สมาพันธ์เอสเอ็มอี เปิด 6 ปัจจัยเสี่ยง SME 3.2 ล้านราย ติดหล่มเรื้อรัง

"สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย" เผย SME กว่า 3.2 ล้านราย ยืนอยู่บนความท้าทายใน 6 ปัจจัยเสี่ยงหยุดกิจการหากไม่เร่งปรับตัว
KEY
POINTS
- สงครามภูมิรัฐศาสตร์ความขัดแย้ง ส่งผลต่อต้นทุน ปัจจัยการผลิต ความผันผวนทางเศรษฐกิจและความมั่นคง ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโลกฉุดรั้งการเติบโต
จากฐานข้อมูลสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ปี 2566 ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยมีจำนวน 3,225,743 ราย คิดเป็น 99.5% ของผู้ประกอบการภาคเอกชนทั้งประเทศ จำแนกเป็นเอสเอ็มอีรายย่อย (Micro) จำนวน 2,739,530 ราย (85%) จำนวนการจ้างงาน 5,426,410 ราย
เอสเอ็มอีรายย่อม (Small) จำนวน 439,058 ราย (13.5%) จำนวนการจ้างงาน 5,047,769 ราย และรายกลาง (Medium) จำนวน 47,155 ราย (1.5%) จำนวนการจ้างงาน 2,455,839 ราย
ซึ่งหากแบ่งประเภทเอสเอ็มอีตามนิติบุคคล 875,576 ราย (27%) เอสเอ็มอีส่วนบุคคลและอื่นๆ 2,268,483 ราย (70%) และวิสาหกิจชุมชนจำนวน 81,674 ราย (3%) ขณะที่การจ้างงานของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้งประเทศสูงถึง 12,930,018 ราย หรือ 70% ของการจ้างงานผู้ประกอบการภาคเอกชนทั้งประเทศ โดยการจ้างงานของเอสเอ็มอีนิติบุคคลมีจำนวน 4,887,070 ราย และเอสเอ็มอีส่วนบุคคลและอื่นๆจำนวน 8,042,948 ราย
นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มไทย กล่าวกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า จำนวนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแบ่งออกเป็น 4 ภาคธุรกิจ คือ ภาคการค้ามีจำนวนผู้ประกอบการสูงสุด คือ 1,346,641 ราย รองลงมา คือ ภาคการบริการ 1,304,004 ราย ภาคการผลิต 515,759 ราย และภาคธุรกิจการเกษตรจำนวน 59,339 ราย
ทั้งนี้ การให้ความสำคัญกับการลดลงและเพิ่มขึ้นของกิจการเอสเอ็มอีไทยที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจกับประเด็นข้อเท็จจริงที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ คือ
1. เอสเอ็มอี นิติบุคคลและบุคคลธรรมดาที่อยู่ในฐานข้อมูลขึ้นทะเบียกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า แบ่งออกเป็นกลุ่มที่ปิดกิจการอย่างเป็นทางการดังตัวเลขที่เปิดเผยออกมา และอีกกลุ่ม คือ กลุ่มที่ยื่นงบเปล่าไม่มีรายได้ 1-3 ปี ซึ่งคาดว่ามีอยู่จำนวนไม่น้อย ขณะที่อีกกลุ่มที่น่าสนใจ คือ กลุ่มเอสเอ็มอีที่ประสบกับสภาวะขาดทุน รายได้ลด กำไรหดหายซึ่งเป็นข้อมูลที่จะสะท้อนภาพเศรษฐกิจได้ในระดับที่ดี หากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและหน่วยงานภาครัฐต่างๆที่เกี่ยวข้องนำฐานข้อมูลมาจัดระบบ ระเบียบและให้ AI วิเคราะห์ประมวลผลจะสะท้อนขีดความสามารถทางเศรษฐกิจของเอสเอ็มอีและต้องแยกเอสเอ็มอีที่เป็นบริษัทลูกหรือเครือข่ายผู้ถือหุ้นของรายใหญ่ออกด้วย
