อวสานสายดื่ม ไวน์วันละแก้วก็อาจเสี่ยงมะเร็ง แพทย์ชี้ไม่มีระดับที่ปลอดภัย

อวสานสายดื่ม ไวน์วันละแก้วก็อาจเสี่ยงมะเร็ง แพทย์ชี้ไม่มีระดับที่ปลอดภัย

อวสานสายดื่มเพื่อสุขภาพ การดื่มไวน์วันละแก้วไม่ได้ช่วยอะไร! แพทย์ชี้ บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณน้อยแค่ไหนก็ไม่ปลอดภัย

KEY

POINTS

  • ดื่มไวน์วันละแก้วแล้วดี ไม่มีจริง! ข้อมูลอัปเดตล่าสุดจากองค์กรศัลยแพทย์ใหญ่ Vivek Murthy ของสหรัฐฯ ชี้ แม้ปริมาณแอลกอฮอล์เพียงเล็กน้อยก็อาจเป็นอันตรายได้ และอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็ง
  • การศึกษาวิจัยใหม่ค้นพบความเชื่อมโยงชัดเจน ระหว่างการดื่มแอลกอฮอล์กับความเสี่ยงที่สูงขึ้นในการเกิดมะเร็ง 7 ประเภท รวมทั้งมะเร็งเต้านม
  • แพทย์เรียกร้องให้ผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เบียร์และสุรา ปรับปรุงฉลากคำเตือน โดยให้ระบุครอบคลุมถึงความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งด้วย

มันจะมีความเชื่อหนึ่งที่บอกว่า “ดื่มไวน์วันละแก้วแล้วดีต่อสุขภาพ” ชุดคำพูดนี้ถูกส่งต่อกันมานานหลายปี โดยอ้างงานวิจัยชุดเก่าที่ระบุว่า ดื่มไวน์ปริมาณเล็กน้อยวันละแก้วอาจเป็นทางเลือกที่ดีต่อหัวใจ (ซึ่งไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน) ขณะเดียวกัน มักจะมีคำเตือนให้ระวังเกี่ยวกับการใช้สารเสพติดหรือของมึนเมาอื่นๆ เช่น บุหรี่ ฯลฯ มากกว่าคำเตือนเกี่ยวกับการดื่มไวน์เสมอ แต่ตอนนี้มีข้อมูลอัปเดตใหม่ล่าสุด ที่ทำให้ความเชื่อดั้งเดิมดังกล่าวถูกหักล้างไปหมดสิ้น

ยกตัวอย่างเช่น ก่อนหน้านี้แนวทางด้านโภชนาการของสหรัฐฯ สำหรับคนอเมริกัน ในภาพรวมแนะนำให้ผู้คนหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก แต่ยังพบคำแนะนำในแง่ของการดื่มปริมาณน้อยด้วย โดยระบุให้ผู้ชายดื่มไม่เกิน 2 แก้วต่อวัน และผู้หญิงดื่มไม่เกิน 1 แก้วต่อวัน

แอลกอฮอล์เป็นสาเหตุโรคมะเร็งอย่างชัดเจน ดื่มน้อยแค่ไหนก็ไม่ปลอดภัย!

แต่ล่าสุด..มีคำแนะนำใหม่ล่าสุดขององค์กรศัลยแพทย์ใหญ่ Vivek Murthy ของสหรัฐฯ ซึ่งระบุว่า แม้ปริมาณแอลกอฮอล์เพียงเล็กน้อยก็อาจเป็นอันตรายได้ และอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งได้

“ถ้างดดื่มก็ป้องกันได้ เพราะแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งอย่างชัดเจน โดยก่อให้เกิดโรคมะเร็งประมาณ 100,000 กรณีต่อปี และมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง 20,000 รายต่อปีในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมากกว่าการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ 13,500 รายต่อปีในสหรัฐอเมริกา แต่คนอเมริกันส่วนใหญ่ไม่ทราบถึงความเสี่ยงนี้” นี่คือข้อมูลล่าสุดตามรายงานชุดใหม่

ไม่เพียงเท่านั้น องค์กรศัลยแพทย์ใหญ่ฯ ยังได้ชี้ให้เห็นถึงการศึกษาวิจัยใหม่ที่ค้นพบความเชื่อมโยงชัดเจน ระหว่างการดื่มแอลกอฮอล์กับความเสี่ยงที่สูงขึ้นในการเกิดมะเร็ง 7 ประเภท รวมทั้งมะเร็งเต้านมด้วย

“ปัจจุบันเราทราบแล้วว่าไม่มีระดับที่ปลอดภัยสำหรับการดื่มแอลกอฮอล์ และแอลกอฮอล์ก็เป็นสารก่อมะเร็ง กลไกการทำลายเซลล์ของสารนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า มันก่อให้เกิดความเครียดจากออกซิเดชันและทำลายการซ่อมแซม DNA รวมถึงกลไกอื่นๆ ที่นำไปสู่ความผิดปกติของเซลล์จนก่อตัวเป็นมะเร็ง” ดร.ฟาอิซ โบรา (Faiz Bhora) ศาสตราจารย์ด้านศัลยกรรมและหัวหน้าภาควิชาศัลยกรรม ประจำภูมิภาคที่ Hackensack Meridian Health และ Hackensack Meridian School of Medicine เน้นย้ำให้เห็นภาพชัดเจน

ผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควรใส่ฉลากคำเตือนให้ครอบคลุมความเสี่ยงมะเร็ง

ศัลยแพทย์ทั่วไปเรียกร้องให้ผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เบียร์และสุรา ปรับปรุงฉลากคำเตือนให้ครอบคลุมถึงความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งด้วย ปัจจุบันเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ส่วนใหญ่ มักจะมีชุดคำเตือนเพียงแค่ว่า ไม่ให้สตรีมีครรภ์บริโภคและไม่ให้ขับรถขณะเมา ซึ่งยังไม่ครอบคลุมความเสี่ยงทางสุขภาพอื่นๆ 

“การติดฉลากคำเตือนบนสารที่เป็นพิษอย่างชัดเจน ยังคงเป็นแรงกดดันทางสังคมและการเมือง ที่ขัดขวางเราไม่ให้ทำสิ่งที่ถูกต้อง” ดร.ฟาอิซ บอก อย่างไรก็ตาม มีรายงานจาก CNBC ระบุว่า หุ้นของผู้ผลิตแอลกอฮอล์หลายราย รวมถึง Molson-Coors และ Anheuser-Busch ลดลงมากกว่า 1% หลังจากมีการเผยแพร่คำแนะนำดังกล่าวในช่วงแรกๆ”

แม้แต่ข้ออ้างก่อนหน้านี้ที่ระบุว่า การดื่มไวน์แดงวันละแก้วมีผลดีก็ยังเป็นที่น่าสงสัย การศึกษาในอดีตที่แสดงให้เห็นว่าการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณเล็กน้อยทุกวัน สามารถลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจได้ กำลังถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาใหม่อีกครั้งว่ามีความจริงที่พิสูจน์ได้หรือไม่? อ้างตามรายงานของ The New York Times เมื่อเร็วๆ นี้ 

อวสานสายดื่ม ไวน์วันละแก้วก็อาจเสี่ยงมะเร็ง แพทย์ชี้ไม่มีระดับที่ปลอดภัย

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นเพียงไม้ค้ำยันในการเข้าสังคมเท่านั้น

ดร.ฟาอิซ สะท้อนมุมมองของเขาว่า การจะหาประโยชน์จากการดื่มแอลกอฮอล์นั้นเป็นเรื่องยาก แม้บางคนจะบอกว่ามันมีข้อดีคืออาจช่วยลดความเครียดได้ แต่สำหรับเขาเองก็ไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่านั่นจะเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่

“เราเคยได้ยินเรื่องเล่าเกี่ยวกับผู้สูงอายุวัย 80-90 ปี ที่ใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพดีและมักจะเชื่อมโยงการมีอายุยืนยาวเหล่านี้เข้ากับพฤติกรรมการดื่มไวน์หรือสก็อตช์ ผมไม่แน่ใจว่ามีความสัมพันธ์ทางวิทยาศาสตร์ใดๆ กับเรื่องนี้ด้วยซ้ำ” เขากล่าวเสริม

การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้หยั่งรากลึกในวัฒนธรรมของมนุษย์ และผู้คนใช้มันเป็นไม้ค้ำยันในการเข้าสังคม และด้วยเหตุผลทางอารมณ์ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันผู้คนรู้สึกสบายใจมากที่จะปฏิเสธเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ร้านอาหารหรือในงานปาร์ตี้ด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ ซึ่ง ดร.ฟาอิซ มองว่านั่นเป็นหนทางที่ควรได้รับการสนับสนุนเป็นขั้นตอนแรก

วิธีลด ละ เลิก การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้เริ่มจาก 'เลิกคิดที่จะดื่มวันละแก้ว' 

สำหรับผู้ที่ใส่ใจสุขภาพจริงๆ และอยากเริ่มต้นงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดร.ฟาอิซแนะนำว่า “เลิกคิดที่จะดื่มวันละแก้วก็ดีนะ” แล้วพยายามค่อยๆ ลดลงไปเรื่อยๆ จากที่เคยดื่มทุกวันก็ลดเหลือดื่มเฉพาะวันหยุดสุดสัปดาห์เท่านั้น หากคุณรู้สึกอยากทำจริงๆ ก็สามารถค่อยๆลดปริมาณการดื่ม แล้วในที่สุดก็จะเลิกดื่มโดยสิ้นเชิงได้

“เพื่อนและเพื่อนร่วมงานของผมหลายคนที่เลิกดื่มแอลกอฮอล์หรือลดการบริโภคลงอย่างมาก พบว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วยให้พวกเขารู้สึกโล่งใจ เบาอกเบาใจ พวกเขาไม่จำเป็นต้องใช้มันในการโต้ตอบทางสังคมอีกต่อไป แถมยังทำให้สมองเฉียบคม คิดสิ่งต่างๆ ชัดเจนมากขึ้น รวมถึงทำให้สามารถทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย” ดร.ฟาอิซ สรุปถึงข้อดีของการงดดื่มแอลกอฮอล์ในท้ายที่สุด