‘กกพ.‘ ชงรัฐทบทวน Adder-FiT หั่นค่าไฟลง 17 สตางค์ เหลือ 3.98 บ./หน่วย
‘กกพ.‘ จ่อทำหนังสือถึงนายกฯชงรัฐทบทวน Adder-FiT หั่นค่าไฟลง 17 สตางค์ เหลือ 3.98 บ. จากการลดค่าใช้จ่ายนโยบายรัฐที่ให้ไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่มีราคารับซื้อเพิ่มสูง และต่อสัญญาแบบอัตโนมัติ ชี้ต้องทบทวนราคารับซื้อตามต้นทุนจริง คาดประหยัดค่าไฟได้ 3.3 หมื่นล้านบาทต่อปี
ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ในการประชุม กกพ. ครั้งที่ 2/2568 (ครั้งที่ 943) เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2568 กกพ. มีมติให้สำนักงาน กกพ. นำเสนอทางเลือกให้ภาคนโยบายทบทวนและปรับปรุง เงื่อนไขการสนับสนุนทั้งในรูปแบบส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) และ Feed in Tariff (FiT) ผ่านการอุดหนุนราคารับซื้อไฟฟ้าในกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) เพื่อให้การอุดหนุน Adder และ Feed in Tariff (FiT) สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และทำให้ค่าไฟสามารถปรับลดลงได้ทันทีประมาณหน่วยละ 17 สตางค์ จากค่าไฟฟ้าในปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่หน่วยละ 4.15 บาท โดยคาดหวังว่าจะสามารถลดภาระค่าครองชีพให้กับพี่น้องประชาชนอีกทางหนึ่ง
“ก่อนหน้านี้ในช่วงวิกฤตการณ์ราคาพลังงาน 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ต้นทุนเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้ามีราคาที่สูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อการปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง และ กกพ. เองก็ได้รับมอบหมายจากภาคนโยบายให้ทำการศึกษาทบทวนมาตรการบรรเทาผลกระทบค่าไฟฟ้า เพื่อลดค่าครองชีพให้พี่น้องประชาชน ซึ่ง กกพ.
ได้นำเสนอมาตรการในหลายๆ ทางเลือกเพื่อบรรเทาภาระค่าไฟฟ้า และทางเลือกหนึ่งในขณะนั้นคือ การทบทวนและปรับปรุงเงื่อนไขการรับซื้อไฟฟ้าจากกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้า SPP และ VSPP พลังงานหมุนเวียน ตอนนี้ กกพ. เห็นว่า ปัจจุบันสถานการณ์เหมาะสม จึงได้หยิบยกขึ้นมาหารือ และให้สำนักงาน กกพ. นำเสนอภาคนโยบายเพื่อทบทวนและเป็นทางเลือกในการลดค่าไฟให้พี่น้องประชาชนได้อีกทางหนึ่ง” ดร.พูลพัฒน์ กล่าว
ดร.พูลพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา การรับซื้อไฟฟ้าจากกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าดังกล่าวข้างต้น เมื่อครบกำหนดอายุสัญญารับซื้อไฟก็ได้รับการต่อสัญญาในเงื่อนไขเดิมและให้ได้รับการอุดหนุนราคารับซื้อมาอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายเดิมที่ต้องการสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก และรองรับปริมาณความต้องการเพิ่มปริมาณไฟฟ้าสะอาดเข้ามาในระบบให้มากขึ้น ปัจจุบันผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง มีความพร้อม สามารถรับมือกับการแข่งขันในธุรกิจไฟฟ้าได้ดี ท่ามกลางการแข่งขันและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่ทำให้เกิดการลดลงต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง จึงน่าจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเสนอให้ทบทวนเงื่อนไขการรับซื้อดังกล่าว
ช่วงต้นปี 2565 เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติเหลวพุ่งสูงขึ้นเกือบ 6 เท่าตัว กกพ.แก้ปัญหาเพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าหลายประการ และมีประการหนึ่งที่ยังไม่ได้ดำเนินการนั่นคือ กกพ. มีมติเมื่อเดือนตุลาคม 2565 เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ตามมาตรา 11(12)
