จาก ‘เทเลอร์ สวิฟต์’ สู่ เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ Game Changer เศรษฐกิจไทย

"จุลพันธ์" เผยจุดเริ่มไทยดัน"เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์" หลังเห็นโมเดลสิงคโปร์ดึง เทเลอร์ สวิฟต์ มาเล่นคนเสิร์ต ชี้เป็นกุญแจเศรษฐกิจใหม่ ดึงเม็ดเงิน-ยกระดับ Soft Power ไทย พร้อมผลักดันสถานที่จัดคอนเสิร์ตระดับโลกเทียบสิงคโปร์
KEY
POINTS
- รัฐบาลผลั
รัฐบาลได้กำหนดให้การผลักดันกฎหมายสถานบันเทิงครบวงจร หรือ “เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์” เป็นหนึ่งในเครื่องยนต์เศรษฐกิจใหม่ในการดึงเม็ดเงินใหม่ๆเข้าสู่ประเทศ โดยคาดว่าจะมีการลงทุนแห่งละไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท
ปัจจุบันร่างกฎหมายสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ...อยู่ระหว่างการปรับแก้กฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษซึ่งมีกำหนดในการแก้ไข 50 วันก่อนที่จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร
แม้ว่าจะมีประเด็นถกเถียงกันมากในเรื่องของ “กาสิโน” แต่รัฐบาลนำโดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าเรื่องนี้มีการพิจารณาดีแล้ว การตั้งกาสิโนในสถานบันเทิงครบวงจรแต่ละแห่งคิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 10% ขณะที่จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญเรื่องนี้ได้ยืนยันว่า การสร้างเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ประเทศไทยจะได้ผลประโยชน์หลายด้าน
นอกจากเม็ดเงินเรื่องการท่องเที่ยว ยังสามารถวางเงื่อนไขให้ผู้ลงทุนสร้างสิ่งก่อสร้างที่รัฐบาลต้องการให้เกิดการลงทุน เช่น คอนเสิร์ตฮอลล์ สนามกีฬาขนาดใหญ่ รวมทั้งศูนย์ประชุมและสัมมนาระดับโลก ซึ่งจะสนับสนุนการท่องเที่ยวของไทยในระยะยาว
“เรื่องนี้รัฐบาลเราคุยกันอย่างหนักตั้งแต่สมัยครั้งที่คุณเศรษฐา ยังเป็นนายกฯ โจทย์ของเราคือเราคุยกันว่าอยากได้เม็ดเงินใหม่ๆเข้ามาให้ประเทศ นายกฯเศรษฐาก็ถามว่าเราอยากได้อะไร พวกเรา (ทีมเศรษฐกิจ) บอกอยากได้คอนเสิร์ต เทเลอร์ สวิฟต์ มาจัดในไทย” รมช.จุลพันธ์ เล่าความหลังที่มาส่วนหนึ่งของนโยบายนี้
พอโจทย์คือเทเลอร์ สวิฟต์ ซึ่งตอนนั้นสิงคโปร์จัดมีเงินมหาศาลเข้าประเทศจีดีพีโตได้อย่างเห็นได้ชัด กลับมาที่ประเทศไทย เราเห็นข้อจำกัดชัดเจนแม้ว่าไทยจะมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวสูงและได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั่วโลก แต่ในแง่ของการจัดคอนเสิร์ตหรืออีเวนต์ระดับโลก ประเทศไทยยังขาดแคลนสถานที่ที่สามารถรองรับศิลปินและผู้ชมจำนวนมหาศาลได้
เพราะว่าสถานที่ปัจจุบันมีขนาดจำกัด: อิมแพ็ค อารีนา และราชมังคลากีฬาสถาน แม้จะเป็นที่รู้จัก แต่ยังไม่สามารถเทียบได้กับสนามจัดคอนเสิร์ตในต่างประเทศที่มีความครบวงจรและมีเทคโนโลยีรองรับระดับสูง ซึ่งโครงการแบบนี้รัฐบาลจะลงทุนเองก็ยากเพราะข้อจัดของงบประมาณ
ส่วนจะให้เอกชนลงทุนก็ยิ่งยากเพราะว่าไม่คุ้มทุน แต่หากเราเปิดให้มีการลงทุนเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์เรากำหนดสเป็กให้โครงการมีการลงทุนเรื่องพวกนี้ได้ โดยใช้เงินจากเอกชนเข้ามาลงทุน

เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ดึงคอนเสิร์ตระดับโลก
การมีเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ที่ครบวงจรและสถานที่จัดคอนเสิร์ตระดับโลก ถือเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมบันเทิงของประเทศ อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจโดยรวม ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ สิงคโปร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางระดับโลกที่ประสบความสำเร็จในการดึงดูดศิลปินระดับนานาชาติเข้ามาจัดการแสดง เช่น การจัดคอนเสิร์ตของ เทเลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift) ที่ดึงดูดแฟนเพลงจากทั่วโลก
“คอนเสิร์ตของเทเลอร์ สวิฟต์ในสิงคโปร์ มีแฟนเพลงจากทั่วโลกเข้าร่วม ซึ่งก่อให้เกิดการใช้จ่ายด้านตั๋วเครื่องบิน โรงแรม และการท่องเที่ยวในพื้นที่ ผลกระทบเชิงเศรษฐกิจมหาศาลนี้สามารถเกิดขึ้นในประเทศไทยได้ หากเรามีสถานที่จัดแสดงที่เหมาะสม”รมช.คลังกล่าว
บทเรียนจากสิงคโปร์: เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ที่เชื่อมต่อเศรษฐกิจ
สิงคโปร์ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเอนเตอร์เทนเมนต์อย่างรอบด้าน เช่น
- Singapore Indoor Stadium และ The Star Performing Arts Centre ซึ่งสามารถรองรับผู้ชมหลายหมื่นคน และมีมาตรฐาน
- Marina Bay Sands ซึ่งรวมศูนย์การจัดงานแสดง ศิลปวัฒนธรรม และการท่องเที่ยวในที่เดียว
โครงสร้างเหล่านี้ไม่เพียงแต่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมบันเทิง แต่ยังช่วยสร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศ โดยดึงดูดนักท่องเที่ยวที่พร้อมจะใช้จ่ายทั้งในด้านตั๋วคอนเสิร์ต โรงแรม ร้านอาหาร และการเดินทาง ซึ่งจะเพิ่มรายได้การท่องเที่ยวจากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นซึ่งปัจจุบันค่าใช้จ่ายนักท่องเที่ยวต่อหัวที่มาท่องเที่ยวในไทยอยู่ที่เฉลี่ย 47,000 บาทต่อคนต่อทริป ขณะที่นักท่องเที่ยวที่ไปท่องเที่ยวในสิงคโปร์ใช้จ่ายประมาณ 67,000 บาทต่อคนต่อทริป
ซึ่งรัฐบาลคาดหวังว่าเมื่อมีการเปิดเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ในไทยนั้นค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวเฉลี่ยที่มาไทยนั้นจะเพิ่มขึ้นไปใกล้เคียงกับการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยในสิงคโปร์
เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ในไทยการลงทุนเพื่ออนาคต
จุลพันธ์กล่าวต่อว่ารัฐบาลไทยเล็งเห็นถึงความสำคัญของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะที่จะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-made destination) โดยการสร้างเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ที่สามารถตอบสนองความต้องการของทั้งศิลปินและแฟนคลับระดับโลก เช่น
- การสร้างสนามจัดคอนเสิร์ตขนาดใหญ่: รองรับผู้ชมได้ 50,000-80,000 คน พร้อมเทคโนโลยีแสง สี เสียง ที่ทันสมัย
- พื้นที่กิจกรรมครบวงจร: เช่น ร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรม และพื้นที่นันทนาการ ที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ
-
การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานนี้ ไม่เพียงแต่ช่วยดึงดูดศิลปินระดับโลกให้มาจัดการแสดงในไทยเท่านั้น แต่ยังส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจหลายด้าน
-
การสร้างงาน: ทั้งในด้านอุตสาหกรรมบันเทิง การก่อสร้าง การบริการ และการท่องเที่ยว
- รายได้จากนักท่องเที่ยว: นักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศจะเข้ามาใช้จ่ายในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
- การยกระดับ Soft Power ของไทย: ดึงดูดการแสดงและอีเวนต์ที่ส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศไทยให้โดดเด่นมากขึ้น