วิจัยพบ ‘ทุเรียนจีน’ มีสารต้านมะเร็งต่ำ! น้อยกว่าทุเรียนไทย 540,000 เท่า

วิจัยพบ ‘ทุเรียนจีน’ มีสารต้านมะเร็งต่ำ! น้อยกว่าทุเรียนไทย 540,000 เท่า

วิจัยล่าสุดเผย ทุเรียนที่ปลูกในจีนสู้ไทยไม่ได้! มีสารอาหารต้านอนุมูลอิสระต่ำ โดยทุเรียนหมอนทองที่ปลูกในจีน ไม่พบสารเควอซิทินที่ช่วยต้านมะเร็ง ส่วนทุเรียนก้านยาวในจีนมีสารต้านมะเร็งต่ำกว่าที่ปลูกในไทย 540,000 เท่า

KEY

POINTS

  • ทุเรียนพันธุ์หมอนทองที่ปลูกในจีนนั้น “ไม่พบสารต้านอนุมูลอิสระ” อย่างเควอซิทินเลย ขณะที่ทุเรียนพันธุ์เดียวกันที่ปลูกในไทยมีสารดังกล่าวในปริมาณมาก
  • มีเพียงพันธุ์ก้านยาวที่ปลูกในไหหลำที่มีสารเควอซิทิน แต่ต่ำกว่าที่พบในทุเรียนหมอนทองในไทยถึง 540,000 เท่า
  • “รสชาติทุเรียนจีน” ค่อนข้างอ่อน พอ ๆ กับกลิ่นที่จาง อีกทั้งมีราคาแพง อยู่ที่กิโลกรัมละ 120 หยวนหรือราว 600 บาท

จากความหลงใหลในเนื้อทุเรียนของชาวจีน นำไปสู่การปลูกทุเรียนเองครั้งใหญ่ในมณฑลไห่หนานหรือไหหลำในจีนที่มีภูมิอากาศแบบมรสุม ด้วยความหวังว่า “ทุเรียนไหหลำ” นี้จะสามารถแทนที่ทุเรียนจากไทยได้ 

แต่ปรากฏว่าผิดคาด ข้อมูลจากสถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรไหหลำระบุว่า ทุเรียนซึ่งต่อให้ใช้สายพันธุ์ไทยก็ตาม เมื่อปลูกในไหหลำแล้ว กลับมี “คุณค่าสารอาหาร” ที่ต่ำกว่าทุเรียนไทยหลายแสนเท่า หรือบางพันธุ์ถึงขั้นขาดสารอาหารสำคัญด้วยซ้ำ

โดยปกติแล้ว ทุเรียนในไทยหรือในแถบอาเซียนจะมีสารต้านอนุมูลอิสระสำคัญอย่างเควอซิทิน (Quercetin), โพรไซยานิดิน บีหนึ่ง (Procyanidin B1) และคาเทชิน (Catechin) อีกทั้งอุดมไปด้วยวิตามินซี โพแทสเซียม เส้นใยอาหาร และสารอาหารอื่น ๆ แต่สำหรับทุเรียนพันธุ์หมอนทองที่ปลูกในจีนนั้น “กลับไม่พบสารต้านอนุมูลอิสระ” อย่างเควอซิทินเลย ขณะที่ทุเรียนพันธุ์เดียวกันที่ปลูกในไทยมีสารดังกล่าวในปริมาณมาก

มีเพียงพันธุ์ก้านยาวที่ปลูกในไหหลำที่มีสารเควอซิทิน แต่ปริมาณสารในทุเรียนพันธุ์นี้ในไหหลำยังคงต่ำกว่าพันธุ์เดียวกันที่ปลูกในต่างประเทศถึง 520 เท่า และต่ำกว่าปริมาณสารเควอซิทินที่พบในทุเรียนหมอนทองในไทยถึง 540,000 เท่า

ส่วนกรดแกลลิค (Gallic Acid) ซึ่งมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ และต้านมะเร็ง ทีมวิจัยระบุว่า ไม่พบกรดแกลลิกในทุเรียนพันธุ์ก้านยาวที่ปลูกในไหหลำ 

วิจัยพบ ‘ทุเรียนจีน’ มีสารต้านมะเร็งต่ำ! น้อยกว่าทุเรียนไทย 540,000 เท่า - ทุเรียนจีนไหหลำ (เครดิต: tropicalhainan) -

ขณะที่ทุเรียนหมอนทองในจีนเมื่อเทียบกับไทยพบว่า ทุเรียนหมอนทองของไทยอุดมไปด้วยกรดแกลลิกถึง 2,072 ไมโครกรัมต่อ 100 กรัม ซึ่งสูงกว่าทุเรียนพันธุ์เดียวกันที่ปลูกในจีนถึง 906 เท่า โดยทุเรียนจีนมีปริมาณกรดแกลลิกเพียง 22.85 นาโนกรัมต่อกรัมเท่านั้น

ภูมิประเทศปลูกมีส่วนอย่างมาก

เหตุผลเบื้องหลังที่ทำให้ทุเรียนจีนมีปริมาณสารอาหารในระดับต่ำ ก็เพราะปัจจัยภูมิประเทศเป็นหลัก เพราะโดยปกติแล้ว “ทุเรียน” ถือเป็นไม้ผลยืนต้นขนาดใหญ่ อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ในช่วง 25 - 30 องศาเซลเซียส จึงเหมาะกับการปลูกในพื้นที่ “อากาศแบบร้อนชื้น” อย่างแถบภูมิภาคอาเซียน

“ความแตกต่างของสภาพภูมิอากาศ ปริมาณแร่ธาตุและสารอาหารในดิน อาจส่งผลต่อการสะสมของสารอาหารในระหว่างกระบวนการเจริญเติบโตของทุเรียน” ศาสตราจารย์จาง จิง ผู้นำทีมวิจัยจากสถาบันวิจัย Sanya Nanfan แห่งสถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรไหหลำกล่าว

