เมกกะโปรเจกต์'เจ้าพระยาตะวันออก' ทุ่ม 9.5หมื่นล้านขยายคลองรังสิต

เมกกะโปรเจกต์'เจ้าพระยาตะวันออก'   ทุ่ม 9.5หมื่นล้านขยายคลองรังสิต

น้ำท่วมน้ำแล้ง คือปัญหาใหญ่ที่หลายรัฐบาลพยายามแก้ไข และทุ่มงบประมาณในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะกรมชลประทาน ที่สามารถจัดการกับความไม่แน่นอนเรื่องน้ำให้ได้ แต่ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ทำให้การขับเคลื่อนโครงการได้ล่าช้า

KEY

POINTS

  • นฤมล เสนอ ใช้วิธีร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี)โครงการก่อสร้างระบบน้ำเพื่อเตรียมน้ำต้นทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
  • ทุ่ม งบ 9.5 หมื่นล้าน เสนอ กนช. สร้าง โครงการเจ้าพระยาตะวันออก ตอนล่าง เลี่ยงน้ำเข้า กทม. 
  • สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์กรมหาชน)  หรือ พอช. ร่วมแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย ครอบคลุมพื้นที่ 19 คลอง  4,940 ครัวเรือน 

นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เพื่อขับเคลื่อนโครงการบริหารจัดการน้ำแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม ได้ยกระดับโครงการขนาดใหญ่ของกรมชลประทานเป็นโครงการรัฐบาล แต่หลายโครงการที่เตรียมดำเนินการ มีปัญหาเรื่องเงินลงทุน  และไม่สามารถกู้จากธนาคารโลก( world bank ) และธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบีี) ได้อีก เพราะไทยมีปัญหาสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่ต้องไม่เกิน 70% 

ดังนั้น โครงการก่อสร้างระบบน้ำเพื่อเตรียมน้ำต้นทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)จะต้องเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนจากที่กรมชลประทานเป็นหน่วยงานดำเนินการ เป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) ซึ่งทั้งหมดจะหารือในรายละเอียดต่อไป 

ฐนันดร์ สุทธิพิศาล รองอธิบดีฝ่ายก่อสร้าง กรมชลประทาน กล่าวว่า ขณะนี้หลายโครงการของชลประทานถูกยกเลิกสัญญา เพราะผู้รับเหมาทิ้งงาน ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำ ดังนั้นกรมชลประทานโดยกระทรวงเกษตรฯต้องเร่งหาวิธีดำเนินโครงการเพื่อให้สามารถมีเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำ ให้มีประสิทธภาพ เช่นเดียวกับการเติมน้ำให้กับ อีอีซี ที่จำเป็นต้องดำเนินการต่อ โดยอาจให้เอกชนมาร่วมลงทุน “ระบบส่งน้ำ”

อย่างไรก็ตาม รายละเอียดเงื่อนไขต้องหารือกันว่าจะดำเนินการอย่างไร เพื่อให้ประชาชน ประเทศชาติได้ประโยชน์มากที่สุด สำหรับโครงการในอีอีซี หากต้องร่วมลงทุนแบบ พีพีพี ไม่ใช่การลงทุนใหม่แต่เป็นการลงทุนเพียงระบบท่อ เพื่อให้ต้นทุนน้ำที่ได้จากเขื่อนเดิม ที่กรมชลประทานมีอยู่แล้ว

เมกกะโปรเจกต์\'เจ้าพระยาตะวันออก\'   ทุ่ม 9.5หมื่นล้านขยายคลองรังสิต

ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมภัยแล้งในปี 2568 กรมชลประทานเตรียมเสนอ 5 โครงการ เข้าที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ในวันที่ 6 ม.ค.2568  หากได้รับความเห็นชอบ จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป  ประกอบด้วย  1. โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง วงเงิน 95,000 ล้านบาท ระยะเวลาดําเนินการ 6 ปี (ปี2569 – 2574) เป้าหมายเพื่อระบายน้ำเลี่ยงกรุงเทพฯ  ถือเป็นโครงการเร่งด่วน

2.โครงการเป็นการขอขยายระยะเวลาการดําเนินงานของโครงการสําคัญด้านทรัพยากรน้ำ ได้แก่1.โครงการประตูระบายน้ำศรีสองรักอันเนื่องมาจากพระราชดําริ จังหวัดเลยจากเดิม6ปี (ปีงบประมาณ2561 - 2566)เป็น10ปี (ปีงบประมาณ2561 - 2570)ภายใต้กรอบวงเงินโครงการที่ได้รับอนุมัติไว้เดิม5,000ล้านบาท

3.โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราชอันเนื่องมาจากพระราชดําริ จังหวัดนครศรีธรรมราช จากเดิม6ปี (ปีงบประมาณ 2561- 2566)เป็น10ปี (ปีงบประมาณ2561 - 2570)ภายใต้กรอบวงเงินโครงการที่ได้รับอนุมัติไว้เดิม9,580ล้านบาท

