วิกฤตการณ์พระพุทธศาสนาสยามวงศ์ในศรีลังกา | ธงชัย พรรณสวัสดิ์

วิกฤตการณ์พระพุทธศาสนาสยามวงศ์ในศรีลังกา | ธงชัย พรรณสวัสดิ์

ผมไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ และก็ไม่ใช่นักการศาสนา จึงไม่มีความรู้พอที่จะบอกได้ว่าพุทธศาสนาเข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกตั้งแต่เมื่อใด พ.ศ.ใด

แต่ผมพอจะมีความรู้พื้นฐานอยู่บ้างว่า ประเทศไทยกับประเทศศรีลังกามีความสัมพันธ์กันในการสืบทอดรวมทั้งพัฒนาและฟื้นฟูพระพุทธศาสนามาด้วยกันตั้งแต่ในอดีต โดยฝ่ายไทย(หรือสยามในขณะนั้น) ได้รับเอาพระพุทธศาสนาจากประเทศลังกา (ไม่มีคำว่า ‘ศรี’ อยู่ข้างหน้าในขณะนั้น) มาถือปฏิบัติตั้งแต่ราวพุทธศักราช ๑๘๐๐  

พุทธศาสนาเถรวาทในไทยจึงเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ‘พุทธศาสนาลังกาวงศ์’  ต่อมาในยุคสมัยอยุธยาของสยามประเทศ  พระพุทธศาสนาในลังกาได้เสื่อมถอยลงมากจนถึงขั้นวิกฤติ  กษัตริย์ของลังกาในสมัยนั้น จึงได้ส่งทูตมานิมนต์พระสงฆ์สยามไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศของตน 

พระพุทธศาสนาในประเทศลังกาจึงได้ฟื้นตัวขึ้นใหม่ภายใต้นิกายที่เรียกว่า ‘พระพุทธศาสนาสยามวงศ์’ มาจนถึงปัจจุบัน เมื่อพูดถึงปัจจุบัน  ปีปัจจุบันนี้ก็คือปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ซึ่งเป็นปีที่ประเทศศรีลังกาประสบปัญหาเศรษฐกิจและวิกฤติพลังงาน รวมทั้งวิกฤติการณ์ทางการเมืองอย่างมาก   

มากขนาดที่ประเทศไม่มีทุนสำรองระหว่างประเทศ  และไม่มีเงินตราต่างประเทศที่จะใช้ไปซื้อและนำเข้าพลังงาน ซึ่งมีผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังภาคการผลิตไฟฟ้า  ทำให้ต้องระงับการจ่ายไฟ และต้องปันไฟกันใช้นานถึง 13 ชั่วโมงต่อวัน   

เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นก็เกิดวิกฤติการณ์ด้านสาธารณสุขตามมา จนแพทย์ต้องออกมาเตือนว่าหากไม่แก้ไขโดยเร็วการสาธารณสุขจะถึงกับล่มทั้งระบบ เพราะไม่สามารถทำการผ่าตัดได้รวมทั้งขาดแคลนยาเพื่อรักษาชีวิต  

สิ่งนี้ทำให้ประชาชนประสบความยากลำบากสาหัสที่สุดนับตั้งแต่ได้รับเอกราชมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๑   จนต้องออกมาเดินขบวนประท้วงเพื่อขับไล่รัฐบาล เหตุการณ์นี้นับวันดูจะไร้ทางออกในเร็ววันและอาจพัฒนาปะทุไปเป็นกลียุคกลางเมือง  

แม้เหตุการณ์อาจไม่รุนแรงไปถึงขั้นนั้น  แต่ทุกวันนี้ประชาชนก็เดือดร้อนและจำตัองดำรงชีพในชีวิตประจำวันอย่างลำบาก   และเมื่อประชาชนขาดรายได้ ขาดทุนทรัพย์ บุคคลกลุ่มหนึ่งที่จะต้องได้รับผลกระทบตามไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือพระภิกษุสงฆ์  

ในสภาพการณ์เช่นว่านี้คนศรีลังกาคงไม่มีกะจิตกะใจที่จะไปทำบุญตักบาตรทั้งในวัดและนอกวัด     ปัจจัยที่จะถวายให้พระสงฆ์ไปบำเพ็ญกิจทางสงฆ์และบูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอารามก็ต้องลดน้อยถอยลงไปโดยปริยาย   ซึ่งถ้าหากเลวร้ายไปถึงสุดๆพระพุทธศาสนานิกายสยามวงศ์ในศรีลังกาก็ต้องถูกกระทบกระเทือนไปด้วยอย่างแน่นอน

คำสอนที่สำคัญคำสอนหนึ่งของพระพุทธองค์คือ ความกตัญญูรู้คุณ ประเทศไทยเรามีพระพุทธศาสนาที่ใช้ปฏิบัติกันมาได้ก็เพราะพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ที่นำเข้ามาจากลังกา     และประเทศไทยได้เคยนำพระพุทธศาสนากลับไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศลังกา จนคนศรีลังกายังสามารถนับถือพระพุทธศาสนาที่เป็นสยามวงศ์นี้ได้ตลอดเวลาที่ผ่านมา

ในเหตุการณ์ที่เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง  สิ่งที่คนเราจะลด ละ เลิกก่อนสิ่งอื่นใดก็คือสิ่งที่เกี่ยวกับปากท้องของตนน้อยที่สุด  และหนึ่งในนั้นก็น่าจะเป็นกิจกรรมทางศาสนานั่นเอง  ซึ่งนั่นหมายความว่าพระพุทธศาสนาสยามวงศ์ในศรีลังกาก็ต้องรับการกระทบกระเทือนและควรได้รับการเอาใจใส่ดูแลจากคนไทยเสียแต่เนิ่นๆ  

ผมจึงอยากจะขอถือโอกาสนี้เชิญชวนและเรียกร้องพุทธศาสนิกชนชาวไทยทุกคน โดยเฉพาะองค์กรที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในประเทศไทย มาช่วยกันวิเคราะห์ วิจัยเสียแต่เนิ่นๆเพื่อหาคำตอบและปัจจัยต่างๆ เพื่อนำไปบรรเทาเหตุวิกฤติของพุทธศาสนาสยามวงศ์ในศรีลังกาครั้งนี้ให้ทันกาล   

ทั้งนี้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติและมูลนิธิต่างๆที่เคยได้ประโยชน์จากกิจกรรมของพระพุทธศาสนามาเป็นเวลานาน น่าจะเป็นองค์กรที่ช่วยเรื่องนี้ได้มาก 

สุดท้ายนี้ผมขอขอบคุณล่วงหน้าในทุกสิ่งที่พุทธศาสนิกชนคนไทยจะร่วมกันช่วยทำให้พระพุทธศาสนาสยามวงศ์ยังคงดำรงต่อไปในประเทศศรีลังกาได้อีกนานเท่านาน...ขอบคุณและนมัสการขอบพระคุณครับ.