“ศก.ดิจิทัล”เร่งโลกใช้“น้ำ”เพิ่มสวนอุปทาน“ปริมาณ-คุณภาพ”ลด

“ศก.ดิจิทัล”เร่งโลกใช้“น้ำ”เพิ่มสวนอุปทาน“ปริมาณ-คุณภาพ”ลด

“น้ำ” ปัจจัยยังชีพที่สำคัญที่สุด และน้ำ ก็มีสัดส่วนมากที่สุดในโลกเมื่อเทียบกับแผ่นดิน แต่ประชากรโลกกำลังเผชิญปัญหาการขาดแคลนน้ำ

สภาเศรษฐกิจโลก (WEF) ร่วมกับ McKinsey & Company จัดทำและเผยแพร่รายงาน Water Futures: Mobilizing Multi-Stakeholder Action for Resilience WHITE PAPER MARCH 2025 สาระสำคัญระบุว่า การใช้น้ำเพิ่มขึ้นท่ามกลางการเพิกเฉยต่อการคุ้มครองแหล่งน้ำ  หากไม่ทำอะไรเลยคาดว่าในปี 2593  ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของประเทศที่มีรายได้สูงอาจลดลง 8% ส่วนประเทศรายได้ต่ำจะลดลงถึง 10-15%จากผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำ

“การเปลี่ยนแปลงของความต้องการน้ำทำให้เกิดความไม่สมดุลในอุปทานน้ำ จึงจำเป็นต้องสร้างความยืดหยุ่นตัั้งแต่วันนี้เพื่อให้มั่นใจว่าในอนาคตจะมีความมั่นคงด้านน้ำ ซึ่งหมายรวมถึงด้านความปลอดภัยและการเข้าถึงอย่างเท่าเทียมกันสำหรับทุกคน”

แต่สถานการณ์ปัจจุบันพบว่าความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมเป็นต้นต่อของปัญหาความมั่นคงด้านน้ำที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในทศวรรษหน้า ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ว่านี้ ได้แก่ เหตุการณ์สภาพอากาศเลวร้าย การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ และมลพิษ

ท่ามกลางแหล่งน้ำที่่มีแต่จะลดลง ทางกลับกันพบว่า การบริโภคน้ำยังเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงเวลาที่ผ่านมา ปริมาณการใช้น้ำต่อหัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 650% ทั่วโลกในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา แต่ทรัพยากรน้ำที่เพียงพอต่อหนึ่งคนกลับลดลง ยกตัวอย่างเช่นในจีนที่ประเมินว่าลดลงไปถึง 50%ช่วงกว่า 60 ปีที่ผ่านมา 

ทั้งนี้เป็นผลมาจาก การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริโภค นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี หรือแม้แต่ความพยายามลดคาร์บอนก็ด้วย คาดว่าอุตสาหกรรมทั้งหมดจะต้องใช้น้ำมากขึ้น

"โลกที่สู่ระบบดิจิทัลและความต้องการด้านดาต้าเซ็นเตอร์ การจัดเก็บและการเชื่อมต่อข้อมูล ต่างต้องการน้ำเพื่อ ระบายความร้อนเซิร์ฟเวอร์ และยิ่งขนาดของดาต้าเซ็นเตอร์ใหญ่มากขึ้น ความต้องการน้ำก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น แต่ปริมาณน้ำที่มีอยู่กลับลดลง ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่ปริมาณเท่านั้นแต่รวมถึงคุณภาพซึ่งในบางอุตสาหกรรมต้องการน้ำที่มีคุณภาพสูง บริสุทธิ์ และสะอาดมากกว่าน้ำดื่มเสียอีก

น้ำมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ

มูลค่าการใช้น้ำเชิงเศรษฐกิจที่วัดได้ทั้งหมดซึ่งเกิดจากการบริโภคโดยตรงและปัจจัยแวดล้อม คาดว่าอยู่ที่ 58 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งเท่ากับประมาณ 60% ของ GDP ทั่วโลก

 ปัจจุบัน ปริมาณการใช้น้ำจืดอยู่ที่ 4.3 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร (m3) ต่อปี โดยภาคเกษตรกรรมใช้ 70% ภาคอุตสาหกรรมใช้ 20% และภาคเทศบาลใช้ 10%  

ทั้งนี้ ปริมาณการใช้น้ำแตกต่างกันไปตามปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาค โดยมีการใช้น้ำเพื่อการเกษตรสูงกว่าในแอฟริกาและเอเชีย 80% เมื่อเทียบกับการใช้น้ำเพื่ออุตสาหกรรมในยุโรป  60%