4. โครงการประตูระบายน้ำบ้านก่อ พร้อมระบบส่งน้ำ จังหวัดสกลนคร จากเดิม 5 ปี (ปีงบประมาณ 2562 - 2566) เป็น 9 ปี (ปีงบประมาณ 2562 - 2570)ภายใต้กรอบวงเงินโครงการที่ได้รับอนุมัติไว้เดิม 1,249 ล้านบาท 

5. โครงการประตูระบายน้ำลำน้ำพุงจากเดิม 5 ปี (ปีงบประมาณ 2562 - 2566) เป็น 9 ปี (ปีงบประมาณ 2562 - 2570ภายใต้กรอบวงเงินโครงการที่ได้รับอนุมัติไว้เดิม 2,100 ล้านบาท

 สำหรับโครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง แบ่งการดำเนินการเป็น 8 Zone โดยจะปรับปรุงโครงข่ายคลองชลประทานเดิม จำนวน 22 คลอง (คลองหลัก)ความยาวรวม 462.80 กิโลเมตร(กม.)  ก่อสร้าง/ปรับปรุงอาคารชลประทานจำนวน 23 อาคาร เป็นการก่อสร้างใหม่ 12 อาคาร  ปรับปรุงอาคารบังคับน้ำ 10 อาคาร ปรับปรุงสถานีสูบน้ำ 1อาคาร 

หากก่อสร้างแล้วเสร็จ จะเพิ่มอัตราการระบายน้ำจากเดิม 210 เป็น 400ลูกบาตร์เมตรต่อวินาที(ลบ.ม.)   สามารถป้องกันและลด ปัญหาพื้นที่น้ำท่วม 298,250 ไร่ บริเวณพื้นที่ชุมชนและเขตเศรษฐกิจที่สำคัญ  

นอกจากนี้จะเป็นแหล่งเก็บกักน้ำในคลองช่วงฤดูแล้งเพิ่มขึ้น 17 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี  อีกทั้งยังได้ผลประโยชน์ทางอ้อม (Indirect benefit)ที่ไม่สามารถประเมินเป็นตัวเงินที่ชัดเจนได้  เช่น จะทำให้เกิดผลประโยชน์ต่อสังคม ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  ช่วยรักษาระบบนิเวศ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ เป็นต้น

 สำหรับแผนดำเนินการจัดการสิ่งรุกล้ำ  กรมชลประทาน ได้ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์กรมหาชน)  หรือ พอช. เพื่อแผนงานก่อสร้าง และแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยที่ดำเนินการโดยพอช.  ครอบคลุมพื้นที่ 19 คลอง  สิ่งปลูกสร้างในเขตคลอง 4,940 หลัง                   มีกำหนดกรอบเวลาดำเนินการได้แก่   1. คลองระพีพัฒน์ดำเนินการ ปี พ.ศ. 2568–2572 , 2. คลอง 10 ดำเนินการ ปี พ.ศ. 2568–2571 , 3. คลองระพีพัฒน์แยกใต้ ดำเนินการ ปี พ.ศ. 2568–2572 , 4. คลองรังสิตประยูรศักดิ์ ดำเนินการ ปี 2568–2571 ,5. คลอง 14 ดำเนินการ ปี พ.ศ. 2568–2572 , 6. คลอง 15 ดำเนินการ ปี พ.ศ. 2568–2572,7 คลอง16 ดำเนินการ ปี พ.ศ. 2568-2572 

        8. คลอง 17 ดำเนินการ ปี พ.ศ. 2568–2572 , 9. คลองหกวาสายล่าง ดำเนินการ ปี พ.ศ. 2568–2572 , 10. คลองพระองค์ไชยานุชิตดำเนินการ ปี พ.ศ. 2567–2572 , 11. คลองหลวงแพ่ง ดำเนินการ ปี พ.ศ. 2568–2571 , 12. คลองอุดมชลจร ดำเนินการ ปี พ.ศ. 2568–2571 

       13. คลองชวดพร้าว-เล้าหมู-บางพลีน้อย ดำเนินการ ปี 2568–2572 , คลองนครเนื่องเขต ดำเนินการ ปี พ.ศ. 2568-2572 , 15. คลองประเวศบุรีรมย์ ดำเนินการ ปี พ.ศ. 2568–2574 , 16. คลองปีกกา ดำเนินการ ปี พ.ศ. 2568–2569,17. คลองตาเอี่ยม ดำเนินการ ปี พ.ศ. 2568–2571, 18. คลองด่าน ดำเนินการ ปี พ.ศ. 2568–2572, 19. คลองสำโรง ดำเนินการ ปี พ.ศ. 2568–2571

สำหรับขั้นตอนดำเนิน หากผ่านความเห็นชอบจากกนช. จะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อพิจารณาหากได้รับเห็นชอบจะเข้าสู่กระบวนการก่อนเปิดให้เอกชนยื่นข้อ เพื่อพิจารณาและคัดเลือกเอกชนดำเนินการโครงการตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งหากเป็นไปตามเเผนก็จะทำให้ปัญหาน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกได้รับการแก้ไข