อุดรธานี ลั่นกลอง พร้อมแล้วจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก ปี 69

มหกรรมพืชสวนโลก คืองานหกรรมจัดแสดงด้านพืชสวนกลางแจ้ง ประเทศที่จะเป็นเจ้าภาพได้ ต้องเป็นสมาชิกสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (AIPH) หมุนเวียนกันไป
KEY
POINTS
- งานมหกรรมพืชสวนโลก 1 พฤศจิกายน 2569 - 14 มีนาค
สมาคมพืชสวนระหว่างประเทศได้แบ่งการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่ ระดับ A1 (World Horticultural Exhibition) ระดับ B (International Horticultural Exhibition) ระดับ C (International Horticultural Show) และระดับ D (International Horticultural Trade Exhibition) ซึ่งแต่ละระดับมีข้อกำหนดเฉพาะที่แตกต่างกัน เช่น ระยะเวลาการจัดงาน พื้นที่ขั้นต่ำของการจัดแสดง และระยะเวลาที่ต้องแจ้งความประสงค์ล่วงหน้าในการเป็นเจ้าภาพจัดงาน เป็นต้น
ในส่วนของการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก ณ พื้นที่ชุ่มน้ำหนองแด ตำบลกุดสระ อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2569 - วันที่ 14 มีนาคม 2570 จัดอยู่ในระดับB โดยมีทางจังหวัดอุดรธานีเป็นเจ้าภาพหลัก ร่วมด้วยภาคเอกชนในพื้นที่และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมาย นางสาวอนงค์นาถ จ่าแก้ว ผู้ช่วยเลขานุการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ให้เกียรติเป็นประธานงานแถลงข่าวงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ.2569 โดยมีนางวิลาวัณย์ ใคร่ครวญ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร พร้อมด้วย นายราชันย์ ซุ้นหั้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ร่วมแถลงข่าว ถึงความพร้อมการจัดงาน
นางสาวอนงค์นาถ จ่าแก้ว เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า งานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ.2569 ภายใต้แนวคิด “Diversity of Life, connecting people, water and plants for sustainable living ความหลากหลายแห่งสรรพชีวิต : สายสัมพันธ์แห่งผู้คน สายน้ำและพืชพรรณ สู่การดำรงชีวิตที่ยั่งยืน”
พร้อมชูวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” รวมพื้นที่จัดงาน 1,030ไร่ เพื่อนำความรู้แลกเปลี่ยนวิชาการและเทคโนโลยีสู่ระดับนานาชาติ โชว์ศักยภาพพืชสวนโลก โดยเฉพาะการจัดงานบนพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นครั้งแรกของโลก มุ่งสู่เป้าหมาย “เมืองอัจฉริยะศูนย์กลางการค้าการลงทุน การท่องเที่ยวและไมซ์ (MICE) ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง”
ซึ่งตรงกับเฉลิมฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 10 ปีของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระชนมายุครบ 6 รอบ หรือ 72 พรรษา และวันครบรอบวันสถาปนาเมืองอุดรธานี 134 ปี โดยงานจัดขึ้นในช่วงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2569 - 14 มีนาคม 2570 ณ พื้นที่ชุ่มน้ำหนองแด ตำบลกุดสระ อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก
นางวิลาวัณย์ ใคร่ครวญ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า สิ่งที่พิเศษที่สุดที่สะท้อนถึงความโดดเด่น ในงานมหกรรมพืชสวนโลกที่ จังหวัดอุดรธานี คือ เป็นครั้งแรกที่งานจัดขึ้นในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) และเป็นงานพืชสวนโลกบนพื้นที่ชุ่มน้ำครั้งแรกของโลก /Wet Land ณ พื้นที่ชุ่มน้ำหนองแด ตำบลกุดสระ อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี พื้นที่จัดงานรวม 1,030 ไร่
สำหรับการออกแบบพื้นที่และกิจกรรมแบ่งการใช้งานออกเป็นทั้งหมด 6 โซน โดยมีพื้นที่ไฮไลท์การจัดกิจกรรม ได้แก่ โซนพื้นที่ทางเข้า จุดประชาสัมพันธ์ จุดจำหน่ายบัตร ,โซนสวนนานาชาติ สำหรับการประกวดสวนนานาชาติ, โซนอาคารเรือนกระจก (Greenhouse) สำหรับการประกวดพืช และอาคารอำนวยการ (Exhibition Building) สำหรับการประกวดสวนนานาชาติในอาคาร, โซนพื้นที่จัดแสดงนวัตกรรมทางการเกษตรที่ทันสมัย รวมไปถึงแปลงรวบรวมพันธุ์ การปลูกพืชผสมผสาน, โซนสวนการเกษตรไทย และอาคารหลักต่าง ๆ, โซนสวนป่าคาร์บอนเครดิตและเรือนเพาะชำ รวมถึงพื้นที่ไฮไลท์การจัดกิจกรรมตลอดทั้งงาน