2. เอสเอ็มอี บุคคลธรรมดาที่อยู่ในฐานข้อมูลของกรมสรรพากร และเป็นบุคคลธรรมดาที่อาจประกอบอาชีพทำงานประจำและมีรายได้จากการประกอบธุรกิจต่างๆอีกด้วย หากนำตัวเลขการจัดเก็บภาษีในกลุ่มนี้มาประมวลผลเพื่อสะท้อนการมีรายได้เพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ในแต่ละกลุ่มอาชีพ
3. เอสเอ็มอีที่เป็นวิสาหกิจชุมชน OTOP การจัดเก็บฐานข้อมูลรายได้ ผลประกอบการที่เข้าระบบบัญชีจะช่วยในการยกระดับขีดความสามารถวิสาหกิขชุมชนและการยกระดับพัฒนาได้ตรงเป้าหมายอย่างต่อเนื่องเป็นระบบ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงและสร้างชุมชนที่เข้มแข็งไปสู่วิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprises) หรือเติบโตเป็น บริษัท จำกัด ในอนาคตได้อย่างเข้มแข็ง
4. เอสเอ็มอีที่อยู่นอกระบบพ่อค้าแม่ค้าหาบเร่แผงลอยควรต้องได้รับส่งเสริมการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการในทุกพื้นที่และสร้างรูปแบบกลไกการพัฒนายกระดับให้มีทักษะ องค์ความรู้ เครื่องมือในการประกอบอาชีพและแหล่งทุนต้นทุนต่ำให้
สำหรับแนวโน้มสถานการณ์เศรษฐกิจ ปี 2568 ที่เอสเอ็มอีไทย ยืนอยู่บนความเสี่ยงที่ยากจะหลีกเลี่ยงแต่ช่วยกันลดผลกระทบได้ หากร่วมมือกันอย่างจริงจังทั้งภาครัฐ
1. สงครามภูมิรัฐศาสตร์ความขัดแย้ง ส่งผลต่อต้นทุนของวัตถุดิบ ปัจจัยการผลิต ความผันผวนทางเศรษฐกิจและความมั่นคง ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโลกที่เป็นตัวฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจโลก
ดังนั้น การสนับสนุน Local Economy ส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่น เศรษฐกิจหมุนเวียนภายในประเทศแบบพึ่งพาตนเอง ลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ หันมาส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทย เกษตรกรไทยผลิตสินค้าและให้บริการทดแทนการนำเข้า ส่งเสริมการลดการขาดดุลการค้า ความผันผวนของราคา ต้นทุนค่าขนส่งเพิ่มขึ้น โดยมุ่งเป้า TDI และ PPP เพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเชื่อมโยง Demand ทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น
2. สงครามการค้า มาตรการกีดกันทางการค้า ตอบโต้ทางการค้าอย่างรุนแรงจากสหรัฐและจีนรวมทั้งประเทศต่างๆ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ดังนั้น จะต้องทบทวนนโยบายเสรีทางการค้าไทยให้ความเป็นธรรมและโอกาสผู้ประกอบการไทย โดยออกแบบมาตรการปกป้องธุรกิจไทยจากทุนข้ามชาติที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมาย อาทิ ปราบนอมินีรุกธุรกิจเกษตร วัสดุก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ท่องเที่ยว เป็นต้น ในขณะที่ต้องเร่งการสร้างโอกาสให้เอสเอ็มอีไทยยกระดับองค์ความรู้ เข้าถึงมาตรฐาน เทคโนโลยี นวัตกรรม ตลาดมากขึ้น
รวมถึงการใช้ประโยชน์นจากความร่วมมือทางการค้า เศรษฐกิจ CLMV Asian Asia RCEP BRICS OECD การลงทุนระหว่างประเทศให้ผู้ประกอบการไทยมีข้อมูล ช่องทางการเชื่อมโอกาสการค้า การลงทุน การตลาดเพื่อเข้าสู่เศรษฐกิจใหม่
