ร่วมสร้างวัฒนธรรมใหม่ในระบบกฎหมายไทย | ธรรมรักษ์ จิตตะเสโน

ร่วมสร้างวัฒนธรรมใหม่ในระบบกฎหมายไทย | ธรรมรักษ์  จิตตะเสโน

นับแต่กำเนิดมนุษย์ เราก็สร้างและพัฒนากฎเกณฑ์การอยู่ร่วมกันในสังคมตลอดมา การสร้างและการบังคับใช้กฎเกณฑ์การอยู่ร่วมกันได้ปรับเปลี่ยนไปตามสภาพ ลักษณะและขนาดของสังคม

เมื่อสังคมมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นสมาชิกสังคมเพิ่มมากขึ้น จนเป็นเมือง เป็นรัฐ เกิดเป็นการปกครองอย่างจริงจังเป็นผลให้รูปแบบและวิธีการสร้างกฎเกณฑ์การอยู่ร่วมกันก็มีความเปลี่ยนแปลงหรือมีพัฒนาการไป

สังคมขนาดใหญ่สมาชิกสังคมมีจำนวนมากและไม่ได้มีความใกล้ชิดกัน การอยู่รวมกันในสังคมจึงจำเป็นที่จะต้องมีกฎเกณฑ์บังคับใช้ร่วมกัน

กระบวนการหรือวิธีการในการออกกฎเกณฑ์ขึ้นอยู่กับรูปแบบการปกครอง และต้องบังคับใช้กฎเกณฑ์เหล่านั้นอย่างเคร่งครัด จึงจะสามารถทำให้สังคมดำรงอยู่ได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งเป็นที่มาของ “กฎหมาย” อย่างเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
 

สังคมไทยมีปัญหาสำคัญประการหนึ่งคือ ปัญหาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย เพราะประชาชนขาดความเชื่อมั่นและศรัทธาต่อกฎหมาย ซึ่งได้นำเสนอเป็นบทความกฎหมายกับการพัฒนาก่อนหน้านี้แล้ว

บทความนี้ขอนำเสนอแนวทางที่เราจะมาช่วยกันทำและร่วมกันคิดเพื่อพัฒนาวัฒนธรรมในระบบกฎหมายไทยให้สังคมไทยมีความสงบสุขร่มเย็น  

ในขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศที่ดีได้ทั้งเรื่องการบัญญัติกฎหมาย การมีส่วนร่วมในการเสนอร่างกฎหมาย ลักษณะของกฎหมายที่พึงประสงค์และไม่พึงประสงค์ ตลอดจนการใช้การบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย และการศึกษากฎหมาย 

ร่วมสร้างวัฒนธรรมใหม่ในระบบกฎหมายไทย | ธรรมรักษ์  จิตตะเสโน

การบัญญัติกฎหมายเป็นอำนาจสำคัญของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บุคคลเหล่านี้ประชาชนเป็นผู้เลือกโดยผ่านกระบวนการเลือกตั้ง เพื่อให้เป็นตัวแทนทำหน้าที่นิติบัญญัติ

ประชาชนที่ออกเสียงลงคะแนน จึงต้องให้ความสำคัญกับคุณสมบัติของคนที่ตนเลือก ว่ามีสถานะ ความรู้ ความสามารถ ความเหมาะสม ที่จะใช้อำนาจและทำหน้าที่นิติบัญญัติได้ดีที่สุด 

คือต้องพิจารณาอย่างถ่องแท้ว่าบุคคลที่ตนลงคะแนนเสียงให้นั้นมีความมุ่งมั่นทุ่มเทในการทำหน้าที่บัญญัติกฎหมายที่ดีได้เป็นสำคัญ ผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งไม่ควรให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ส่วนตัว หรือแลกเปลี่ยนกับประโยชน์เฉพาะตนเฉพาะกลุ่มมากไปกว่าคุณสมบัติของบุคคลนั้น ๆ ในการทำหน้าที่นิติบัญญัติ.
 

การเสนอร่างกฎหมายหรือเสนอแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย แม้ประชาชนจะได้เลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปทำหน้าที่นิติบัญญัติแทนตนแล้ว แต่ประชาชนก็ยังสามารถมีส่วนร่วมโดยตรงได้โดยร่วมกันเสนอร่างกฎหมายหรือเสนอแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย 

ที่ผ่านมาการมีส่วนร่วมของประชาชนในเรื่องนี้มีน้อยมาก ควรสร้างกิจกรรมในเรื่องนี้ให้มากขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพราะเท่าที่มีอยู่บ้างก็เป็นเรื่องที่ดำเนินการโดยกลุ่มคนที่มีลักษณะเป็นการเฉพาะเรื่อง เฉพาะกลุ่ม และดำเนินการเป็นครั้งเป็นคราวเสียเป็นส่วนใหญ่

กฎหมายที่ออกใช้บังคับควรมีบทบัญญัติที่ชัดเจน กฎหมายเป็นกฎเกณฑ์ที่บังคับบุคคลให้ต้องกระทำหรือห้ามกระทำการใด ๆ จึงควรมีความชัดเจนในตัวเองมากที่สุด กฎหมายที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ดุลพินิจมากเกินสมควร  

