'หนี้ครัวเรือน-สิ่งแวดล้อม'โจทย์ ปฎิรูปเชิงโครงสร้างสู่“เกษตรมูลค่าสูง”
กรมส่งเสริมการเกษตร ดันเกษตรมูลค่าสูง เพิ่มรายได้ 3 เท่าในปี 70 ทางแก้โครงสร้างภาคการเกษตร จบหนี้ครัวเรือนพุ่งแตะ 86 %
องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ โออีซีดี จะประเมินว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกในปี 2568 จะเติบโต 2.5 % ใกล้เคียงกับไทยที่คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 2.6 % แต่หากเจาะเข้าไปในภาคเอกชน จะพบว่าภาคธุรกิจมีอัตราการเติบโตชะลอตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการระบาดของโรคโควิด-19ที่ยังสร้างปัญหาให้กับครัวเรือนไทยอย่างต่อเนื่อง จากความเจ็บป่วย ไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ ต้องดึงเงินออมมาใช้จ่าย ทำให้หนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้น สูงถึง 86 %
ดังนั้น ประชาชนจึงต้องประหยัดมากขึ้น การใช้จ่ายจึงไม่หวือหวา แม้ภาครัฐจะมีโครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาทเพื่อให้เกิดหมุนเวียนในชุมชนแต่ก็คาดว่าจะช่วยกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ประมาณ 0.1-1 % ของผลิตภัณฑ์มวลประชาชาติ (จีดีพี) ประกอบกับภาคการเกษตรได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่ส่งผลให้อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นแตะ 40 องศาเชลเซียส ทำให้ไม้ผลติดดอกออกผลไม่ตรงตามฤดูกาล ผลผลิตที่ได้ไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ และมีโรคแมลงตามมา
พีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า จากความกดดันจากภาวะเศรษฐกิจและปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมทำให้เกษตรกรต้องปรับตัว ไม่สามารถจะทำเกษตรแบบดั่งเดิมได้อีกต่อไป การทำเกษตรเชิงเดี่ยวไม่ตอบโจทย์ภาคการเกษตรที่ยั่งยืน จำเป็นพึ่งพาเทคโนโลยีเพื่อให้เกิดความแม่นยำและสร้างเกษตรมูลค่าสูง
โดยรัฐบาลมุ่งเป้าเพื่อยกระดับการทำเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรทันสมัย มุ่งเน้นให้นำเทคโนโลยี ด้านการเกษตร มาใช้พัฒนาอาชีพด้านการเกษตร ดึงจุดเด่นของประเทศไทยเพื่อตอบสนองความต้องการของโลกด้านความมั่นคงทางอาหาร เร่งเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและราคาพืชผลการเกษตร รวมทั้งยกระดับรายได้ ของเกษตรกร
นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นในเรื่องการจัดการที่ดินทำดินให้เกษตรกรและการบริหารจัดการน้ำ โดยจะต้องเชื่อมโยงกับทุกหน่วยงานในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
ตามนโยบายของรัฐบาล ด้วยแนวคิด “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” กระทรวงเกษตรฯมีเป้าหมาย ยกระดับสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง ด้วยการสร้าง Brand หรือ Story ของจังหวัด/อำเภอ เน้นการผลิตสินค้าเกษตร ที่มีคุณภาพ รวมถึงส่งเสริมการสร้างอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร
"การยกระดับสินค้าเกษตร รวมถึงส่งเสริมการสร้างอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร การขับเคลื่อนมีกรอบระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 – 2570) เป้าหมายเมื่อสิ้นสุดโครงการสามารถสร้างสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูงด้านพืช แมลงเศรษฐกิจ และบริการ เชิงสร้างสรรค์ รวมทั้งด้านปศุสัตว์ และด้านประมง ได้ไม่น้อยกว่า 500 ตำบล เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่า ภายในปี 2570 สามารถลดปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาดได้ในระยะยาว กลุ่มเกษตรกรมีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเอง และสามารถขยายผลสู่เกษตรกรกลุ่มอื่นได้"
การขับเคลื่อนสินค้าเกษตรมูลค่าสูง มีกลยุทธ์หลักในการสร้างโอกาสเพื่อยกระดับมูลค่าสินค้า และยกระดับรายได้สุทธิทางการเกษตรให้เพิ่มขึ้น 3 เท่า ภายในปี 2570 ดังนี้ ด้วยการใช้ตลาดนำการผลิต การปรับเพิ่มผลผลิตภาพการผลิต การพัฒนามาตรฐานและคุณค่าใหม่ และความสร้างความหลากหลายสินค้า และรายได้ ด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยี ดังนี้