ทั้งหมดนี้สามารถแสดงให้เห็นถึงศักยภาพการพัฒนาด้านพืชสวนและสมุนไพรของไทย โดยเฉพาะพื้นที่ชุ่มน้ำ อีกทั้งการแลกเปลี่ยน พร้อมส่งเสริมพัฒนาและต่อยอดการเกษตรในระดับนานาชาติ ทั้งทางด้านวิชาการ นวัตกรรม เทคโนโลยี และการวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อสร้างพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ให้เป็นศูนย์กลางด้านการค้าการลงทุน และศูนย์กลางนวัตกรรมด้านการเกษตรของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิต การวิจัย และการต่อยอดไปสู่ BCG Model (Bio Economy, Circular Economy, Green Economy) เศรษฐกิจชีวภาพ ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และระบบเศรษฐกิจสีเขียว สร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ”
“งานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569” คาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานทั้งสิ้นประมาณ 3.6 ล้านคน ทำให้มีกระแสเงินสดหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจำนวนมหาศาลจากภาคการท่องเที่ยว และการใช้จ่ายเงินของภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการจัดงาน รวมถึงเกิดการกระตุ้นการใช้จ่าย ตลอดช่วงระยะเวลาจัดงาน 134 วัน รายได้สะพัดกว่า 32,000 ล้านบาท (สามหมื่นสองพันล้านบาท)
นอกจากนี้ “งานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569” ยังมีจัดกิจกรรมการประกวดออกแบบมาสคอต เปิดโอกาสให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชนทั่วไป ในนามบุคคลหรือกลุ่ม ได้แสดงความคิดสร้างสรรค์ ออกแบบมาสคอตให้สอดคล้องกับคอนเซปต์ของโครงการฯ “ความหลากหลายแห่งสรรพชีวิต สายสัมพันธ์แห่งผู้คน สายน้ำ และพืชพรรณ สู่การดำรงชีวิตที่ยั่งยืน” เพื่อชิงเงินรางวัลมูลค่า 50,000 บาท โดยสามารถส่งผลงานได้ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ - 1 เมษายน 2568
“งานนี้ถือเป็นการเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระดับนานาชาติร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัยจากทั่วทุกมุมโลก เพื่อต่อยอดงานวิจัยและการพัฒนาพืชสวนของไทย โดยมีเป้าหมายหลักในครั้งนี้ คือ สร้างพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ให้เป็นศูนย์กลางด้านการค้าการลงทุนของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง การนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของคนในท้องถิ่น ซึ่งครั้งนี้ กรมวิชาการเกษตร เชื่อมั่นว่าทุกภาคส่วนพร้อมร่วมมือและขับเคลื่อนในการจัดงาน มีกรอบการทำงานชัดเจน หน่วยงานราชการ ภาคเอกชน และผู้ที่เกี่ยวข้อง เน้นย้ำว่าประเทศไทยยืนยันในความพร้อม และสร้างความมั่นใจให้แก่คณะกรรมการ AIPH ในการดำเนินการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานีให้สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์และทันในการเปิดงานภายในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2569 อย่างแน่นอน”
ด้าน นายราชันย์ ซุ้นหั้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวถึงความพร้อมของการจัดงานว่า “ในนามจังหวัดอุดรธานี หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนทุกภาคส่วนมีความพร้อมและยืนยันให้การสนับสนุนและส่งเสริมความร่วมมือในการจัด “งานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569” มีแผนการดำเนินงาน และระยะเวลาในการดำเนินงานขั้นตอนต่าง ๆ ที่ชัดเจน ซึ่งจังหวัดอุดรธานีพร้อมก้าวเข้าสู่เมืองที่ยั่งยืน (Sustainable Cities) โดยมีเป้าหมายหลักคือ สร้างสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่ดี สร้างสังคมเข้มแข็ง สะดวก สะอาด ปลอดภัย นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของคนในท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการเกษตรให้เป็นการเกษตรแม่นยำสูง (Precision Agriculture) จัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมจังหวัดอุดรธานี (ศูนย์ AIC) ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี โดยเน้นการนำเทคโนโลยีมาใช้ในภาคการเกษตรเพื่อลดค่าใช้จ่าย และช่วยให้เกษตรกรคาดเดาสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้แม่นยำยิ่งขึ้น เพื่อการต่อยอดและพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งไม่จำกัดอยู่แค่ในพืชสวนเท่านั้น แต่รวมไปถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนอีกด้วย
ทั้งนี้จังหวัดอุดรธานีมีความพร้อมในการจัดงานในทุกด้าน โดยในด้านลักษณะทางกายภาพที่โดดเด่นอย่างหนึ่งของจังหวัดอุดรธานี คือ พื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetland) หรือที่ภาษาท้องถิ่นเรียกว่า “ป่าบุ่ง ป่าทาม” ที่มีอยู่กว่า 900 จุด รวมเป็นพื้นที่กว่า 2,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งพื้นที่ชุ่มน้ำ คือ พื้นที่บริเวณรอยต่อ ระหว่างพื้นที่บกและพื้นที่น้ำ เป็นระบบนิเวศที่มีความหลากหลาย และก่อให้เกิดประโยชน์แก่มนุษยชาติมากมายในด้านการดำเนินชีวิต การหลอมรวมเป็นหนึ่งของวิถีชีวิตและธรรมชาติ ยกระดับวิถีชุมชนและถ่ายทอดอัตลักษณ์ของชุมชน ต่อยอดสู่แนวคิดวิถีชีวิตสีเขียว (Green Living) ที่มุ่งเน้นการสร้างสมดุลของ “มนุษย์” ในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติที่มีความหลากหลายอย่างยั่งยืน นอกจากนี้จังหวัดอุดรธานียังมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่น คือดอกบัวแดง และศิลปะบนเครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง มาผสมผสานจนเกิดเป็นสัญลักษณ์ดอกบัวลายไหบ้านเชียง ซึ่งดอกบัวแดง สื่อถึงทะเลบัวแดง ที่ได้รับการจัดอันดับโดย CNN ให้เป็น 1 ใน 15 ทะเลสาบที่แปลกที่สุดในโลก เป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดอุดรธานีที่มีชื่อเสียงระดับโลก
“งานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569” เป็นงานมหกรรมพืชสวนโลกที่จัดขึ้นในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) และเป็นงานพืชสวนโลกบนพื้นที่ชุ่มน้ำครั้งแรกของโลก ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2569 - วันที่ 14 มีนาคม 2570 ณ พื้นที่ชุ่มน้ำหนองแด ตำบลกุดสระ อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี”
ส่วนหนึ่งเพราะ จังหวัดอุดรธานี มีแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลาย โดยจำแนกได้ออกเป็น 3 ประเภท คือท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ซึ่งมีแหล่งมรดกโลกถึง2 แห่งคือ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท และ แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติเช่น ป่าคำชะโนด ทะเลบัวแดง และการท่องเที่ยวเชิงธรรม เช่น ตามรอย หลวงตามหาบัว วัดบ้านตาด หลวงปู่บุญมีธัมมรโตวัดป่าศรัทธาถวาย (ถ้ำเต่า ) หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เป็นต้น ทั้งหมดจะส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย ในขณะที่ การจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก ขณะนี้มีความพร้อมในทุกด้าน และมีประเทศสมาชิกตอบรับการเข้าร่วมงงานแล้วกว่า 10 ประเทศ
พันโทวรายุส์ ตรีวัฒนสุวรรณ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า ทางภาคเอกชนพร้อมให้ความร่วมมือในการจัดงานครั้งนี้อย่างเต็มที่ โดยได้เตรียมที่พักโรงแรมไว้กว่า9.4 หมื่นห้อง เป็นทั้งโฮมสเตย์ ห้องพักแขกคนสำคัญ และอื่นๆ จัดเตรียมห้องน้ำ รถสาธารณที่ใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เพียงพอกับผู้เข้าชมงานกว่า 3 หมื่นคนต่อวัน ในขณะที่ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานีในการส่งเสริมบุคลากร เพื่อเป็นเจ้าภาพที่ดีในการต้อนรับนักท่องเที่ยว ที่สำคัญการจัดงานครั้งนี้ทำให้เกิดการจ้างงานกว่า 8 หมื่นราย มีวงเงินหมุนเวียนกว่า 32,000ล้านบาท