‘นายกฯ - เอกชน’ โหมแรงกดดัน กนง. ลดดอกเบี้ยเพิ่มสภาพคล่อง ‘ประชาชน - ธุรกิจ’

“รัฐบาล - ภาคเอกชน” หวังที่ประชุม "กนง." วันที่ 26 ก.พ.68 นี้ ลดดอกเบี้ย นายกฯ หวังประชาชนมีสภาพคล่อง พร้อมขอให้ธนาคารพาณิชย์เพิ่มปล่อยสินเชื่อ ดันเงินลงทุน “หอการค้า” หนุนลดดอกเบี้ยช่วยลดต้นทุนผู้ประกอบการ ชี้ เงินเฟ้อต่ำไม่ใช่เป็นปัจจัยกดดัน
คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีกำหนดจะประชุมครั้งแรกของปีในวันที่ 26 ก.พ.2568 โดยเริ่มมีข้อเสนอจากรัฐบาล และภาคเอกชนที่ต้องการให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจากปัจจุบันอยู่ที่ 2.25%
ทั้งนี้ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รวบรวมอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศในเอเชีย ณ วันที่ 10 ก.พ.2568 พบว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ในระดับต่ำ โดยอินเดีย อยู่ที่ 6.50% , อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ 5.75% , จีน 3.10% , เกาหลีใต้ เวียดนาม และมาเลเซีย 3.00% และมีเพียงญี่ปุ่นที่มีอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำกว่าไทย อยู่ที่ 0.50%
รวมทั้ง ธนาคารกลางที่ปรับดอกเบี้ยนโยบายลงในช่วงเดือนม.ค.- ก.พ.2568 ให้เหตุผลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและปรับให้สอดคล้องอัตราเงินเฟ้อ โดยในเดือนม.ค.2568 ธนาคารกลางอินโดนีเซีย ธนาคารกลางยุโรป และธนาคารกลางแคนาดา ปรับลง 0.25%
นอกจากนี้ เมื่อดูท่าทีของรัฐบาลได้ทยอยออกมาแสดงความเห็นให้ กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบาย โดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต้องการให้ลดดอกเบี้ยเพื่อลดภาระของประชาชน ในขณะที่นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ต้องการให้ปรับลดเพื่อให้สอดคล้องกรอบเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ 1-3%
ขณะที่นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช.ได้ให้ความเห็นสนับสนุนการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.เพื่อเป็นการเก็บกระสุนไว้ใช้ในช่วงที่เศรษฐกิจมีปัญหามากกว่านี้
นางสาวแพทองธาร กล่าวในงาน Matichon Leadership Forum 2025 Trust Thailand : เชื่อมั่นประเทศไทย ว่า รัฐบาลมีมาตรการระยะเร่งด่วนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยต้องการขอความร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ที่มีกำไรสูงให้ช่วยเสริมสภาพคล่องปล่อยกู้ให้คนไทยมีกระแสเงินสด เพื่ออัปเกรดธุรกิจ และอัปเกรดอุตสาหกรรมที่ทำมาอย่างยาวนาน
นอกจากนี้ต้องขอให้ ธปท.ลดดอกเบี้ยให้ประชาชนเพื่อให้ประชาชนมีสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งตอนนี้ยังดำเนินการได้เพราะเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นน้อย
ส่วนการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนได้สร้างความมั่นคงบรรเทาหนี้ผ่านการเปิดตัวของโครงการคุณสู้เราช่วย เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ และเอสเอ็มอี ซึ่งมีการยกหนี้ไปแล้ว 8.3 แสนบัญชี และพบว่ามีลูกหนี้ค้างอยู่ 2.6 แสนบัญชี คาดว่าเสร็จภายใน 15 มี.ค.2568 รวมถึงมอบกระทรวงการคลังหารือ ธปท.เพื่อปรับปรุงกลุ่มลูกหนี้ให้ง่ายต่อการเข้าถึงคาดว่าจะมีมาตรการออกมาภายใน มี.ค.2568
รับเศรษฐกิจไทยเผชิญความท้าทาย
อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าตลอดปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเผชิญกับปัญหา และความท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเศรษฐกิจ ที่เงินในระบบไม่เพียงพอ แต่ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วนทำให้ได้เห็นสัญญาณที่ดี โดยตัวเลข GDP ของปี 2567 ขยายตัว 2.5% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 2% ในปี 2566