3. สงครามโลกเดือด ซึ่งไม่ใช่แค่ลดโลกร้อน แต่ประเทศไทยต้องสร้างแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและธรรมาภิบาลสู่ความยั่งยืนที่แท้จริง เศรษฐกิจพอเพียงเพื่อเอสเอ็มอี เพื่อผุ้ประกอบการไทย เพื่อเกษตรกร เพื่อแรงงาน เพื่อประชากรไทย
เร่งการเข้าถึงการเรียนรู้ ตระหนักถึงผลกระทบ และการใช้ประโยชน์เรื่อง ESG ทั้งมาตรฐาน เทคโนโลยี นวัตกรรม แหล่งทุนต้นทุนต่ำเพื่อผู้ประกอบการที่ต้องเร่งปรับเปลี่ยนธุรกิจ การปรับยุทธศาสตร์ป้องกัน บริหารจัดการภัยพิบัติของประเทศไทย เพื่อรองรับผลกระทบในอนาคต และลดความเสี่ยงจากความเสียหายของประชาชนที่ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และปัญหาหนี้ครัวเรือน
4. สงครามเทคโนโลยี AI การเร่งปฏิรูปปรับระบบราชการการบริหารจัดการเทคโนโลยีบล็อกเชนช่วยภาครัฐให้อำนวยความสะดวกในภาคเอกชนเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน การแก้ปัญหาการขออนุญาตที่ล้าสมัย ขั้นตอนยุ่งยาก ซับซ้อน ใช้ระยะเวลานาน และช่องทางการทุจริตคอร์รัปชั่น รวมทั้งการปรับฐานข้อมูลเชื่อมโยงกันของภาครัฐในการจัดสรรงบประมาณ โครงการเพื่อบูรณาการให้คุ้มค่าสูงสุด
ส่งเสริมผู้ประกอบการภาคเอกชน เกษตรกรในการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี ซอฟแวร์ แอปพลิเคชั่น แพลตฟอร์มของคนไทย และสนับสนุนมาตรการการพัฒนา เข้าถึง ประยุกต์ใช้ และกำลังคนด้านเทคโนโลยีดิจิทัล AI นวัตกรรม ทั้งผู้ประกอบการเทคโนโลยี ผู้ประกอบการที่ใช้ประโยชน์เทคโนโลยีและนวัตกรรมในทุกระดับ
การพัฒนาระบบการศึกษา วิจัยและพัฒนา การยกระดับขีดความสามารถกำลังคนด้านเทคโนโลยีดิจิทัล AI ในทุกช่วงวัย เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านและเพิ่มความสามารถแข่งขันของกำลังคนและประเทศไทย
5. สงครามสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี อาทิ การแพทย์แผนไทย สปาความงามให้ประเทศไทยเป็น “ศูนย์กลางสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของโลก” ด้วยการพัฒนาระบบสาธารณสุข ที่อยู่อาศัย สภาพแวดล้อมและบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความพร้อมในการรองรับเศรษฐกิจสุขภาพ โดยเร่งใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมในการลดฝุ่น PM2.5 และมาตรการบริหารจัดการฝุ่นให้ประเทศไทยเป็นประเทศอากาศสะอาด
6. สงครามพัฒนากำลังคน เน้น “e-Workforce Up skills platform” กลไกระบบการส่งเสริม สนับสนุนการ Up Skills เพิ่มผลิตภาพให้กำลังคนทุกช่วงวัยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการและแรงงาน เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการในการพัฒนาเศรษฐกิจ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของโลก เกิดการจ้างงานที่มีคุณค่า จ้างงานที่เป็นธรรม และลดปัญหาการว่างงาน ช่วยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน และหนี้เสียด้วยผลิตภาพกำลังคนเพื่อสร้างโอกาสทางรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น