'สมาพันธ์เอสเอ็มอี' ฝาก 6 โจทย์ทีมเศรษฐกิจ ผสานความรู้ควบคู่คุณธรรม

'สมาพันธ์เอสเอ็มอี' ฝาก 6 โจทย์ทีมเศรษฐกิจ ผสานความรู้ควบคู่คุณธรรม

"สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย" หวังรัฐบาลใหม่ขับเคลื่อนนโยบายที่ไม่มุ่ง “แจก จ่าย จบ และ จน" เผย สิ่งสำคัญต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วย “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ฝากทีมเศรษฐกิจ นำมาประยุกต์ใช้กับการบริหารราชการแผ่นดินในการใช้ “ความรู้ ควบคู่ คุณธรรม”

KEY

POINTS

  • สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ระบุอนาคตเศรษฐกิจไทยที่ประชาชนและผู้ประกอบการฝากไว้กับทีมเศรษฐกิจรัฐบาลใหม่ อยากเห็นฉากทัศน์และการออกแบบนโยบายขับเคลื่อนที่ไม่มุ่ง “แจก (สิ่งของ) จ่าย (เงิน) จบ (โครงการ) จน (เหมือนเดิม)” 
  • การเป็นผู้นำประเทศในสภาวะเศรษฐกิจที่มีปัญหาและอุปสรรคมากมายนับเป็นความท้าทายขีดความสามารถ ศักยภาพของผู้นำที่จะนำการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นกว่าเดิมกับ “การแบกความหวังของคนไทยประเทศ"
  • การผลักดันนำนโยบายต้องเสริมสร้างเศรษฐกิจสมดุลของประเทศและพึ่งพาตนเอง “ไม่ประชานิยมแต่ต้องประชายั่งยืน” ตั้งแต่นโยบายการศึกษา ให้โอกาสเยาวชนได้เรียนต่อเนื่อง นโยบายสาธารณสุขที่มีมาตรฐานดูแลประชาชนอย่างมีคุณค่า
  • ครม.ทีมเศรษฐกิจมีบทบาทสำคัญต่ออนาคตเศรษฐกิจฐานรากไทยช่วงซบเทรา อาจไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่การผสมผสานการทำงานระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นมากด้วยประสบการณ์สูงจะทำให้เกิดความหลากหลายและพลังที่จะแก้ปัญหา

 

ภายหลังจากที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเข้ามาบริหารประเทศ โดยจะมีการแถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎรในสัปดาห์หน้า ภาคเอกชนได้ติดตามการจัดตั้งรัฐบาลและการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาอย่างใกล้ชิด เพราะจะมีผลต่อเศรษฐกิจประเทศ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ "เอสเอ็มอี" ที่อ่อนแรงสะสมจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลให้การค้าโลกชะลอตัว เศรษฐกิจในประเทศไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า อนาคตเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ประชาชนและผู้ประกอบการฝากไว้กับทีมเศรษฐกิจรัฐบาลใหม่นั้น เอสเอ็มอีไทยอยากเห็นฉากทัศน์และการออกแบบนโยบายขับเคลื่อนที่ไม่มุ่ง “แจก (สิ่งของ) จ่าย (เงิน) จบ (โครงการ) จน (เหมือนเดิม)” แต่สิ่งสำคัญ คือ รัฐบาลต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วย “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” นำมาประยุกต์ใช้กับการบริหารราชการแผ่นดินในการใช้ “ความรู้” ควบคู่ “คุณธรรม

ทั้งนี้ เพื่อมุ่งสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน บริหารงบประมาณประเทศให้มีความพอเพียงพอประมาณและประมาณตนนำผลประโยชน์สูงสุดของชาติเป็นที่ตั้ง ซึ่งต้องมีกระบวนการบริหารเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมมุ่ง “ประชาชนเป็นศูนย์กลาง” เพื่อสร้างผลลัพธ์ของชาตินำไปสู่ “ความยั่งยืน”

สำหรับการถอดบทเรียนของการบริหารประเทศในแต่ละยุคทั้งปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จและล้มเหลวในอดีตจะสร้างคุณค่ากับการบริหารราชการแผ่นดินในปัจจุบันและอนาคตของนางสาวแพรทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สุภาพสตรีคนรุ่นใหม่ที่มีพลังในการทำงานอย่างสร้างสรรค์และทันสมัยต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก การเป็นผู้นำประเทศในสภาวะเศรษฐกิจที่มีปัญหาและอุปสรรคมากมายนับเป็นความท้าทายขีดความสามารถ ศักยภาพของผู้นำที่จะนำการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นกว่าเดิมกับ “การแบกความหวังของคนไทยประเทศ

