'คณิศ' ชี้นโยบายภาษีทรัมป์ ทำเศรษฐกิจสหรัฐฯซบ - เศรษฐกิจโลกหดตัว

'คณิศ' ชี้นโยบายภาษีทรัมป์ ทำเศรษฐกิจสหรัฐฯซบ - เศรษฐกิจโลกหดตัว

'คณิศ'ประเมินทรัมป์ขึ้นภาษีการค้า เศรษฐกิจสหรัฐฯกระทบ เศรษฐกิจโลกหดตัว ทั่วโลกจะตอบโต้การขึ้นภาษีของสหรัฐฯ จีดีพีโลกจะลดลง สินค้าหลายประเทศล้นเกินในตลาดโลก

นายคณิศ แสงสุพรรณ อดีตเลขาธิการสำนักงานนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) เปิดเผยว่า จากการประเมินผลกระทบและแนวทางการตอบโต้จากการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ภายในสหรัฐฯ ระยะสั้น (1-12 เดือน) อัตราเงินเฟ้อจะสูง จะเกิดการหดตัวปริมาณสินค้าในระบบเศรษฐกิจ 

รวมทั้งกำลังซื้อประชาชนลดลงเนื่องจากรายได้แท้จริงลดลง ความไม่เท่าเทียมกันของรายได้จริงสูงขึ้น และมูลค่าในตลาดหุ้นลดลง ทางที่จะบรรเทาคือการลดภาษีภายในประเทศ และการลดราคาน้ำมัน ( เร่งผลิตพลังงาน)ขณะที่จุดเปลี่ยนสู่ระยะปานกลาง ต้องใช้เวลา 8-12 เดือน กว่าที่จะเกิดการผลิตทดแทนการนำเข้าอย่างที่ตั้งใจไว้

ส่วนนอกสหรัฐฯ แบ่งออกเป็น 1. ผลกระทบการส่งออกสินค้าของทุกประเทศจะลดลง ส่งผลให้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)หดตัว และ จีดีพีโลกจะลดลงในระยะสั้น มีข้อสังเกตที่อัตราภาษีการตอบโต้ของสหรัฐฯ 

สำหรับประเทศพัฒนาน้อยสุด( LDCs) สูงกว่าประเทศพัฒนา ( DCs) และแม้แต่จีนมาก ผลกระทบต่อ LDCs ก็เช่นกัน(ลาว 48% ไทย 36% จีน 34% EU 20%) ดังนั้น ต้องระวังความไม่สมดุลของภาวะเศรษฐกิจมหภาคใน LDCs โดยเฉพาะเศรษฐกิจขนาดเล็กที่พึ่งพารายได้การส่งออก ทั้งนี้ คาดว่าจะมีการไหลล้นของสินค้าส่วนเกิน เช่น จากจีน อินเดียและสหภาพยุโรป ที่เคยส่งไปสหรัฐอเมริกาส่งไปยังประเทศอื่น ๆ ทั้งในปริมาณการส่งออกที่มากในราคาถูก (Beggar Thy Neighbor) ซึ่งอาจเกิดการตอบโต้ป้องกันการไหลบ่าของสินค้านำเข้าในประเทศนอกสหรัฐอเมริกากันเอง

2. การตอบโต้อย่างน้อยที่สุด คงมีการคว่ำบาตรผลิตภัณฑ์ของสหรัฐ เช่น Tesla และอื่น ๆ อย่างดุเดือดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีน อินเดีย สหภาพยุโรปและอาเซียน ที่ได้รับผลกระทบ อีกทั้งประเทศนอกสหรัฐอเมริกา จะมองหาทางออกในการเสริมสร้างความเข้มแข็ง การค้าในภูมิภาค เช่น เขตการค้าเสรีอาเซียน(AFTA)ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ในขณะที่เวทีเอเชีย-แปซิฟิก ที่สหรัฐจัดตั้งไว้จะหมดบทบาท

 ด้านจีนและสมาชิกบริกส์ (BRICS)จะผลักดันอย่างหนักเพื่อเป็นทางเลือกในการตอบโต้การตอบโต้ทางภาษีฝ่ายเดียวของสหรัฐฯ และในระดับโลกทางองคืการการค้าโลก( WTO) ที่ไม่นับรวมสหรัฐฯ อาจเป็นทางเลือกให้กลไกการกำกับดูแลการค้าโลก เดินต่อได้ ซึ่งจะช่วยกำกับดูแลการค้าเพื่อการพัฒนา (ไม่ใช่การค้าเสรี)ของ 85% การค้าโลก ในแบบของ WTO ที่แม้ไม่สมบูรณ์แบบ แต่ก็เป็นทางเลือกที่พอทำได้เร็ว