ผ่าแผนเมกะโปรเจกต์ 1.36 แสนล้าน ดันไทยฮับ 'คมนาคม' ภูมิภาค
เปิดแผนลงทุนเมกะโปรเจกต์ปี 2568 รวม 223 โครงการ วงเงิน 1.36 แสนล้าน ครอบคลุม 5 มิติ “ถนน - บก - ราง - น้ำ - อากาศ” เร่งสร้างมอเตอร์เวย์ - ท่าเรือท่องเที่ยว - ไฮสปีด ผลักดันประเทศไทยก้าวสู่การเป็น “ศูนย์กลางด้านคมนาคมในภูมิภาค”
KEY
POINTS
- เปิดแผนลงทุนเมกะโปรเจกต์ปี 2568 รวม 223 โครงการ วงเงิน 1.36 แสนล้าน ครอบคลุม 5 มิติ "ถนน - บก - ราง - น้ำ - อากาศ" เร่งสร้างมอเตอร์เวย์ - ท่าเรือท่องเที่ยว - ไฮสปีด ผลักดันประเทศไทยก้าวสู่การเป็น "ศูนย์กลางด้านคมนาคมในภูมิภาค"
- ยันความพร้อมเดินหน้านโยบาย "ค่าธรรมเนียมรถติด" ศึกษาแนวทางการดำเนินมาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ถนนในเขตพื้นที่จราจรหนาแน่นในพื้นที่กรุงเทพฯ
- เร่งชงกฎหมายร่าง พ.ร.บ. ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ. .... เพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์นโยบายเรือธงของรัฐบาล
กระทรวงคมนาคมจัดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “ขับเคลื่อนนโยบายคมนาคม เพื่อโอกาสประเทศไทย” เพื่อวางแผนการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม และเร่งขับเคลื่อนการดำเนินโครงการในปีงบประมาณ 2568 และ 2569 ให้เป็นรูปธรรม เมื่อวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา
โดยพบว่าในปีนี้ กระทรวงฯ จะเร่งเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการสำคัญ โดยมีเป้าหมายสร้างโอกาสให้กับประเทศไทย ให้ประชาชนได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว ตรงเวลา ราคาสมเหตุสมผล ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างเสมอภาค เท่าเทียม ปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมผลักดันให้ไทยก้าวสู่การเป็น “ศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งในระดับภูมิภาค”
“สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เผยถึงแผนลงทุนในปี 2568 โดยระบุว่า จะมีการผลักดันโครงการลงทุนทั้งสิ้น 223 โครงการ วงเงินลงทุน 136,492.43 ล้านบาท เป็นโครงการต่อเนื่อง 107 โครงการ วงเงินลงทุน 53,622.78 ล้านบาท และโครงการใหม่ 116 โครงการ วงเงินลงทุน 82,869.65 ล้านบาท โดยแบ่งตามรูปแบบการขนส่ง
เพื่อให้เห็นทิศทางภาพความสำเร็จการดำเนินงาน เป็น 5 มิติ ประกอบด้วย
1. มิติพัฒนาการขนส่งทางถนน เพื่อแก้ไขปัญหาจราจร ยกระดับความปลอดภัย และเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายถนน และพัฒนาการขนส่งระหว่างเมือง โดยมีโครงการลงทุนสำคัญ อาทิ
- โครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ - ลำลูกกา)
- โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง M5 ทางยกระดับอุตราภิมุข (โทลล์เวย์)
- โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง M9 ทางยกระดับสายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ช่วงบางขุนเทียน - บางบัวทอง
- โครงการแก้ไขปัญหาจราจรเมืองหลักในภูมิภาค จ.ภูเก็ต (ระยะที่ 1 ช่วงกะทู้ - ป่าตอง)
- โครงการแก้ไขปัญหาจราจร จ.เชียงใหม่ (บริเวณแยกสันกลาง แยกต้นเปาพัฒนา แยกซุปเปอร์ไฮเวย์ แยกกองทราย แยกสะเมิง)
2. มิติพัฒนาการขนส่งทางบก เพื่อส่งเสริมพัฒนาการขนส่งสาธารณะที่สะดวก ปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ
- การส่งเสริมการเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนเสริม (Feeder) ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
- การจัดหาเมล์ปรับอากาศพลังงานไฟฟ้า 1,520 คัน
- รถโดยสารระหว่างจังหวัดพลังงานไฟฟ้า 54 คัน
- การพัฒนาสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) เพื่อยกระดับการให้บริการ มีสิ่งอำนวยความสะดวก
- ศึกษาแนวทางการดำเนินมาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ถนนในเขตพื้นที่จราจรหนาแน่นในพื้นที่กรุงเทพฯ (ค่าธรรมเนียมรถติด)
3. มิติการพัฒนาการขนส่งทางราง ให้ความสำคัญในการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ เปลี่ยนการขนส่งจากถนนมาสู่ทางรางและน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้า และลดต้นทุนโลจิสติกส์ อาทิ
- การผลักดันกฎหมายร่าง พ.ร.บ. การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม
- การผลักดันกฎหมายร่าง พ.ร.บ. การขนส่งทางรางฯ และการจัดทำกฎหมายลำดับรองภายใต้ร่าง พ.ร.บ.
- การเดินหน้านโยบายลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท ทุกสาย
- โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง 3 เส้นทาง
4. มิติการพัฒนาการขนส่งทางน้ำ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการพัฒนาการขนส่ง เปิดประตูการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว สร้างการเป็น Hub เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางในทุกมิติ อาทิ
- โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3
- การพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ และการใช้ประโยชน์พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
- การผลักดันกฎหมายร่าง พ.ร.บ. ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ. .... เพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์และการท่องเที่ยว
- การเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรือท่องเที่ยว (Cruise Terminal) สมุย พัทยา ภูเก็ต
- การพัฒนาท่าเรือโดยสารสาธารณะในแม่น้ำเจ้าพระยา (Smart Pier) 29 แห่ง สู่ความเป็นมาตรฐานสากล
5. มิติการพัฒนาการขนส่งทางอากาศ เพื่อเร่งรัดเพิ่มศักยภาพท่าอากาศยานหลักของประเทศรองรับผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้น ขับเคลื่อนสู่การเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคหรือ Aviation Hub อาทิ
- การพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1
- การพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2
- การพัฒนาท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ระยะที่ 1
- การขยายความยาวทางวิ่ง ขยายทางขับ ลานจอดเครื่องบินท่าอากาศยานชุมพร
- การเตรียมความพร้อมการให้บริการการเดินอากาศ รองรับการปฏิบัติการบินอากาศยานทางทะเล (Seaplane Operations)
- การติดตั้ง Automatic Border Control ระยะที่ 2 ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการ ณ บริเวณจุดตรวจหนังสือเดินทาง