ทั้งนี้ เกิดจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะการกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน ส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศขยายตัว ที่สำคัญที่สุดที่เห็นได้ชัดเจน คือ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาสู่ประเทศไทยสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ผลจากนโยบายฟรีวีซ่า
สำหรับปี 2568 รัฐบาลตั้งเป้าหมายให้ GDP เติบโตที่ 3% โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการลงทุนของภาคเอกชนที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการใช้จ่ายของประชาชนที่มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งภาครัฐจะผลักดันการใช้งบลงทุนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
โดยเฉพาะการสร้างโครงการสาธารณูปโภค การลงทุนก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ เพื่อทำให้เกิดการจ้างงาน ประชาชนมีรายได้ เงินในระบบก็จะเกิดการหมุนเวียนมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ได้สั่งการให้ทุกภาคส่วนเร่งเบิกจ่ายงบประมาณแล้ว
รวมถึงการเร่งรัดโครงสร้างพื้นฐานโลจิสติกส์ และการค้าการลงทุน โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อไทย-ลาว-จีน เชื่อมโยงกรุงเทพมหานคร กับหนองคาย เมื่อเสร็จสิ้นจะช่วยลดระยะเวลา และต้นทุนการขนส่งสินค้าให้ผู้ประกอบการ ทำให้สินค้าไทยสามารถเข้าถึงตลาดจีน และประเทศอื่นๆ ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น มีการจ้างงานมากขึ้น ประชาชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ รัฐบาลจะผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ที่เชื่อมระหว่างฝั่งอ่าวไทย และอันดามันต่อไป เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค
ชี้ GDP โตต่ำจากอุตสาหกรรมขาดการยกระดับ
นางสาวแพทองธาร กล่าวด้วยว่า การเปรียบเทียบเรื่องเป้าหมาย GDP ของประเทศไทยเมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียน มีตัวเลขที่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ไม่อยากให้นำมาเปรียบเทียบกัน เนื่องจากตัวเลขดังกล่าว ยังไม่ได้ดูรายละเอียดทั้งปัจจัยภายใน และภายนอก เช่น อุตสาหกรรมของประเทศไทย ที่ไม่ได้มีการพัฒนามานานแล้ว
ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นประเทศมาเลเซียที่มีการลงทุนในอุตสาหกรรมของเซมิคอนดักเตอร์ ส่วนประเทศเวียดนามได้พัฒนาในเรื่องของทักษะของคน การเขียนซอฟต์แวร์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ประเทศไทยยังไม่ได้พัฒนาอย่างเต็มรูปแบบ
เร่งดึงลงทุนอุตสาหกรรมใหม่
ทั้งนี้รัฐบาลขอให้ทุกภาคส่วนร่วมกันเร่งให้เกิดการลงทุน ซี่งเป็นส่วนสำคัญของการสร้างเม็ดเงินลงระบบเศรษฐกิจ โดยล่าสุดได้รับตัวเลขจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สะท้อนว่านักลงทุนต่างชาติเชื่อมั่น และเริ่มการลงทุนในไทยแล้ว จากคำขอส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นถึง 35% หรือประมาณ 1.14 ล้านล้านบาท มากกว่า 5% ของ GDP
รวมทั้งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นรากฐานของเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต โดยเม็ดเงินเหล่านี้จะลงระบบเศรษฐกิจ และสร้างโอกาสให้คนไทยในการต่อยอดธุรกิจ และเกิดการจ้างงาน นับเป็นการเติมเงินครั้งใหญ่ให้กับเศรษฐกิจของไทย
"การผลักดันอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ AI และสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล ที่เริ่มเห็นการลงทุนในขณะนี้ นับเป็นโอกาสของประเทศ และผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Hub ในภูมิภาค"
หอการค้าหนุน ธปท.ลดดอกเบี้ย
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าไทย กล่าวว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอของนายกรัฐมนตรีที่ขอให้ ธปท.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงเวลานี้ เพราะจะช่วยลดต้นทุนทางการเงินให้กับผู้ประกอบการและประชาชน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่
ทั้งนี้ ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยยังเผชิญภาวะกำลังซื้ออ่อนแรง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ ปีที่แล้วเงินเฟ้อเฉลี่ยเพียง 0.5% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแรงกดดันจากเงินเฟ้อไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องกังวลมากนักในขณะนี้ ในทางตรงกันข้าม การที่เศรษฐกิจยังคงซบเซา และกำลังซื้อไม่ขยายตัว อาจเป็นสัญญาณว่าจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม และการลดดอกเบี้ยนโยบายก็ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สามารถช่วยให้เกิดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้
สำหรับภาคธุรกิจโดยเอสเอ็มอีเห็นว่าการลดอัตราดอกเบี้ยจะช่วยให้ต้นทุนการเงินลดลง เพิ่มโอกาสในการลงทุนขยายกิจการ และบริหารกระแสเงินสดได้ดีขึ้น
นอกจากการลดดอกเบี้ยแล้วต้องการเห็นมาตรการเสริมที่ช่วยให้เข้าถึงสินเชื่อง่ายขึ้น เพราะปัจจุบันแม้ต้นทุนการเงินเป็นปัจจัยสำคัญ แต่ข้อจำกัดในการเข้าถึงสินเชื่อเป็นอุปสรรคที่ทำให้ธุรกิจขนาดเล็กจำนวนมากไม่สามารถใช้ประโยชน์จากต้นทุนดอกเบี้ยที่ต่ำได้เต็มที่
มั่นใจ ธปท.ดูข้อมูลเศรษฐกิจรอบด้าน
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาหอการค้าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย กล่าวว่า การที่นายกรัฐมนตรีขอให้ ธปท.ลดดอกเบี้ยก็สอดคล้องกับหลายประเทศ และในฐานะที่รัฐบาลต้องดูแลด้านเศรษฐกิจและการดูแลประชาชน แต่ ธปท.ต้องพิจารณาปัจจัยหลายด้าน
ทั้งนี้ ธปท.มีข้อมูลพร้อมเพียงพอ และการลดดอกเบี้ยมีหลักการสำคัญ 2-3 เรื่อง เช่น เงินเฟ้อ สถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศ โดยเชื่อว่าข้อมูลน่าจะมีครบถ้วนอยู่แล้วคงต้องดูว่าจะออกมาทิศทางใด
รวมทั้ง ที่ผ่านมาแม้ ธปท.ไม่ลดดอกเบี้ยนโยบาย แต่มีมาตรการช่วยผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอี เช่น สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรืออัตราพิเศษที่ส่งผลดีต่อเอสเอ็มอี
อย่างไรก็ตามการประชุมครั้งนี้น่าจะมีเรื่องใหม่เข้าไปพิจารณาว่าจะลดหรือไม่ลดดอกเบี้ย เช่น นโยบายทรัมป์ 2.0 ที่กระทบไปทั่วโลก ทำให้เกิดความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจ นโยบาย และทรัมป์เองก็จะทยอยประกาศขึ้นภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
"การดูแลภาพรวมทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ทาง ธปท.ก็ต้องพิจารณารอบด้าน ซึ่งในส่วนของภาคธุรกิจเองก็ได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงมาระยะหนึ่งแล้ว และการแข่งขันในตลาดโลกก็สูง" นายวิศิษฐ์ กล่าว
ภาคธุรกิจแนะลดส่วนต่างดอกเบี้ย
แหล่งข่าววงการธุรกิจ กล่าวว่า มาตรการทางการเงินโดยการลดดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสำหรับองค์กรธุรกิจไม่มีผลมากนักต่อต้นทุนทางการเงิน เนื่องจากส่วนใหญ่ได้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำ โดยบริษัทผลิตสินค้าจำเป็นที่กู้เงินมาลงทุนมีดอกเบี้ยต่ำกว่า 3% แต่บริษัทที่มีกระแสเงินสดมากอาจไม่ต้องกู้เงินมาขยายธุรกิจ
ทั้งนี้ การลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25-0.50% ต้องประเมินผลว่าที่ผ่านมาลดดอกเบี้ยแล้วเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจริงหรือไม่ และหากรัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจควรหาแนวทางช่วยเหลือดอกเบี้ยส่วนเกิน ซึ่งดอกเบี้ยปรับที่ประชาชน และผู้ประกอบการเผชิญกรณีผิดนัดชำระเป็นอัตราสูงมาก แต่หากต้องลดดอกเบี้ยแล้วรัฐ และ ธปท.ควรหารือลดอัตราเท่าไร จึงเหมาะสม และกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้แท้จริง
“คนรวย ธุรกิจใหญ่จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำ ส่วนดอกเบี้ยที่ประชาชนหรือผู้มีรายได้ต่ำไม่ใช่ปัญหาดอกเบี้ยแพง แต่เป็นเบี้ยปรับกรณีผิดนัดชำระสูงมาก ดังนั้น ต้องลดดอกเบี้ยปรับให้ลดลงจึงจะทำให้ประชาชนมีต้นทุนทางการเงินต่ำ รวมถึงการดูแลดอกเบี้ยเงินกู้กับดอกเบี้ยเงินฝากไม่ให้ต่างห่างกันมาก”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์