การผลักดันนำนโยบายไปใช้ต้องเสริมสร้างเศรษฐกิจสมดุลของประเทศและพึ่งพาตนเอง “ไม่ประชานิยมแต่ต้องประชายั่งยืน” ตั้งแต่นโยบายการศึกษาที่ต้องให้โอกาสเยาวชนได้เรียนต่อเนื่องจนถึงมหาวิทยาลัยด้วยคุณภาพการศึกษาที่ใกล้เคียงกัน นโยบายสาธารณสุขที่ทำมาได้ดีในอดีตแต่จะต้องยกระดับคุณภาพระบบสาธารณสุขให้มีมาตรฐานการให้บริการและดูแลประชาชนอย่างมีคุณค่า

นโยบายระบบสวัสดิการรัฐทั้งวัยแรงงานและผู้สูงอายุที่ต้องตอบโจทย์ความต้องการและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีทุกช่วงวัย นโยบายส่งเสริมเอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชน เกษตรกรและแรงงานที่มุ่งพัฒนากำลังคนที่มีทักษะ สมรรถนะ ขีดความสามารถสูง นโยบายภาครัฐที่ทันสมัยป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างเอาจริงเอาจัง เป็นต้น จะทำให้นายกรัฐมนตรีนำประเทศเปลี่ยนผ่านไปสู่ “ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ด้วยกันทั้งประเทศ

โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่นั้น ประชาชนอยากให้มีความพร้อมที่จะช่วยกันทำงานเป็นทีม สร้างผลงานแก้ปัญหาพัฒนาประเทศ สร้างงานสร้างอาชีพให้ประชาชนอยู่ดีกินดีเป็นที่ประจักษ์และเปิดใจรับฟังเสียงแนะนำของทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้าน วุฒิสภา องค์กรอิสระ ประชาชน อะไรดีต้องทำ “ไม่สำคัญว่าความคิดใคร แต่ประเด็นสำคัญ คือ ทำแล้วเกิดประโยชน์จริงเป็นที่ชื่นชมของประชาชนหรือไม่ต่างหาก จะเป็นสิ่งที่ทำให้ประชาชนจดจำ

รวมถึงไม่สร้างวาทกรรมกระตุ้นสร้างความขัดแย้งของสังคมแต่ต้องลงมือทำให้เกิดผลงาน ต้องเร่งดำเนินการให้เกิดความต่อเนื่องและการทำงานที่มีพรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรคต้องสร้าง “ความรู้รักสามัคคี ที่ผลประโยชน์ชาติต้องมาก่อนพรรค (พวก) และครอบครัว

นอกจากนี้ ครม.ทีมเศรษฐกิจมีบทบาทสำคัญต่ออนาคตเศรษฐกิจฐานรากไทยช่วงซบเทรา ขณะที่ ครม.ทีมเศรษฐกิจ อาจไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนักแต่การผสมผสานการทำงานระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นมากด้วยประสบการณ์สูงจะทำให้เกิดความหลากหลายและพลังที่จะแก้ปัญหาเพราะวันนี้ประเทศเราไม่ได้แข่งกันเองแต่แข่งกับเวทีโลก 6 เรื่องที่ รอ ครม.ขับเคลื่อนอย่างจริงจัง คือ

1. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากและการกระจายรายได้ที่มุ่งเน้นสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชนท้องถิ่นสู่ความยั่งยืน

2. มาตรการลดค่าครองชีพประชาชน แรงงานและลดต้นทุนผู้ประกอบการทั้งสินค้าอุปโภคบริโภคราคาประหยัดพลังงานไฟฟ้า น้ำมัน ก๊าซหุงต้ม

3. มาตรการเข้าถึงแหล่งทุนต้นทุนต่ำเอสเอ็มอีและการแก้ไขหนี้ทั้งระบบ

4. มาตรการยกระดับขีดความสามารถเอสเอ็มอีและภาคแรงงานอย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ นวัตกรรม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม

5. มาตรการแก้ไขปัญหาอุปสรรคจากกฎ ระเบียบ ประกาศ กฎหมายในการดำเนินธุรกิจประกอบอาชีพของผู้ประกอบการให้มีหน่วยงานเจ้าภาพดำเนินการร่วมกับภาคเอกชน ภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องเพื่อปลดล็อคกระบวนงานต่างๆที่สร้างของ

6. มาตรการเชิงรุกปักหมุดยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ประเทศไทยต้านทุนข้ามชาติที่ดำเนินธุรกิจไม่เป็นธรรมและส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการและแรงงานไทย

เอสเอ็มอีไทยพร้อมร่วมมือและเป็นกำลังใจให้รัฐบาลชุดใหม่เปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจดั้งเดิมสู่เศรษฐกิจใหม่ที่ต้องให้เศรษฐกิจฐานรากเจริญรุ่งเรืองไปด้วยกัน” นางแสงชัย กล่าว