โดยเฉพาะดุลพินิจที่ตรวจสอบได้ยาก หรือยุ่งยากในการตรวจสอบอาจเป็นเหตุให้ใช้อำนาจดุลยพินิจไปในทางต่างตอบแทน หรือเกิดความโอนเอียงด้วยระบบอุปถัมภ์ หรือผลประโยชน์ตอบแทนได้โดยง่าย

กฎหมายที่มีลักษณะจำกัดสิทธิ เสรีภาพ หรือทำให้ประชาชนต้องรับภาระเพิ่มขึ้นจะต้องมีเท่าที่จำเป็น กฎหมายต้องไม่เป็นภาระแก่ประชาชนเกินสมควร เช่นมีขั้นตอนมากเกินไปโดยไม่จำเป็น ไม่สะดวก ขั้นตอนที่ทำให้ล่าช้า 

ตลอดจนต้องมีระบบที่ตรวจสอบ แก้ไข ปรับปรุง ยกเลิกกฎหมายที่ล้าสมัย สร้างความยุ่งยาก และมีขั้นตอนที่ไม่จำเป็นอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายที่บังคับใช้ทั่วราชอาณาจักรหรือกฎหมายที่ออกโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ตาม

กฎหมายต้องกำหนดการกระทำที่เป็นความผิดทางอาญาเพียงเท่าที่จำเป็นเท่านั้น การดำเนินคดีอาญาและการลงโทษทางอาญาเป็นมาตรการทางกฎหมายที่ควรใช้ต่อบุคคลที่เป็นภัยต่อสังคมเท่านั้นเพราะโทษทางอาญาเป็นโทษหนักที่สุดที่รัฐจะใช้กับพลเมือง 

การลงโทษทางอาญาในเรื่องเล็กน้อยและมากเกินความจำเป็นไม่เกิดประโยชน์ต่อสังคม เช่น การใช้โทษจำคุกและมีผู้ต้องโทษจำคุกจำนวนมากส่งผลต่อทั้งผู้ต้องโทษและสังคมเป็นอย่างมากและเกิดผลกระทบในระยะยาวด้วย เป็นต้น

ไม่ควรมีกฎหมายที่ไม่มีการบังคับใช้ หรือไม่อาจใช้บังคับใช้อย่างจริงจัง กฎหมายเป็นกฎเกณฑ์ที่ต้องมีสภาพบังคับแต่กฎหมายที่ไม่ได้มีการบังคับใช้อย่างสม่ำเสมอ  หรือใช้โดยไม่เท่าเทียมกัน มีการเลือกปฏิบัติ บังคับใช้กฎหมายแตกต่างกันตามสถานะของบุคคล หรือบังคับใช้กฎหมายกับบุคคลเพียงบางกลุ่ม  จะส่งผลระยะยาวต่อศรัทธาหรือความเชื่อมั่นต่อกฎหมายของประชาชน

จิตสำนึกในการเคารพกฎหมาย หากประชาชนทั่วไปขาดความเคารพกฎหมายยึดเอาความสะดวกสบาย การทำตามใจตนเองเป็นที่ตั้ง ทำตัวไม่รับรู้กฎหมาย โดยว่าเห็นเป็นเรื่องที่ใคร ๆ ก็ทำกันมีทัศนคติว่าทำผิดกฎหมายแล้วหลบเลี่ยงไม่ต้องรับโทษได้แสดงว่าเก่ง ทำผิดแล้วไม่เห็นเป็นอะไร 

ทัศนคตินี้เป็นอันตรายและสร้างปัญหาเรื้อรังในสังคมหากยังคงอยู่ จะเป็นการส่งมอบคุณค่าทางสังคมที่ผิดต่อเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ รวมถึงการที่ประชาชนไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย โดยเห็นว่าเป็นเรื่องเสียเวลา ไม่ใช่ธุระ ไม่ใช่หน้าที่ ในที่สุดแล้วเราเองต้องอยู่ในสังคมที่ไม่เรียบร้อยไม่เป็นธรรมเพราะการกระทำของเราเอง

สุดท้ายหวังว่า เราจะได้ร่วมกันสร้างวัฒนธรรมใหม่ในระบบกฎหมายไทย และเราจะมีกฎหมายและการใช้กฎหมายที่ดี เกิดความเคารพและเชื่อมั่นในกฎหมายร่วมกัน ในส่วนเรื่องการเรียนการสอนและการสร้างบุคลากรทางกฎหมายนั้นขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงระบบการจัดการศึกษากฎหมายครั้งใหญ่ 

ผู้สนใจจะเข้าศึกษากฎหมายตลอดจนบุคคลทั่วไปควรติดตามและร่วมเสนอความเห็นในเรื่องนี้ในช่องทางต่าง ๆ ด้วยก็จะเป็นการช่วยพัฒนาระบบกฎหมายไทยในอนาคตต่อไป.