'เครื่องดื่มแอลกอฮอล์' อาจตามรอยบุหรี่ สหรัฐเสนอ 'แปะฉลากเตือนมะเร็ง'

'เครื่องดื่มแอลกอฮอล์' อาจตามรอยบุหรี่ สหรัฐเสนอ 'แปะฉลากเตือนมะเร็ง'

สหรัฐเสนอขึ้นฉลากคำเตือนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามรอยบุหรี่ หลังเจ้ากรมการแพทย์สหรัฐเตือนความเสี่ยงมะเร็งจากแอลกอฮอล์ ฉุดหุ้นบริษัทเครื่องดื่มน้ำเมาร่วงหนัก

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า เจ้ากรมการแพทย์สหรัฐ (Surgeon General) ได้ออกประกาศเตือนฉบับใหม่เมื่อวันศุกร์ที่ 3 ม.ค. เกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างการดื่มแอลกอฮอล์และความเสี่ยงเป็นมะเร็งที่เพิ่มขึ้น พร้อมผลักดันให้มีการ "ติดฉลากคำเตือนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามรอยบุหรี่" เพื่อหวังลดจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งที่เกี่ยวเนื่องกับแอกอฮอล์ ส่งผลให้ราคาหุ้นบริษัทเครื่องดื่มน้ำเมาหลายรายร่วงลงถ้วนหน้า 
 

นายแพทย์วิเวก เมอร์ตี เจ้ากรมการแพทย์สหรัฐ กล่าวว่ามีความเชื่อมโยงที่ “ชัดเจน” ระหว่างการดื่มแอลกอฮอล์กับมะเร็ง อย่างน้อย 7 ชนิด ซึ่งรวมถึงมะเร็งเต้านม ลำไส้ใหญ่ หลอดอาหาร และตับ โดยสำหรับมะเร็งต่างๆ เช่น มะเร็งเต้านม ช่องปาก และลำคอ ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นอาจเริ่มต้นที่ประมาณ 1 แก้วต่อวันหรือต่ำกว่านั้น

ภายใต้คำเตือนล่าสุดนี้ เจ้ากรมการแพทย์สหรัฐ ยังเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายเพื่อช่วยลดโรคมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ โดยเสนอให้มีการ "ติดฉลากเตือนที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์" ให้ชัดเจนขึ้น และใส่คำเตือนถึงความเสี่ยงที่มากขึ้นต่อโรคมะเร็ง 

\'เครื่องดื่มแอลกอฮอล์\' อาจตามรอยบุหรี่ สหรัฐเสนอ \'แปะฉลากเตือนมะเร็ง\'

การติดฉลากเตือนดังกล่าวเป็นการประเมินข้อเสนอจากการวิจัยล่าสุดเพื่อจำกัดการบริโภคแอลกอฮอล์ และขยายการศึกษาเพื่อเพิ่มการตระหนักรู้ทั่วไปว่าการบริโภคแอลกอฮอล์เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง โดยความพยายามครั้งล่าสุดนี้คล้ายคลึงกับที่เคยมีการดำเนินการไปแล้วกับ "บุหรี่" ที่มีการแปะฉลากคำเตือนทั้งบนซองบุหรี่และเชลฟ์จำหน่ายตามร้าน 

ความเคลื่อนไหวนี้ส่งผลให้ "ราคาหุ้น" ของบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลายรายปรับตัวลง เช่น Molson-Coors และ Anheuser-Busch ลดลงมากกว่า 1% ในการซื้อขายช่วงแรกหลังจากมีข่าวดังกล่าว

\'เครื่องดื่มแอลกอฮอล์\' อาจตามรอยบุหรี่ สหรัฐเสนอ \'แปะฉลากเตือนมะเร็ง\'

ทั้งนี้ จากคำเตือนของเจ้ากรมการแพทย์สหรัฐระบุว่า การดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุใหญ่สุดอันดับ 3 ของโรคมะเร็งที่ป้องกันได้ในสหรัฐ รองจากบุหรี่และโรคอ้วน

“แอลกอฮอล์เป็นสาเหตุของมะเร็งที่ป้องกันได้อย่างชัดเจน โดยก่อให้เกิดมะเร็งประมาณ 100,000 รายและเสียชีวิตจากมะเร็ง 20,000 รายต่อปีในสหรัฐ ซึ่งมากกว่าการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ 13,500 รายต่อปีในประเทศ แต่ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ไม่ทราบถึงความเสี่ยงนี้” นพ.เมอร์ตี กล่าว

คำแนะนำยังระบุว่า ผู้ใหญ่ชาวอเมริกัน 72% ระบุว่าพวกเขาดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 1 แก้วต่อสัปดาห์ ระหว่างปี 2019 ถึง 2020 โดยในจำนวนนี้มีกลุ่มตัวตัวอย่างไม่ถึงครึ่งที่ทราบถึงความเชื่อมโยงระหว่างการดื่มและความเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง 

จากข้อมูลพบว่าในปี 2020 มีผู้ป่วยโรคมะเร็ง 741,300 รายทั่วโลกที่เป็นผลเกี่ยวเนื่องจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และโดยเฉลี่ยแล้วการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์จะทำให้อายุสั้นลงประมาณ 15 ปี

ปัจจุบัน "คนอเมริกันรุ่นใหม่เริ่มห่างหายจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น" และหลายคนหันไปดื่มเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์แทน จากการสำรวจของแกลลัพโพลล์ เมื่อเดือนส.ค. 2567 พบว่า กลุ่มผู้ใหญ่ในช่วงต้นๆ อายุระหว่าง18-34 ปี ประมาณ 2 ใน 3 คนระบุว่าการดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ซึ่งถือเป็นจำนวนมากเมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ใหญ่อายุ 35 ถึง 54 ปี และ 55 ปีขึ้นไป ซึ่งมีไม่ถึง 40% ที่ระบุว่าการดื่มแอลกอฮอล์ส่งผลเสียต่อสุขภาพ