'เอกชน' จี้รัฐปฏิรูปกฎหมาย-เศรษฐกิจนอกระบบ ปลดล็อกศักยภาพอุตสาหกรรมไทย
“ส.อ.ท.-สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย” จี้รัฐปฏิรูปกฎหมายประเทศไทยที่มีกว่า 1 แสนฉบับ เพื่อปลดปล่อยศักยภาพประเทศให้แข่งขันได้ แนะภาครัฐใช้งบอุดหนุนสินค้าแบรนด์ไทย ชู 5 ประเด็น กระทบ SME ไทย แนะรัฐอัดงบทรานฟอร์มธุรกิจหนุน GDP ประเทศ
KEY
POINTS
- อยากให้ภาครัฐปฏิรูปกฎหมายกว่าแสนกว่าฉบับ ซึ่งเกาหลีได้ลดลงจาก 1.2 หมื่นฉบับ จนเหลือ 6 พันฉบับ ไทยจึงต้องปรับโครงสร้างปลดปล่อยศักยภาพ เพื่อสู้คู่แข่งได้
- ภาครัฐมีงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างปีละเกือบล้านล้านบาท และชอบซื้อของถูกก็ไปตกอยู่ที่การซื้อของจีน จึงควรใช้ของไทยที่เป็น Made in Thailand ด้วยกันเองให้มากขึ้น
- ปีนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงที่น่ากลัว คือ การรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ โดยเฉพาะมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน เหมือนช้างสารพบกัน ซึ่งไทยอยู่ตรงกลางใน Global supply chain ซึ่งทรัมป์จะโฟกัสไทยเป็นอีกประเทศที่ได้ดุลการค้าอันดับต้นๆ
อุตสาหกรรมไทยยังคงเผชิญความเสี่ยงในหลายปัจจัย โดยเฉพาะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวอย่างที่คิด โดยเฉพาะต้องจับตานโยบายผู้นำประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะการตั้งกำแพงภาษี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อีกทั้ง ประเทศไทยยังเผชิญกับปัญหาหนี้สาธารณะและหนี้ครัวเรื่อนที่ยังคสูงมาก เหล่านี้ล้วนสร้างความท้าทายต่อภาคอุตสาหกรรมไทย
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทั้งนี้ อยากให้ภาครัฐปฏิรูปทุกอย่าง โดยเฉพาะกฎหมายที่ล้าสมัย ที่มีกว่า 1 แสนกว่าฉบับ ซึ่งเกาหลีได้ลดลงจาก 1.2 หมื่นฉบับ จนเหลือ 6 พันฉบับ ไทยจึงต้องปรับโครงสร้างปลดปล่อยศักยภาพ เพื่อสู้คู่แข่งได้ อีกทั้ง จะเห็นว่าภาครัฐมีงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างปีละเกือบล้านล้านบาท และชอบซื้อของถูกก็ไปตกอยู่ที่การซื้อของจีน จึงควรใช้ของไทยที่เป็น Made in Thailand ด้วยกันเองให้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ปี 2568 ถือเป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดที่น่ากลัวคือ การรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐนายโดนัลด์ ทรัมป์ ภายใต้นโยบายทำ 2.0 โดยเฉพาะมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน เหมือนช้างสารพบกัน ซึ่งประเทศไทยอยู่ตรงกลางใน Global supply chain ที่ไทยต้องส่งสินค้าไปทั้ง 2 ประเทศ จึงต้องโดนจับตามาก ว่าทรัมป์จะโฟกัสว่าไทยถือเป็นประเทศที่ได้ดุลการค้าอันดับ 9 แล้ว จึงต้องรอดูว่าทรัมป์จะมองไทยอย่างไร
“อุตสาหกรรมเกิดความท้าทายอย่างมากในเรื่องของการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะ Digital transformation อย่างรวดเร็ว และพัฒนามาสู่ AI ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรง ส่งผลให้ชีวิตคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไปหมด ทั้งการผลิตการสั่งสินค้า และช่องทางการจัดจำหน่าย รวมไปถึงผู้บริโภค ที่เปลี่ยนรสนิยม ดังนั้น ผู้ประกอบการจะต้องเร่งปรับตัวรับกับเทรนด์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วย”
ด้านนายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า 5 เรื่องที่สำคัญที่ส่งผลกระทบต่อ SME ไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ 1. ภูมิรัฐศาสตร์ 2. เศรษฐกิจการค้า 3. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะเป็นกลไกสำคัญในด้านของพลังงานสะอาด
4. เทคโนโลยี AI ถือเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนผ่านผู้ประกอบการ โดย SME กว่า 57% ยังไม่พร้อมในการปรับเปลี่ยน อีกทั้ง ความสามารถในการประยุกต์ใช้อยู่ระดับ 1.0-1.5 เท่านั้น และ 5. การพัฒนาคน ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่สำคัญ ที่ไทยจะเพิ่มขีดสามารถทางการแข่งขันได้
อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาการเจริญเติบโตของนวัตกรรม สิ่งที่เกิดขึ้นต้องรวดเร็ว การรองรับการเปลี่ยนผ่านผู้ประกอบการ SME สู่ยุคความยั่งยืนจะต้องมีการปรับตัวให้พร้อมมากยิ่งขึ้น รัฐบาลต้องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจนอกระบบ เพราะประเทศไทยมีปัญหาไม่แพ้ชาติใดในโลกอยู่อันดับ 2 ของอาเซียน และมีสัดส่วน 46% ของ GDP ประเทศ ในขณะที่เป็นอันดับที่ 15 ของโลกในเรื่องเศรษฐกิจนอกระบบ จึงต้องแก้เรื่องพลังงานหมุนเวียน ที่ไทยอยู่ลำดับที่ 49
นอกจากนี้ ภาครัฐจะต้องสนับสนุนงบประมาณช่วยภาคเอกชนทรานฟอร์มองค์กร เพราะ SME มีสิ่งสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก ทุกประเทศในโลกมีจำนวนประชากรมากสุดเกิน 60-70% เป็น SME ที่สำคัญคือการจ้างงาน ถึง 71% คือการจ้างงานของผู้ประกอบการทั่วประเทศ SME มีภาคการผลิตแค่ 16% แต่หากมองสัดส่วน GDP จะเห็นว่า SME สะท้อนความปัญหาความเหลื่อมล้ำ จึงต้องทำให้โตไปด้วยกัน
“จะเห็นว่า GDP SME ไทยยังแพ้มาเลเซีย เรามีจีนเป็นมหามิตรอันดับต้นๆ และมีสหรัฐที่ตามมา ดังนั้น จะต้องรักพี่เสียดายน้องโดยดำเนินยุทธศาสตร์ที่ทิ้งใครไม่ได้ สิ่งสำคัญวันนี้จีนล้ำหน้าเราไปหลายปีในเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจ และปักธงว่าแต่ละเมืองต้องการที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านไหนเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเทคโนโลยี พลังงานสะอาด ไฮโดรเจน และกรีนบอนด์ เป็นต้น”