอบเหมืองแร่ที่มีจำนวนกว่า 480 เหมือง หรือ 850 แปลงประทานบัตร ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการแร่ และสร้างระบบนิเวศที่สมดุลมากขึ้น โดย กพร. มีแนวทางในการติดตามตรวจสอบเฝ้าระวังป้องกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และผลกระทบที่เกี่ยวเนื่องจากกิจการเหมืองแร่ รวมถึงการจัดสรรผลประโยชน์จากการพัฒนาแหล่งแร่ให้กับชุมชนในพื้นที่อย่างเป็นธรรมและทั่วถึง พร้อมด้วยการผลักดันให้ผู้ประกอบการดำเนินกิจการด้วยความเป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการ ‘เหมืองแร่สีเขียว’ เพื่อมอบรางวัลให้กับเหมืองแร่ดีเด่นที่สามารถรักษามาตรฐานการประกอบการเพื่อลดผลกระทบต่อชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน โดยคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรแร่อย่างคุ้มค่าด้วย” ดร.อดิทัต กล่าว