สำหรับอุตสาหกรรมแล้วน้ำมีความสำคัญในทุกขั้นตอนของห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่วัตถุดิบและซัพพลายเออร์ไปจนถึงการดำเนินงานโดยตรงและการใช้ผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับภาคส่วนที่มีความต้องการน้ำสูง เช่น การทำเหมืองและอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซต้นน้ำ จึงไม่น่าแปลกใจที่จะได้เห็นการแข่งขันเพื่อดึงซัพพลายน้ำไว้ใช้พื่อให้แน่ใจว่าอุตสาหกรรมจะไม่สะดุด 

“ขณะที่ศูนย์ข้อมูลใช้น้ำคุณภาพเท่าน้ำดื่มเพื่อการระบายความร้อน แต่การทำเหมือนแร่กลับส่งผลต่อคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำ เช่นเดียวกับภาคการเกษตรก็ต้องการน้ำที่เพียงพอและต่อเนื่อง ส่วนภาคครัวเรือนก็มีกิจกรรมการใช้น้ำที่หลากหลายมากขึ้นตามไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป ” 

รายงานระบุว่า ศูนย์ข้อมูลขนาด 1 เมกะวัตต์ (MW) สามารถใช้น้ำได้มากถึง 25.5 ล้านลิตรต่อปี เพื่อการระบายความร้อนเพียงอย่างเดียวซึ่งเทียบเท่ากับการใช้น้ำในแต่ละวันของประชากรประมาณ 300,000 คน

การแข่งกันใช้น้ำ อยู่บนเงื่อนไขความท้าทายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้แหล่งน้ำมีความเสี่ยง และถึงเวลาแล้วที่จะต้องคุ้มครองทรัพยากร “น้ำ”อย่างจริงจัง

ดังนั้น ต้องมีการพูดถึงเงินทุนที่ต้องมีการจัดสรรมาอย่างเหมาะสมเพราะปัจจุบันมักเป็นการจัดสรรเพียงระยะสั้นและไม่เพียงพอที่จะจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ เกิดเป็นช่องว่างระหว่างเงินทุน กับ ปัญหาที่ต้องแก้ไข ทั้งที่ธนาคารโลกประมาณการว่าอัตราการดำเนินการงบประมาณประจำปีที่ดูแลเรื่องน้ำควรอยู่ที่ ประมาณ 72%

นอกจากนี้ การจัดการน้ำยังมีความซับซ้อนมากและมักกระจัดกระจาย เนื่องจากต้องอาศัยการมีส่วนร่วมในระดับสถาบันและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายรายจากหลายภาคส่วน 

การจัดการน้ำโดยทั่วไปมักถูกจำกัดด้วยขีดความสามารถที่ไม่เพียงพอและแยกส่วน การประสานงานก็เป็นแบบต่างระดับ เช่น ชุมชน เมือง รัฐบาลกลาง ระดับชาติ ระดับนานาชาติ ส่งผลให้เกิดนโยบายที่ไม่สอดคล้องกัน เขตอำนาจการจัดการก็ทับซ้อนกัน จึงเป็นการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่มีประสิทธิภาพ

     ทั้งที่ความท้าทายกำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น รายงานระบุว่า  จากปัจจุันคาดว่าจะนำสถานการณ์กำลังไปสู่ภาวะแห้งแล้งและภาวะขาดแคลนน้ำที่เพิ่มมากขึ้น ภายในปี 2593 คาดว่าประชากรประมาณ 5 ถึง 6 พันล้านคน ซึ่งคิดเป็นจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลกจะอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำ และจากแนวโน้มปัจจุบันพบว่า ความต้องการน้ำทั่วโลกสัดส่วน 40% จะไม่ต้องรับการตอบสนอง หรือ ขาดแคลน หรือ ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรน้ำได้ภายในปี 2573 

   ตามข้อมูลของธนาคารโลกวัฏจักรน้ำที่คาดเดาไม่ได้และไม่สมดุลอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อธุรกิจและเศรษฐกิจได้เช่นกัน นอกเหนือจากผลกระทบต่อ GDP ที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้แล้ว คาดว่าการสูญเสียจากการประกันภัยทั่วโลกจากเหตุการณ์ที่เกิดจากน้ำจะมีมูลค่าเฉลี่ย 200,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีภายในปี 2577 โดยอาจสูญเสียได้ถึง 350,000 ล้านดอลลาร์

        ดังนั้น ขณะนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะเปลี่ยนจากรูปแบบการใช้น้ำในปัจจุบันโดยการออกแบบระบบน้ำใหม่เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ยืดหยุ่นมากขึ้น และพร้อมที่จะดูดซับแรงกระแทกและความเครียดในอนาคต การเปลี่ยนแปลงวิธีคิดและการจัดการน้ำในปัจจุบันจะนำไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนและมีน้ำอุดมสมบูรณ์มากขึ้นซึ่งเป็นรากฐานสำหรับอนาคต