‘พิชัย‘ ลั่นเศรษฐกิจปี 68 ถึงจุดเปลี่ยน ดัน GDP โตเกิน 3%
“พิชัย” ลั่นปี 2568 เศรษฐกิจถึงจุดเปลี่ยน เร่งดันเป้า GDP ปีนี้โตเกิน 3% จับตาภูมิรัฐศาสตร์ ตลาดแข่งขันเดือดในอาเซียน และตลาดเกิดใหม่อินเดีย เผยคลังเตรียมทบทวนภาษีทั้งหมดสร้างความสามารถแข่งขัน เติมเงินทุน แก้หนี้ครัวเรือนรักษาวินัยการเงินการคลัง สู่เป้าขาดดุลลดลง
KEY
POINTS
- เศรษฐกิจไทยปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวที่ 2.7-2.8% หลุดกรอบโตต่ำ
- "พิชัย" เชื่อมั่นปี 2568 เศรษฐกิจถึงจุดเปลี่ยน เร่งดัน GDP โตเกิน 3%
- ทั้งนี้ ยังมีความท้าทายที่ต้องจับตา ได้แก่ ภูมิรัฐศาสตร์ ตลาดแข่งขันเดือดในอาเซียน และตลาดเกิดใหม่อินเดีย
- "คลัง" เตรียมทบทวนภาษีทั้งหมดสร้างความสามารถแข่งขัน เติมแหล่งเงินทุน แก้หนี้ครัวเรือน ควบคู่การรักษาวินัยการเงินการคลัง สู่เป้าขาดดุลลดลง
ตลอด10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทย เติบโตต่ำกว่า 2% ซึ่งอยู่บนพื้นฐานเดิมที่ไม่รองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป โดยในปี 2567 เริ่มเห็นสัญญาณการขยายตัวของเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง และคาดการณ์ว่าทั้งปีจะขยายตัว 2.7-2.8% ถือเป็นก้าวที่เปลี่ยนทำให้ GDP ไทย หลุดจาก 2%
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเปิดงาน และปาฐกถาในหัวข้อ “Thailand is Ready for the Challenges.” ภายในงาน “Thailand Marketing Day 2025” จัดโดยสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย วันที่ 8 ม.ค.2568 ว่า คำถามคือต่อจากนี้จะต้องทำอย่างไรให้เศรษฐกิจยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ซึ่งนักวิเคราะห์จากหลายแห่งยังมองว่าด้วยโครงสร้างเศรษฐกิจในปัจจุบัน GDP ปี 68 อาจเติบโตได้ต่ำลงกว่าเดิม อย่างไรก็ตามรัฐบาลเชื่อมั่นว่ายังมีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะโตเกิน 3%
นายพิชัย กล่าวต่อว่า ตอนนี้เริ่มเห็นสัญญาณการขยายตัวเศรษฐกิจแล้ว สะท้อนจากความเชื่อมั่นการบริโภคภาคเอกชนช่วง 3 ไตรมาสของปีที่ผ่านมา ขยายตัว 5.1% ขณะที่การส่งออกขยายตัวได้ดีโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตรและแปรรูป ส่วนภาคการท่องเที่ยวคาดว่าจะถึง 36 ล้านคนในปี 67 ถือเป็นจุดแข็งทางธรรมชาติของไทย และในปีหน้าตั้งเป้าว่าจะมียอดนักท่องเที่ยวกลับเข้ามาในประเทศถึง 39.8 ล้านคน
นอกจากนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 มียอดการขอรับส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กว่า 7 แสนล้านบาทซึ่งสูงสุดในรอบ 10 ปี โดยการลงทุนส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมดิจิทัล ดาต้าเซ็นเตอร์ คลาวด์ และเอไอ ซึ่งการลงทุนเหล่านี้ไม่ได้สร้างเศรษฐกิจที่แท้จริงให้กับประเทศ แต่จะเป็นอาวุธสำหรับธุรกิจในไทยในฐานะผู้ใช้งานดิจิทัลที่สามารถต่อยอดในด้านต่างๆ ได้
ขณะเดียวกัน ภาครัฐอยู่ระหว่างเร่งเดินหน้าโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อลดต้นทุนผู้ประกอบการ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศ ทั้งด้านโลจิสติกส์ ในโครงการรถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ และโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน รวมทั้งโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ใน 3 จังหวัด ที่จะเป็นพื้นที่รองรับการลงทุนใหม่ ทั้งอุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมไบโอเทคโนโลยี
จับตาปี 68 ภูมิรัฐศาสตร์-แข่งขันเดือด
นายพิชัย กล่าวต่อว่า ความท้าทายในปี 2568 ที่ต้องจับตา ได้แก่
1.ความตึงเครียดภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) เป็นความเสี่ยงที่น่ากังวลท่ามกลางการต่อสู้ของประเทศมหาอำนาจ ทั้งนี้ยังมีโอกาสที่ส่งผลให้เกิดแนวโน้มการโยกย้ายฐานการผลิตมาในประเทศ ซึ่งไทยควรต้องช่วงชิงโอกาสในการเชื่อมโยงซัพพลายเชนกลางน้ำและปลายน้ำ
2.แพลตฟอร์มเศรษฐกิจใหม่ โดยรัฐบาลจะต้องเตรียมความพร้อมในการพัฒนาทักษะแรงงาน Upskill และ Reskill ให้พร้อมสำหรับการลงทุนของอุตสาหกรรมใหม่ และนำไปสู่การวางหลักสูตรการศึกษาที่สอดคล้องกับแพลตฟอร์มเศรษฐกิจใหม่
3.การแข่งขันที่ดุเดือดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งไม่ใช่เพียงการแข่งขันกับสินค้าจีนเท่านั้น ยังรวมถึงตลาดใหม่อย่างอินเดีย ที่มีความก้าวหน้าในด้านการวิจัยและพัฒนา ผลิต และส่งออกสินค้า โดยเฉพาะด้านไบโอเทคโนโลยีเกี่ยวกับอาหารและสุขภาพ
ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมไบโอเทคโนโลยีก็เป็นหนึ่งในโอกาสใหม่ของประเทศไทย เนื่องจากวัตถุดิบที่หลากหลายในประเทศ ทั้งยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ภาคเกษตรในประเทศอีกด้วย
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่ทยอยเข้ามาลงทุนในประเทศเกือบทุกค่าย ทั้งจากจีน และญี่ปุ่น ซึ่งขณะนี้ไทยถือเป็นฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค อย่างไรก็ตามยังไม่มีใครรู้ว่าอีวีจะไปได้สุดทางหรือไม่ หรือจะมีเทคโนโลยีอื่นเข้ามาแทนในระหว่างนี้
ทบทวนภาษีทั้งระบบ
นายพิชัย กล่าวต่อว่า ในฐานะกระทรวงการคลัง ยุทธศาสตร์ที่วางไว้คือการเป็นคู่คิดและหุ้นส่วนของภาคธุรกิจเพื่อเดินหน้าสู่อนาคตด้วยกัน โดยการทบทวนระบบภาษีใหม่ทั้งหมด เพื่อสร้างมาตรการที่จูงใจและเป็นมาตรการเชิงรุก รวมทั้งสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน และดึงดูดการลงทุนใหม่
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังพร้อมเดินหน้ามาตรการด้านการเงินในการสนับสนุนเงินทุน ผ่านธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ สำหรับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะรายเล็กๆ ขณะเดียวกัน รัฐบาลได้เริ่มกลไกการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนผ่านโครางการ “คุณสู้ เราช่วย” ที่ให้พักดอกเบี้ย 3 ปี หมดเขตให้ลงทะเบียน 28 ก.พ.2568 โดยคาดว่าจะมีวงเงินเข้ามา 1 ล้านล้านบาท
สำหรับการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลมีงบประมาณจำกัด เล็งใช้กลไกการลงทุนด้วยการใช้เงินนอกงบประมาณ ผ่านการระดมทุนในกองทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund)
ขณะเดียวกัน กระทรวงการคลังมุ่งรักษาวินัยการเงินการคลัง การใช้เงินและการหารายได้จะต้องสอดคล้องกันและเป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ รวมทั้งรักษาระดับการขาดดุลงบประมาณและลดลงได้ในเวลาอันใกล้