เกษตรฯเล็งแก้กฎหมายรับมือข้อกีดกัน ความเป็นกลางทางคาร์บอน

เกษตรฯเล็งแก้กฎหมายรับมือข้อกีดกัน ความเป็นกลางทางคาร์บอน

เกษตรฯ เสนอแก้กฎหมาย พร้อมร่วมเอกชน รับมือข้อกีดกันทางการค้าจากความเป็นกลางทางคาร์บอน คาร์บอนเครดิต สร้างความมั่นใจในตลาดโลก และยกระดับความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตรไทยอย่างยั่งยืน

นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการพิจารณาทบทวนระเบียบและกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างความสามารถในการแข่งขันของภาคการเกษตร ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาภาคการเกษตรไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อขจัดข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกสินค้าเกษตร ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ การปรับลดชนิดพืชที่ต้องตรวจสอบสารพิษตกค้างจาก 15 ชนิด เหลือเพียง 6 ชนิด เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้า มาตรการนี้ช่วยลดต้นทุน เพิ่มความคล่องตัว และสร้างความมั่นใจให้กับผู้นำเข้าปลายทาง โดยเฉพาะในสหภาพยุโรป นอร์เวย์ และสมาพันธรัฐสวิส

เกษตรฯเล็งแก้กฎหมายรับมือข้อกีดกัน ความเป็นกลางทางคาร์บอน

 ที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินงานเชิงรุกอย่างใกล้ชิดกับสมาคมผู้ประกอบการ เพื่อแก้ไขระเบียบที่ล้าสมัย อาทิ การปรับปรุงการออกใบรับรองสุขอนามัยพืช (Phyto Certificate) และการปลดล็อกมาตรการควบคุมพิเศษ (EL) สำหรับพืชบางชนิด เช่น คะน้า ถั่วฝักยาว และกวางตุ้ง ซึ่งช่วยลดภาระผู้ส่งออก สนับสนุนการผลิตพืชคุณภาพ และเพิ่มความมั่นใจแก่ผู้นำเข้าปลายทาง ความสำเร็จเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทเชิงรุกของกรมวิชาการเกษตรในการสนับสนุนภาคการเกษตรอย่างเป็นรูปธรรม

โดยการประชุมครั้งนี้ยังพิจารณาครอบคลุมแนวทางการแก้ไขปัญหาและปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาคปศุสัตว์และประมง ซึ่งต้องเผชิญกับข้อกำหนดระหว่างประเทศ เช่น มาตรฐานสุขอนามัย ความปลอดภัยอาหาร กฎระเบียบ EU Deforestation Regulation (EU DR) รวมถึงประเด็นด้าน ความเป็นกลางทางคาร์บอนและคาร์บอนเครดิต ซึ่งกำลังเป็นข้อกำหนดสำคัญที่ประเทศคู่ค้าเริ่มนำมาใช้และอาจกลายเป็นเครื่องมือกีดกันทางการค้าในอนาคต ภาครัฐและเอกชนจึงต้องร่วมกันเร่งหามาตรการรับมืออย่างเป็นระบบ

เกษตรฯเล็งแก้กฎหมายรับมือข้อกีดกัน ความเป็นกลางทางคาร์บอน

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการฯ กล่าวว่า “การประชุมครั้งนี้ไม่เพียงเป็นก้าวสำคัญในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เช่น อุปสรรคในการส่งออกหรือข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมและคาร์บอนเครดิตที่อาจเป็นเครื่องมือกีดกันทางการค้าในอนาคต แต่ยังเน้นการวางรากฐานด้านกฎหมายที่สนับสนุนการพัฒนาภาคการเกษตรในระยะยาว อาทิ การส่งเสริมและยกระดับบริการภาคการเกษตร และการผลักดันกฎหมายใหม่ ๆ ที่ตอบสนองต่อความต้องการของอุตสาหกรรมการเกษตรยุคใหม่ เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืนและสมดุลในตลาดโลก”

ทางด้านนางสาววิภาวลี วัจนาภิญโญ นายกสมาคมผู้ประกอบการพืชผักผลไม้ไทย  กล่าวว่า การปรับแก้กฎระเบียบครั้งนี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในตลาดโลก ลดการหยุดชะงักทางการค้า และป้องกันการสูญเสียตลาดให้แก่คู่แข่ง  ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีแสดงถึงความมุ่งมั่นและความสามารถในการสนับสนุนภาคการเกษตรไทยในทุกมิติ

ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตรในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการฯ จะร่วมมือกับหน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรฯ ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) กรมปศุสัตว์ กรมประมง และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ เพื่อดำเนินการศึกษา วิจัย และพัฒนามาตรการที่เหมาะสมสำหรับทุกภาคส่วนของการเกษตร

โดยรายงานข้อสรุปจากการประชุมครั้งนี้จะถูกนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อผลักดันแนวทางดังกล่าวให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ที่สำคัญการประชุมครั้งนี้สะท้อนถึงความร่วมมือที่เข้มแข็งระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อปลดล็อกข้อจำกัดในภาคการเกษตร สร้างความมั่นใจในตลาดโลก และยกระดับความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตรไทยอย่างยั่งยืน