‘พิพัฒน์’ สั่ง 'ประกันสังคม’ ห้ามลงทุนหุ้นรายตัว หวั่นผิดพลาดขาดทุนหนัก
"พิพัฒน์"เผยให้นโยบายประกันสังคมชัดเจน ไม่ให้ลงทุนหุ้นรายตัวทั้งในไทยและต่างประเทศ เนื่องจากมีความเสี่่ยงสูง เคยประสบปัญหาการขาดทุนอย่างมากในอดีต ชี้ให้ซื้อเป็นกองทุนรวม และกระจายความเสี่ยงไปที่อสังหาริมทรัพย์ ที่ดินให้ซื้อ กทม.หรือภูเก็ต ที่ราคามีแต่เพิ่ม
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ได้มอบนโยบายไปยังสำนักงานประกันสังคม เกี่ยวกับการบริหารเงินลงทุนของกองทุนประกันสังคม โดยให้พิจารณาลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง และมีความเสี่ยงต่ำ โดยไม่ให้กองทุนไปลงทุนในหุ้นแบบรายตัวเหมือนในอดีต ทั้งในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินของกองทุนอย่างมากเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต
ทั้งนี้หากกองทุนประกันสังคมจะลงทุนในหุ้นให้พิจารณาลงทุนในกองทุนรวมที่มีการลงทุนในหลักทรัพย์ที่หลากหลาย มีการกระจายความเสี่ยงที่ดี
“ตอนนี้ได้มอบนโยบายไปชัดเจนแล้วว่า กองทุนประกันสังคมไม่มีนโยบายซื้อหุ้นรายตัวในตลาดหุ้นไทย และในต่างประเทศ การลงทุนในหุ้นจะเป็นการลงทุนในกองทุนเท่านั้น เพราะในอดีตไปซื้อหุ้นรายตัว แล้วขาดทุนหนักมาก เรื่องนี้เป็นมติที่บอร์ดประกันสังคมรับทราบไปในการประชุมแล้ว"นายพิพัฒน์ กล่าว
ส่วนการลงทุนในหลักทรัพย์อื่น ๆนั้นได้ให้นโยบายในการพิจารณาถึงการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคง เช่นลงทุนในอสังหาริมทรัพย์บางประเภทที่เหมาะสม โดยที่ดินนั้นต้องลงทุนในพื้นที่กรุงเทพฯ และในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งราคาที่ดินมีทิศทางที่ปรับขึ้นไม่ลดลง
ทั้งนี้ที่ผ่านมา กองทุนประกันสังคม เคยประสบปัญหาเข้าไปลงทุนหุ้นบางตัวในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และท้ายที่สุดได้ประสบปัญหาขาดทุนจำนวนมาก ดังนั้น รมว.แรงงานจึงได้มีนโยบายให้ยกเลิกการลงทุนในลักษณะดังกล่าวอีก และให้กระจายความเสี่ยงในการลงทุนให้หลากหลาย เน้นเฉพาะหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งให้สำนักงานประกันสังคม รายงานข้อมูลของกองทุนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
สำหรับสถานะการบริหารเงินลงทุนกองทุนประกันสังคมเงินลงทุนของกองทุนประกันสังคมล่าสุด ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2567 (วันที่ 30 กันยายน 2567) สำนักงานประกันสังคม รายงานว่า ภาพรวมเงินลงทุนมีมูลค่าทั้งสิ้น 2,586,369 ล้านบาท โดยลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงเพื่อความยั่งยืนของกองทุนในระยะยาว 70.69% รวมทั้งพิจารณาลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงเพื่อเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุน 29.31% ดังนี้
หลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง
พันธบัตรรัฐบาล ธปท. รัฐวิสาหกิจ ที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน 1,358,411 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 52.52%
หน่วยลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศที่ได้อันดับความน่าเชื่อถือ 320,157 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 12.38%
หุ้นกู้เอกชน หรือ securitized debt ที่ได้รับอันดับความน่าเชื่อถือ 78,545 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.04%
เงินฝาก 71,166 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.75%
หลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยง
หน่วยลงทุนตราสารทุนต่างประเทศ 335,083 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 12.96%
ตราสารทุนไทย 267,567 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 10.34%
หน่วยลงทุนอสังหาฯ โครงสร้างพื้นฐาน และทองคำ 112,725 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 4.36%
หน่วยลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศที่ไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ 40,819 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1.58%
พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ ที่กระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน 1,896 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.07%
สำหรับปัจจุบันกองทุนมีการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง 1,828,279 ล้านบาท คิดเป็น 70.69% และลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยง 758,090 ล้านบาท คิดเป็น 29.31% ซึ่งเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการประกันสังคมว่าด้วยการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุนประกันสังคม พ.ศ.2559 โดยมีการกระจายการลงทุนในประเทศ 1,805,939 ล้านบาท คิดเป็น 69.83% และต่างประเทศ 780,430 ล้านบาท คิดเป็น 30.17%
อย่างไรก็ตามข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 กองทุนประกันสังคม มีผลประโยชน์จากการลงทุนที่รับรู้แล้วทั้งสิ้น 48,719 ล้านบาท ประกอบด้วย ดอกเบี้ยรับและก าไรจากการขายตราสารหนี้ 31,650 ล้านบาท และเงินปันผลรับและกำไรจากการขายตราสารทุน 17,069 ล้านบาท