กติกาพัฒนาคลองเตยเมื่อท่าเรือทั่วโลกหนุน“ศก.-สิ่งแวดล้อม”

“ท่าเรือ” คือโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการรักษาห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกให้ขับเคลื่อนไปได้ ท่าเรือจึงไม่เพียงแต่มีความสำคัญต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
แต่ยังมีส่วนสนับสนุนอย่างมากต่อการจ้างงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจของหลายประเทศอีกด้วย “โดยรวมแล้ว มีการจ้างงานโดยตรงกับธุรกิจท่าเรือถึง 30 ล้านคน และอีกยังมีงานอีก 90 ล้านตำแหน่งที่มีความเกี่ยวข้องทางอ้อมกับระบบนิเวศของท่าเรือ” รายงาน Nature Positive: Role of the Port Sector จัดทำโดยสภาเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum : WEF ระบุ
ดังนั้นธุรกิจท่าเรือจึงมีบทบาทสำคัญกับการตั้งเข็มทิศด้านการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม สำหรับประเทศไทยซึ่งมีเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศในสัดส่วนที่สูงถึง 70% ก็มีท่าเรือสำคัญๆ อย่าง ท่าเรือกรุงเทพ หรือ ท่าเรือคลองเตย ซึ่งกำลังมีแผนการพัฒนาขนาดใหญ่ที่รอการลงมือทำอยู่
ล่าสุดการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อดำเนินการปรับแก้พระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 เป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้การท่าเรือสามารถดำเนินธุรกิจอื่นเพิ่มเติมจากการให้บริการท่าเรือเพื่อการขนส่งสินค้า พร้อมทั้งยังสามารถตั้งบริษัทลูก เพื่อร่วมทุนกับเอกชนหรือหน่วยงานอื่นๆ ในการพัฒนาธุรกิจใหม่ภายใต้กรอบ “กิจการเกี่ยวเนื่อง” สามารถส่งเสริมและสนับสนุนกิจการท่าเรือ
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ครม.เมื่อวันที่ 21 ม.ค.2568 เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย ฉบับใหม่ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494
การพลิกโฉมท่าเรือเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการหารายได้ไม่เพียงการปรับแก้ พ.ร.บ.ท่าเรือ แต่ขณะนี้ กทท. ยังอยู่ระหว่างศึกษาแผนแม่บท (มาสเตอร์แพลน) เพื่อนำร่องพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ หรือ ท่าเรือคลองเตย ใช้ประโยชน์บนที่ดิน 2,353 ไร่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยคาดว่ามาสเตอร์แพลนนี้จะแล้วเสร็จเป็นรูปธรรมภายใน 6 เดือนนับจากนี้
เมื่อเร็วๆนี้ นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ประชุมติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคลองเตย ร่วมกับเลขาธิการมูลนิธิดวงประทีป และตัวแทนทั้ง 26ชุมชน สรุปสาระสำคัญจากการประชุม เครือข่ายที่อยู่อาศัยคลองเตยมีข้อเรียกร้องและติดตามความคืบหน้า 3 เรื่อง ได้แก่
1. ขอให้พิจารณามีคำสั่งแต่งตั้งผู้แทนภาคประชาชน (เครือข่ายที่อยู่อาศัยคลองเตย) เข้าร่วมเป็นอนุกรรมการในอีก 3 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางการใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) และจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนไปมู่การปฏิบัติ เพื่อพิจารณาการจัดที่อยู่อาศัยในพื้นที่ กทท. ตามข้อเรียกร้องขอแบ่งพื้นที่ของชาวชุมชน
คณะอนุกรรมการจัดระเบียบด้านการจราจรและสิ่งแวดล้อมบริเวณโดยรอบท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) อย่างยั่งยืน และคณะอนุกรรมการด้านการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนบริเวณท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) และการประชาสัมพันธ์ ซึ่งภาคประชาชนจะหารือกันอีกครั้งก่อนแจ้งรายชื่อผู้แทนภาคประชาชนที่จะมาเข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมการ
2. กรณีข้อเรียกร้องแบ่งปันที่ 20% ของที่ดิน กทท. เพื่อให้ชาวชุมชน 26 ชุมชน ได้มีพื้นที่อยู่อาศัยรวมกันอย่างไม่กระจัดกระจาย และ กทท. จะได้นำพื้นที่ส่วนอื่น ๆ ไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ขอให้ เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (กทท. สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน)หรือ พอช. ,กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นต้น) มาร่วมหารือกับภาคประชาชนในการหาแนวทางร่วมกันในการจัดการพื้นที่ และออกแบบที่อยู่อาศัย รวมทั้งการบริหารจัดการชุมชน