ทีมวิจัยระบุว่า ชนิดและความเข้มข้นของสารประกอบโพลีฟีนอล (Polyphenols) ซึ่งเป็นสารต้านมะเร็ง มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับสถานที่ปลูก พันธุ์ และความสุกของทุเรียน

ไม่เพียงแต่ปัญหาด้าน “สารอาหาร” เท่านั้น แม้แต่ “กลิ่น” และ “รสชาติ” ก็ไม่เหมือนเดิมด้วย โดยเชีย ดริสคอลล์ ผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์ South China Morning Post ได้เล่าว่า เขาได้สั่งซื้อทุเรียนจากจีนเข้ามาในออฟฟิศ และเมื่อได้ลองแกะชิมทุเรียนนี้แล้ว

โดยปกติ กลิ่นของทุเรียนที่เขาจำได้คือ จะแรงมากจนถูกห้ามนำขึ้นพาหนะสาธารณะในหลายพื้นที่ ใครก็ตามไม่ว่าจะรักหรืออาจไม่ชอบผลไม้นี้ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า กลิ่นของทุเรียนนั้นฟุ้งกระจายไปได้ไกล

อย่างไรก็ตาม ทุเรียนจากจีนนี้ กลับไม่มีใครสังเกตเห็นเลยด้วยซ้ำว่า มีทุเรียนผ่าซีกวางอยู่ที่โต๊ะ ต้องเข้าไปใกล้มาก ๆ ถึงจะได้กลิ่นที่ออกมาเพียงเล็กน้อย

ในเรื่องของเนื้อสัมผัส ก็แทบจะไม่มีความครีมเหมือนทุเรียนแท้ ๆ เลย เนื้อของทุเรียนลูกนี้บางครั้งออกจะชวนให้นึกถึงกล้วยดิบเสียมากกว่า และผู้ที่ได้ลองชิมคนอื่น ๆ ก็ไม่ค่อยประทับใจเช่นกัน

“แทบไม่มีรสชาติอะไรเลย” เป็นอีกหนึ่งคำวิจารณ์ที่รุนแรง โดยเหล่าผู้ชิมต่างเห็นตรงกันว่า ทุเรียนจากจีน คือ “เนื้อแห้ง แข็ง และมีรสอ่อน”

ไทยยังคงเป็น “ผู้ส่งทุเรียนรายใหญ่ที่สุด” ให้จีน 

สำหรับภาพรวมการค้าทุเรียน ราว 95% ของทุเรียนจากทั่วโลกนั้นถูกส่งขายให้แก่ “จีน” จนทำให้ประเทศนี้ติดอันดับ 1 ที่มีผู้บริโภคทุเรียนมากที่สุดในโลก ตามข้อมูลจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)

ข้อมูลจากศุลกากรจีนระบุว่า ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2024 จีนนำเข้าทุเรียนสดแล้ว 1.48 ล้านตัน ซึ่งทะลุปริมาณนำเข้ารวมของทั้งปี 2023 สะท้อนว่าชาวจีนชื่นชอบทุเรียนอย่างมาก นิยมซื้อเป็นของขวัญให้คู่แต่งงานใหม่ รวมถึงเพื่อเอาอกเอาใจแม่สามี อีกทั้งยังเป็นผลไม้ที่ใช้อวดฐานะได้อีกด้วย

ในช่วง 9 เดือนของปีที่แล้ว “ไทย” ยังคงเป็น “ซัพพลายเออร์ทุเรียนรายใหญ่ที่สุด” ของจีน โดยจีนนำเข้าจากไทยเกือบ 755,000 ตัน ด้วยมูลค่านำเข้าที่ 3,730 ล้านดอลลาร์หรือราว 1.2 แสนล้านบาท โดยทุเรียนพันธุ์หลักที่ไทยส่งออกไปยังจีน ได้แก่ หมอนทอง, กระดุมทอง, พวงมณี, ชะนี และก้านยาว

แม้ว่าในปัจจุบัน คุณภาพทุเรียนที่ปลูกในจีนอาจยังคงสู้ไทยไม่ได้ ทั้งในเรื่องคุณค่าสารอาหาร กลิ่น และรสชาติ แต่ด้วยความก้าวหน้าของวิศวกรรมเกษตรของจีน ทีมวิจัยเกษตรของไหหลำจึงกำลังทำการศึกษายีนในทุเรียนและปรับปรุงสายพันธุ์ให้ดีขึ้น 

ทางทีมวิจัยระบุว่า หากเข้าใจว่ายีนใดควบคุมการสะสมของสารประกอบเหล่านี้ จะสามารถปรับปรุงยีนเหล่านั้นผ่านการผสมพันธุ์ เพื่อเพิ่มระดับของสารที่มีประโยชน์ในทุเรียน นั่นคือสิ่งที่ไทยไม่อาจเพิกเฉย และหวังพึ่งบุญเก่าจากความได้เปรียบเชิงภูมิประเทศได้อย่างเดียว โดยอาจต้องยกระดับมูลค่าทุเรียนเป็นผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ต่าง ๆ หรือแม้แต่พัฒนาสายพันธุ์ให้ต้นทุนการปลูกทุเรียนถูกลง เพราะถ้าจีนพัฒนาทุเรียนตัวเองจนใกล้เคียงทุเรียนไทยสำเร็จ ก็จะกระทบผู้ส่งออกทุเรียนไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และนี่คือสิ่งที่ไทยควรเตรียมรับมือ 

อ้างอิง: scmpกรุงเทพธุรกิจกรุงเทพธุรกิจ(2)ditp