โดยขอให้ฝ่ายนโยบายจัดการกับต้นทุนค่าไฟฟ้าในส่วนค่าใช้จ่ายตามนโยบายรัฐ (Policy Expense) อันประกอบด้วย โครงการ Adder และ Feed in Tariff (FiT) ซึ่งมีต้นทุนการรับซื้อไฟฟ้าสูงกว่าราคาต้นทุนจริงในภาวะปัจจุบัน และโครงการผลิตไฟฟ้าแบบ Adder เหล่านี้ไม่มีวันสิ้นสุดสัญญา เป็นเหตุให้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าโดยไม่จำเป็น และเป็นหน้าที่ กกพ. ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มาตรา 65(1) ซึ่งบัญญัติไว้ว่า
“ภายใต้นโยบายและแนวทางที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติให้ความเห็นชอบ ให้คณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าบริการของผู้รับใบอนุญาตแต่ละประเภท โดยมีแนวทางดังต่อไปนี้
(1) ควรสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงและคำนึงถึงผลตอบแทนที่เหมาะสมของการลงทุนของการประกอบกิจการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ”
หากมีการปรับปรุงราคารับซื้อไฟฟ้าในกลุ่ม Adder และ Feed in Tariff ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง
เช่น ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ รับซื้อในอัตราค่าไฟฟ้าขายส่งหน่วยละ 3.1617 บาท บวกกับค่าส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) หน่วยละ 8 บาท (10 ปี) รวมแล้วเป็นค่าไฟฟ้าหน่วยละ 11.1617 บาท ซึ่งแพงกว่าอัตรารับซื้อที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) คำนวณไว้ในโครงการการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 - 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 และในส่วนเพิ่มเติม พ.ศ. 2567 หน่วยละ 2.1679 บาท หลายเท่าตัวหรือมีส่วนต่างหน่วยละ 8.9938 บาท หากนำส่วนต่างนี้ออกไปจากสูตรคำนวณค่าไฟฟ้า ก็จะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงทันที และไม่กระทบต่อผู้ประกอบการด้วย 2 เหตุผลคือ
1. ผู้ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าผ่านจุดคุ้มทุนแบบ Adder และได้รับค่าตอบแทนจากโครงการพอสมควร จึงควรปรับค่าไฟฟ้าให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง
2. การรับซื้อไฟฟ้าในอดีตหน่วยละ 11.1617 บาท เนื่องจากอุปกรณ์การผลิตไฟฟ้าจากแผงพลังงานแสงอาทิตย์มีต้นทุนสูง แต่ในปัจจุบันราคาอุปกรณ์ดังกล่าวลดลงมาก ราคาไฟฟ้าที่รัฐรับซื้อควรลดลงตามมาด้วยเช่นกัน หรือแม้โครงการผ่าน 10 ปีและเงินอุดหนุน 8 บาทหมดไปแล้ว แต่ราคารับซื้อก็ยังอยู่ที่ 3.1617 บาท ซึ่งแพงกว่าราคาที่ สนพ. คำนวณในปี 2565 หน่วยละ 2.1679 บาท ซึ่งมีส่วนต่างเป็นเงินหน่วยละ 0.9938 บาท ถือเป็นกำไรที่ผู้ประกอบการไม่ควรได้รับ ประการสำคัญสัญญารับซื้อไฟฟ้าในกลุ่มนี้ระบุว่าให้ต่อสัญญาโดยอัตโนมัติ หมายความว่า ไม่มีวันสิ้นสุดสัญญา หากไม่มีการปรับปรุงอัตราการรับซื้อไฟฟ้าให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ผู้ประกอบกิจการก็จะได้กำไรเกินควร อันเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนโดยไม่มีวันสิ้นสุด
จากการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนกรณีค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) งวดเดือนมกราคม - เมษายน 2568 ได้ระบุค่าใช้จ่ายภาครัฐ (Policy Expense) จากการรับซื้อไฟฟ้าในกลุ่ม Adder และ FiT รวมอยู่ในค่าไฟฟ้าหน่วยละ 17 สตางค์ หากคณะรัฐมนตรีหรือ กพช. กำหนดนโยบายปรับค่าไฟฟ้ารับซื้อในส่วนนี้ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ก็จะลดค่าไฟฟ้าได้ทันที่ 17 สตางค์ หากค่าไฟฟ้าหน่วยละ 4.15 บาท ก็จะลดลงเหลือหน่วยละ 3.98 บาท
จากประมาณการตลอดทั้งปี 2568 คาดว่าจะมีการใช้ไฟฟ้า 195,000 ล้านหน่วย หากลดได้หน่วยละ 17 สตางค์ จะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนได้ 33,150 ล้านบาท