เปิด MOU ‘คลัง’-‘แบงก์ชาติ‘ ดันเงินเฟ้อเข้ากรอบ 1-3% เฝ้าระวัง ’เงินฝืด’

เปิด MOU ‘คลัง’-‘แบงก์ชาติ‘ ดันเงินเฟ้อเข้ากรอบ 1-3% เฝ้าระวัง ’เงินฝืด’

เปิดรายละเอียดหนังสือ ข้อตกลงร่วมกันระหว่าง กนง. และรมว.คลัง ในการกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลางและเป้าหมายสำหรับปี 2568

เปิดรายละเอียดหนังสือ ข้อตกลงร่วมกันระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงินและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในการกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลางและเป้าหมายสำหรับปี 2568 ลงนามโดยนายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย 

โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2567 มีมติเห็นชอบข้อตกลงดังกล่าวแล้ว โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

อาศัยมาตรา 28/8 แห่งพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 ที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 ซึ่งกำหนดให้คณะกรรมการนโยบายการเงินจัดทำเป้าหมายของนโยบายการเงินของปีถัดไป เพื่อดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพด้านราคา โดยทำความตกลง ร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ทำความเข้าใจและตกลงร่วมกัน ดังนี้

1. เป้าหมายของนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลางและเป้าหมายสำหรับปี 2568 ที่ 1-3% มีความเหมาะสมในการรักษาเสถียรภาพด้านราคาและมีความสอดประสานกับแนวนโยบายแห่งรัฐสภาวะทางเศรษฐกิจ และการเงินของประเทศ 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและ กนง. มีข้อตกลงร่วมกันโดยกำหนดให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 1-3% เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลาง และเป็นเป้าหมายสำหรับปี 2568 

ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายจะมีการดูแลเพื่อให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ภายในช่วงดังกล่าวอย่างเหมาะสมและไม่อยู่ในระดับ ที่สูงหรือต่ำเกินไปอย่างต่อเนื่อง โดยให้เงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในระดับกึ่งกลางของช่วงดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ 

นอกจากนี้ ยังเห็นพ้องต้องกันว่า การมีเสถียรภาพด้านราคาจะช่วยเอื้อให้ภาคเอกชนวางแผนการบริโภคและการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังช่วยรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อันเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และระบบการเงิน มีเสถียรภาพในระยะยาว 

กรอบเป้าหมายของนโยบายการเงินที่ 1-3% มีความเหมาะสมเนื่องจาก 

(1) เป้าหมายดังกล่าวเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับศักยภาพ และที่ผ่านมาสามารถยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางให้อยู่ในกรอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ในช่วงที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง

(2) ช่วง 1-3% มีความยืดหยุ่นเหมาะสมกับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่เป็นเศรษฐกิจขนาดเล็กและเปิดทำให้เงินเฟ้อไทยถูกขับเคลื่อนจากปัจจัยด้านอุปทานและปัจจัยนอกประเทศในสัดส่วนที่สูง ซึ่งการมีกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ยืดหยุ่นช่วยรองรับความผันผวนจากปัจจัยอุปทานที่จะมีมากขึ้นในระยะข้างหน้า และ

(3) การคงเป้าหมายเป็นการแสดงความตั้งใจที่จะรักษาเสถียรภาพด้านราคา อันจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่น ต่อสาธารณชนและช่วยยึดเหนี่ยวอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย

2. การบรรลุเป้าหมายของนโยบายการเงินในระยะปานกลาง

กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยจะหารือร่วมกันเพื่อให้การดำเนินนโยบายการคลังและนโยบายการเงินมีความสอดประสาน โดยการดำเนินนโยบายการเงินมุ่งที่จะดูแลภาวะเศรษฐกิจการเงินโดยใช้เครื่องมือแบบผสมผสาน ทั้งการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสมและการดูแลค่าเงินไม่ให้ผันผวนเกินไป ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเอื้ออำนวยต่อการลงทุนและรักษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 

อีกทั้งสนับสนุนมาตรการทางการเงินโดยเฉพาะการแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนและตรงจุด เพื่อดูแลแนวโน้มเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย และสนับสนุนเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้เต็มศักยภาพ

ภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น (Flexible Inflation Targeting) การดำเนินนโยบายการเงินจะพิจารณาดูแลแนวโน้มเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย ควบคู่กับดูแลการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้เต็มศักยภาพ และป้องกันไม่ให้เกิดการสะสมความเสี่ยงต่อระบบการเงิน 

โดยใช้เครื่องมือ ที่เหมาะสมและตรงจุด ทำให้นโยบายการเงินไม่ต้องตอบสนองต่อการเคลื่อนไหวของเงินเฟ้อมากเกินไปจนเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจหรือกระทบเสถียรภาพระบบการเงิน ทั้งในช่วงที่เงินเฟ้อสูงหรือต่ำจากปัจจัยชั่วคราวขณะที่เงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย 

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังและ กนง. เห็นพ้องกันว่าไม่ต้องการเห็นภาวะเงินฝืดหรืออัตราเงินเฟ้อที่ติดลบอย่างต่อเนื่องจากราคาสินค้าและบริการที่ลดลงในวงกว้างโดยมีสาเหตุมาจากเศรษฐกิจที่อ่อนแอ

3. ข้อตกลงในการติดตามและรายงานผลการดำเนินนโยบาย รวมถึงการหารือร่วมกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนโยบายการเงิน

กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยจะหารือร่วมกันเป็นประจำและ/ หรือเมื่อมีเหตุจำเป็นอื่นตามที่ทั้งสองหน่วยงานจะเห็นสมควร เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายของนโยบายการเงินได้อย่าง มีประสิทธิภาพ และเพื่อให้การดำเนินนโยบายการคลังและนโยบายการเงินเป็นไปในทิศทางที่สอดประสานกัน

กนง. จะจัดทำรายงานผลการดำเนินนโยบายการเงินทุกครึ่งปี ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับ

(1) การดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมา 

(2) แนวทางการดำเนินนโยบายการเงินในระยะถัดไป

และ (3) การคาดการณ์สภาวะเศรษฐกิจในอนาคต 

เพื่อแจ้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทราบ รวมถึงจะเผยแพร่รายงานนโยบายการเงินทุกไตรมาสเป็นการทั่วไป อันจะช่วยเพิ่มการรับรู้ของสาธารณชนถึงแนวทางการตัดสินนโยบายการเงินของ กนง. ซึ่งจะช่วยเพิ่มความโปร่งใสและประสิทธิภาพของการดำเนินนโยบายการเงินในอนาคต

4. ข้อตกลงในการออกจดหมายเปิดผนึกของ กนง. ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน

ในระยะข้างหน้า กนง. ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในปี 2568 และ 2569 จะอยู่ในกรอบเป้าหมาย อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อเผชิญกับความไม่แน่นอนสูงทั้งจากปัจจัยด้านอุปทานและปัจจัยเชิงโครงสร้าง ซึ่งอาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในบางช่วงผันผวนและเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมายได้ ดังนั้นกนง. จะติดตามและประเมินผลกระทบของปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ต่อพลวัตเงินเฟ้อไทยในระยะต่อไปอย่างใกล้ชิด 

ทั้งนี้ หากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมาหรือประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือน ข้างหน้าเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมาย กนง. จะมีจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อเป็นการสื่อสารและสร้างความเชื่อมั่นในการดูแลเสถียรภาพด้านราคาให้แก่สาธารณชน

โดยจะชี้แจงถึง

(1) สาเหตุของการเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมายดังกล่าว 

(2) แนวทางการดำเนินนโยบายการเงินในช่วง ที่ผ่านมาและในระยะต่อไปเพื่อนำอัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่เป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสม 

และ (3) ระยะเวลาที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่เป้าหมาย นอกจากนี้ กนง. จะมีจดหมายเปิดผนึกถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทุก 6 เดือน หากอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยตามแนวทางข้างต้นยังคงอยู่นอกกรอบเป้าหมาย และจะรายงานความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาเป็นระยะตามสมควร

5. ข้อตกลงในการแก้ไขเป้าหมายนโยบายการเงินหากมีเหตุจำเป็นในกรณีที่มีเหตุอันสมควรหรือจำเป็น 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ กนง. อาจตกลงร่วมกันเพื่อแก้ไขเป้าหมายของนโยบายการเงินได้ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา