“เกษตรฯ”เทรนด์นิ่งชุมชน ร่วม“Easy E-Receipt2.0”

“เกษตรฯ”เทรนด์นิ่งชุมชน  ร่วม“Easy E-Receipt2.0”

กรมส่งเสริมการเกษตรขานรับมาตรการ “Easy E-Receipt 2.0” พร้อมเชิญชวนวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศเข้าร่วม ย้ำ 16 ม.ค. – 28 ก.พ. นี้ ซื้อสินค้าและบริการจากวิสาหกิจชุมชน ลดหย่อนภาษีได้ถึง 2 หมื่นบาท

 นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2567 ได้อนุมัติหลักการมาตรการ Easy E-Receipt 2.0 ให้ประชาชนนำค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าหรือบริการไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2568 ได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุด 50,000 บาท

โดยแบ่งเป็น เงื่อนไขที่ 1 หักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท สำหรับค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (รวมค่าซื้อ สินค้า OTOP ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้วิสาหกิจชุมชนและวิสาหกิจเพื่อสังคม) โดยต้องมีใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) แบบเต็มรูปแบบเป็นหลักฐาน หรือผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการที่ไม่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยต้องมีใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) เป็นหลักฐาน

และเงื่อนไขที่ 2 หักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 20,000 บาท สำหรับค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่ 1. สินค้า 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว 2. ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจชุมชนที่ได้จดทะเบียนต่อกรมส่งเสริมการเกษตร และ 3.ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้จดทะเบียนต่อสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม โดยใช้หลักฐานเป็นใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ คือ e-Tax Invoiceและ e-Receipt ของกรมสรรพากร เท่านั้น

 สำหรับมาตรการภาษี Easy E-Receipt 2.0 เป็นมาตรการสำคัญของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศและส่งเสริมเศรษฐกิจไทยในช่วงต้นปี 2568 โดยผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สามารถนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าและบริการในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค. ถึง 28 ก.พ. 2568 ตามจำนวนที่จ่ายจริง มาลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท ในส่วนของการซื้อสินค้าและค่าบริการจากวิสาหกิจชุมชนที่ได้จดทะเบียนต่อกรมส่งเสริมการเกษตรสามารถหักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงสูงสุด 20,000 – 50,000 บาทนั้น กรมส่งเสริมการเกษตรได้มีการประชาสัมพันธ์มาตรการดังกล่าวให้นายทะเบียน (เกษตรอำเภอ) และเจ้าหน้าผู้รับผิดชอบงานส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน ระดับเขต จังหวัด อำเภอ ให้เข้าใจคุณสมบัติของวิสาหกิจชุมชน ตลอดจนขั้นตอนการเข้าร่วมมาตรการดังกล่าว พร้อมทั้งได้เชิญวิสาหกิจชุมชนที่สนใจเข้ามาตรการนี้รับฟังการชี้แจงรายละเอียดต่าง ๆ เพื่อให้เข้าใจเงื่อนไขของการเข้าร่วมมาตรการจากวิทยากรของกรมสรรพากร ผ่าน Facebook live กองส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน

“กรมส่งเสริมการเกษตรเชื่อว่า มาตรการ Easy E-Receipt 2.0 นอกจากจะช่วยลดภาระภาษีให้กับประชาชนแล้ว จะเป็นส่วนสำคัญช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในภาพรวม คาดว่าจะสามารถสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้เป็นจำนวนมาก และขอเชิญชวนวิสาหกิจชุมชนที่สนใจและมีความพร้อมเข้าร่วมมาตรการดังกล่าว ”

ปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การใช้จ่าย ลดหย่อนภาษี 2568 “Easy E-Receipt 2.0” แบ่งออกเป็น 2 ส่วน

การใช้จ่ายสินค้าทั่วไป กำหนดวงเงินลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30,000 บาทการใช้จ่ายร้านวิสาหกิจชุมชน SME และร้านค้า OTOP ลดหย่อนภาษีได้ตั้งแต่ 20,000 - 50,000 บาท

สำหรับ e-Tax Invoice และ e-Receipt คือ ใบกำกับภาษี (e-Tax Invoice) และใบรับ (e-Receipt) ที่ได้มีการจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์และได้ลงลายมือชื่อโดยใช้ใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Certificate) ทั้งนี้ ผู้ออก e-Tax Invoice หรือ e-Receipt ต้องได้รับอนุมัติจากกรมสรรพากรให้ออกได้ก่อน