3. กรณีที่มีโครงการของรัฐหรือโครงการร่วมอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่คลองเตยในอนาคต ที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคประชาชน ขอให้มีการจัดประชุมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคประชาชน เพื่อดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้รับทราบข้อเสนอของภาคประชาชนแล้ว และได้เน้นย้ำกับภาคประชาชนว่า กระทรวงคมนาคม มีนโยบายในการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ให้มีความทันสมัย ควบคู่ไปกับพัฒนาให้เกิดชุมชนและเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง เป็นเมืองที่น่าอยู่ ขอให้ภาคประชาชนมั่นใจนโยบายการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพของ กระทรวงคมนาคม ว่า จะคำนึงถึงผลกระทบที่จะส่งผลต่อชุมชน และให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาประเทศร่วมกันต่อไป
คลองเตยนับเป็นท่าเรือที่ีสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย แต่การขยายตัวทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขทางการค้าโลก กำลังทำให้คลองเตยต้องปรับบทบาทที่สอดคล้องกับบริบที่เป็นปัจจุบันสูงสุด
WEF ยังได้เผยแพร่บทความ การปลดล็อกการเติบโต: ท่าเรือในอนาคตจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงาน และปกป้องธรรมชาติได้อย่างไร สาระส่วนหนึ่งชี้ว่า ท่าเรือคือโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญทั้งหมด โดยท่าเรือ 17,000 แห่งทั่วโลกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและเศรษฐกิจที่ทำหน้าที่เคลื่อนย้ายผู้คน สินค้าและบริการต่างๆ โดยการค้าทั่วโลกประมาณ 80% เคลื่อนตัวผ่านท่าเรือแต่ปัจจุบันที่การค้าโลกยังคงพัฒนาต่อไป ท่าเรือในอนาคตจะต้องรักษาสมดุลที่ละเอียดอ่อนระหว่างการบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจให้ก้าวหน้าและการปกป้องอนาคตของโลกด้วย
“ความร่วมมือกับบริษัทต่างๆ ในภาคส่วนต่างๆ ซัพพลายเออร์ ลูกค้า อุตสาหกรรมต่างๆ หน่วยงานกำกับดูแล ภาคประชาสังคม และชุมชนท้องถิ่น ต่างมีบทบาทสำคัญที่จะทำให้ท่าเรือสามารถผลักดันการเปลี่ยนแปลงที่สอดคล้องกับเป้าหมายความหลากหลายทางชีวภาพระดับโลก เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับธุรกิจและโลก”
คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (The Intergovernmental Panel on Climate Change)
คาดการณ์ว่าหากสถานการณ์สิ่งแวดล้อมยังคงเป็นไปอย่างในปัจจุบัน ระดับน้ำทะเลทั่วโลกจะสูงขึ้นเป็น 29 ถึง 51 เซนติเมตร (ซม.) ภายในปี 2100 หรือ อีก 70 กว่าปีจากนี้
นอกจากนี้ ในรายงาน Global Maritime Trends 2050 ซึ่งเขียนโดย Economist Impact และมอบหมายให้ Lloyd’s Register และ Lloyd’s Register Foundation ได้ประเมินว่าหากไม่ทำอะไรเลย ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น 40 ซม. อาจทำให้ท่าเรือฮูสตัน เซี่ยงไฮ้ และลาซาโร การ์เดนัส(Lazaro Cardenas)ไม่สามารถใช้การได้เลย
ดังนั้น การเอาชนะความท้าทายเหล่านี้จะต้องลงทุนอย่างมากในโครงสร้างพื้นฐานบนบก เช่น ระบบพลังงาน ศูนย์กลางอุตสาหกรรม และสิ่งอำนวยความสะดวกในการเติมเชื้อเพลิงในท่าเรือเนื่องจากการสร้างท่าเรือใหม่ๆ หรือ พัฒนาท่าเรือเดิมยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องทั่วโลก ทำให้ท่าเรือเข้ามามีบทบาทสำคัญที่จะทำประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจและการกำหนดทิศทางเพื่อการดูแลสิ่งแวดล้อมโลกในอนาคตด้วย
ท่าเรือชั้นนำบางแห่งได้ดำเนินการเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ตัวอย่างเช่น ท่าเรือดาร์วินในออสเตรเลียได้ออกแผนการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมหลายฉบับ เพื่อลดผลกระทบของเรือที่เข้ามาที่อาจมีผลต่อระบบนิเวศในท้องถิ่น และท่าเรือ Mormugao ในอินเดียให้ส่วนลดค่าธรรมเนียมท่าเรือสำหรับเรือที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่เข้าเทียบท่า เป็นต้น
ในรายงาน Nature Positive: Role of Ports ของฟอรัมเศรษฐกิจโลก ชี้ว่า การพัฒนาท่าเรือที่มีอยู่และสร้างท่าเรือใหม่ขึ้น เท่ากับเป็นการสร้างโอกาสที่จะวางระบบหรือวางแผนเพื่อจัดการกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
โทมัส ธูน แอนเดอร์เซน ประธานกลุ่ม Lloyd’s Register และมูลนิธิ Lloyd’s Register กล่าวว่า การเสริมสร้างชุมชน ส่งเสริมการเติบโตในท้องถิ่นรอบท่าเรือไม่เพียงแต่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจในท้องถิ่นที่ต้องได้รับการสนับสนุนจากอุตสาหกรรมในท้องถิ่น และขับเคลื่อนการพัฒนาระบบท่าเรือที่ยั่งยืน ยืดหยุ่น ผ่านการบูรณาการแนวคิดและแนวทางปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้เข้ากับการดำเนินงานและการจัดการท่าเรือด้วย