วิเคราะห์ตลาดและประเมินสุขภาพการเงินธุรกิจ การใช้ข้อมูลแนวโน้มสภาพแวดล้อมเพื่อประเมินความเสี่ยงและปรับสมดุลให้เหมาะสม ใช้โอกาส และจังหวะให้เกิดประโยชน์ (เช่น ข้อมูลสภาพอากาศ ปริมาณฝน ความชื้นสัมพัทธ์ฯลฯ) การจัดทำ Farm Layout จัดทรัพยากรที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด และการจัดสมดุลพลังงงานเพื่อให้เจริญเติบโตแต่ละระยะเป็นไป อย่างสมบูรณ์ การจัดการโรค แมลงศัตรูพืชแบบผสมผสาน
ตัวอย่าง ผลสำเร็จแปลงลำไย ตำบลชมภู อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ส่งผลให้ประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้น 1,480 กก./ไร่ เพิ่มขึ้น 148% จากที่ผ่านมา โดยการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานด้วยเทคโนโลยี (Lean and Clean Solution) โดยการวิเคราะห์ตลาดประเมินสุขภาพการเงินธุรกิจ โดยการพฤติกรรมตลาด แนวโน้มกำไรสุทธิ กระแสเงินสดและสินค้าคงเหลือ ใช้ข้อมูลแนวโน้มสภาพแวดล้อม เพื่อประเมินความเสี่ยง และปรับสมดุลให้เหมาะสม ใช้โอกาสและจังหวะให้เกิดประโยชน์ รวมถึงการใช้แสง ความเข้มของแสง อุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน เป็นต้น
นอกจากนี้นำการจัดการโรค และแมลงศัตรูพืชแบบผสมผสาน และการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การจัดทำตลาดช่องทางใหม่ ๆ รวมถึงรายได้ปลูกพืชหมุนเวียน รวมถึงส่งเสริม ช่องทางการขายผ่านตลาด Modern Trade จำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ ส่งผลให้อัตราการเติบโตของรายได้รวมการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ก่อน 35,000 บาท/ปี และหลัง 83,280 บาท/ปี คิดเป็น +138%
นอกจากนี้ยังมีผลสำเร็จแปลงมะม่วง ตำบลหนองหิน อำเภอหนองกุงศรี จังหวัดกาฬสินธุ์ ส่งผลให้ประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้น 1,800 กก./ไร่ เพิ่มขึ้น 13.71% จากที่ผ่านมา โดยการจัดสมดุลพลังงานเพื่อให้ พืชสามารถเจริญเติบโต แต่ละระยะเป็นไปอย่างสมบูรณ์ (ใบ ดอก ผล) ตามโอกาส/จังหวะ สภาพแวดล้อม ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน เพื่อลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ รวมถึง การส่งเสริมให้เกิดการเก็บเกี่ยว 120 วันหลังดอกบาน รวมถึงการขนส่งด้วยระบบ cold chain ส่งผลให้อัตราการเติบโตของรายได้รวมการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ก่อน 17,439 บาท/ปี และหลัง 50,000 บาท/ปี คิดเป็น +340.52%
อีกกลุ่มตัวอย่างคือ ผลสำเร็จแปลงใหญ่กาแฟ บ้านบางปูเลาะ ตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ส่งผลให้ประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้น เป็น 510 กก./ไร่ เพิ่มขึ้น 49% จากที่ผ่านมา อัตราการเติบโตของรายได้รวม การเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ก่อน 16,333 บาท/ปี และหลัง 24,955 บาท/ปี คิดเป็น +52.79%
ทั้งนี้ ในปี 2568 กรมส่งเสริมการเกษตรอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดเก็บข้อมูลในแบบสัมภาษณ์ข้อมูลพื้นฐานเพื่อประเมินความ
เหมาะสมสู่การพัฒนาศักยภาพสินค้าเกษตรโครงการส่งเสริมและพัฒนาเพื่อเข้าสู่ ห่วงโซ่อุปทานและบริการมูลค่าสูง ปี 2568 โดยเน้นย้ำให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกร จัดทำแผนธุรกิจการเกษตรจากความต้องการของเกษตรกรและสอดคล้องกับความต้องการของตลาด
ควบคู่ไปกับ การวางรากฐานในการสร้างหรือพัฒนาระบบนิเวศทางการเกษตรที่เอื้ออำนวยต่อการผลิต สินค้าเกษตรภายในท้องถิ่นนั้น ๆ ให้เกิดประสิทธิภาพ มีคุณภาพที่ดี เพียงพอต่อความต้องการของตลาดและขายได้ในราคาที่สมเหตุสมผลโดยอาศัยกลไกการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ภายในท้องถิ่น บูรณาการทำงานร่วมกัน ทั้งเกษตรกร หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม พร้อมด้วยสถาบันการศึกษา และองค์กรทางวิชาการ ในการกำหนดแนวทางพัฒนาการเกษตรของท้องถิ่น ให้เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ และเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อยกระดับรายได้ของครัวเรือนเกษตรกรให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้เข้มแข็งตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล