อัครา วาง 5 พันล้านเพิ่มผลผลิตกุ้ง 4.5 แสนตัน ยกเป็นวาระแห่งชาติ

อัครา วาง 5 พันล้านเพิ่มผลผลิตกุ้ง 4.5 แสนตัน ยกเป็นวาระแห่งชาติ

อัครา เล็ง เสนอ ครม.พิจารณาแผนปฏิบัติการยกระดับการแก้ไขปัญหากุ้งทะเลเป็นวาระแห่งชาติ วงเงินงบประมาณกว่า 5 พันล้านบาท ปั้นผลผลิตให้ได้ 4.5 แสนตัน ผลักดันอุตสาหกรรมกุ้งไทยให้แข็งแกร่งในตลาดโลก

นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ (Shrimp Board) ครั้งที่ 2/2568 ว่า   ได้หารือแนวทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมกุ้งทะเลของไทยให้กลับมาทวงความเป็นผู้นำในการส่งออกอีกครั้ง ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ซึ่งมอบหมายให้กรมประมงเร่งส่งเสริมการวิจัยพัฒนาพันธุ์กุ้งอย่างจริงจัง ฟื้นฟูความเข้มแข็งด้านการเลี้ยงกุ้งเพื่อการส่งออกที่ไทยเคยเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกอีกครั้ง

อัครา วาง 5 พันล้านเพิ่มผลผลิตกุ้ง 4.5 แสนตัน ยกเป็นวาระแห่งชาติ

พร้อมผลักดันแผนปฏิบัติการเพื่อยกระดับการแก้ไขปัญหากุ้งทะเลเป็นวาระแห่งชาติ พ.ศ. 2568 - 2572 (ระยะเวลา 5 ปี) ผ่าน 11 มาตรการ ภายใต้วงเงินงบประมาณ 5,178,055,100 บาท หวังสร้างศักยภาพทางการแข่งขันพร้อมดันผลผลิตกุ้งทะเลของไทยให้ได้ปริมาณ 450,000 ตัน

“ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เร่งขับเคลื่อนผลักดันแผนปฏิบัติการเพื่อยกระดับการแก้ไขปัญหากุ้งทะเลเป็นวาระแห่งชาติ พ.ศ. 2568 - 2572 ผ่านการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ในครั้งนี้ ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการ (ร่าง) แผนปฏิบัติการเพื่อยกระดับการแก้ไขปัญหากุ้งทะเลเป็นวาระแห่งชาติ พ.ศ. 2568 - 2572 ซึ่งประกอบด้วย 11 มาตรการ ดังนี้” 

 มาตรการที่ 1 การพัฒนาพ่อแม่พันธุ์ให้เหมาะสมกับการเลี้ยงกุ้งทะเลเพื่อให้ได้ลูกกุ้งทะเลคุณภาพสูง 

 มาตรการที่ 2 การจัดการฟาร์มเลี้ยงกุ้งอย่างยั่งยืน 

 มาตรการที่ 3 การส่งเสริมการใช้อาหารที่เหมาะกับรูปแบบการเลี้ยง 

มาตรการที่ 4 การจัดการโรคและการป้องกันโรคในกุ้ง 

 มาตรการที่ 5 การพัฒนาระบบเฝ้าระวังติดตาม ตรวจสอบ ความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล 

มาตรการที่ 6 การเพิ่มประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์สินค้าหลังการจับ 

มาตรการที่ 7 การสร้างแบรนด์และเพิ่มช่องทางการตลาด 

มาตรการที่ 8 การบริหารจัดการข้อมูลกุ้ง

 มาตรการที่ 9 การพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม 

มาตรการที่ 10 การยกระดับความรู้บุคลากร ทั้งเกษตรกร และเจ้าหน้าที่

และ มาตรการที่ 11 การสร้างเครือข่าย ความเข้มแข็ง

ซึ่งทุกมาตรการมีความสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยยังคงคำนึงถึงสถานการณ์อุปสงค์อุปทานกุ้งทะเลของโลกเป็นสำคัญ 

สำหรับระยะเร่งด่วนในปี 2568 จะมุ่งให้ความสำคัญกับการดำเนินการมาตรการที่ 1 ซึ่งจะเป็นการพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์กุ้งทะเลให้เจริญเติบโตดี และทนทานต่อเชื้อก่อโรค โดยส่งเสริมการใช้สายพันธุ์กุ้งทะเลที่เหมาะสมกับสถานการณ์ภายในประเทศ มาตรการที่ 2 หนุนการจัดการฟาร์มกุ้งอย่างยั่งยืน โดยเน้นการจัดตั้งศูนย์ผลิตจุลินทรีย์

มาตรการที่ 3 ส่งเสริมการใช้อาหารที่เหมาะสมกับรูปแบบการเลี้ยง โดยจะสามารถลดได้ทั้งต้นทุนและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มาตรการที่ 4 การแก้ไขปัญหาเรื่องโรค ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จในการเลี้ยงกุ้งของเกษตรกร โดยการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพ พร้อมนำนวัตกรรมต่าง ๆ มาใช้บริหารจัดการทั้งโรงเพาะฟักและฟาร์มเลี้ยง และมาตรการที่ 5 พัฒนาระบบเฝ้าระวังติดตามตรวจสอบความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเฝ้าระวังเชิงรุก ตั้งแต่แหล่งผลิตจนถึงแหล่งแปรรูปผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะช่วยให้การแก้ไขปัญหากุ้งทะเลของประเทศไทยเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเร่งผลักดันแผนปฏิบัติการเพื่อยกระดับการแก้ไขปัญหากุ้งทะเลเป็นวาระแห่งชาติ พ.ศ. 2568 - 2572 ให้พร้อมสู่การปฏิบัติได้โดยเร็วที่สุด เพื่อเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการกุ้งทะเลในทุกห่วงโซ่อุปทานให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และพร้อมที่จะกลับมาเป็นผู้นำการส่งออกในอันดับต้น ๆ ของโลกอีกครั้ง