CSR ที่มีแต่ได้กับได้ | วิฑูรย์ สิมะโชคดี

CSR ที่มีแต่ได้กับได้ | วิฑูรย์  สิมะโชคดี

ทุกวันนี้ ความคาดหวังของผู้คนต่อองค์กรต่างๆ ในเรื่องของ “ความรับผิดชอบต่อสังคม” มีมากขึ้นทุกที จนอาจถือได้ว่า ความคาดหวังในเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติที่อยู่ในระดับสากลเป็นเหมือนกันทั่วโลกแล้ว

แนวปฏิบัติและประเด็นสำคัญๆ ของ “ความรับผิดชอบต่อสังคม” จึงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ คือ นอกจากองค์กรจะต้องทำธุรกิจอุตสาหกรรมอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ด้วยจิตสำนึกของการผลิตหรือบริการที่มีความรับผิดชอบแล้ว  

องค์กรยังต้องยึดมั่นในหลักบรรษัทภิบาล  การเคารพสิทธิมนุษยชน  การปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม  การไม่เลือกปฏิบัติ  ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค  การพัฒนาชุมชนและสังคม  การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม  
 

การยึดมั่นใน “เป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ( SDGs 17 ข้อ )  การปฏิบัติตามพันธสัญญาด้าน “การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ” ( COP26 ) การต่อต้านทุจริตคอรัปชั่น  รวมตลอดถึงความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกหมู่เหล่า เป็นต้น

 “ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร” ( CSR ) ที่ทุกองค์กรสมควรกระทำอย่างเร่งด่วนด้วยความสมัครใจ (นอกเหนือจากการประพฤติปฏิบัติอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว) ก็คือ การประกอบกิจการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ การพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง

การประกอบกิจการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มักจะเริ่มต้นด้วยการให้ความสำคัญกับ “การลดมลพิษที่เกิดจากการประกอบกิจการ” ก่อน  และเพิ่มความจริงจังจนถึงขั้นที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษเลย

“มลพิษ” ในที่นี้หมายถึง ของเสีย วัตถุอันตราย สิ่งปนเปื้อน และมลสารอื่นๆ รวมทั้งกาก ตะกอน หรือสิ่งตกค้างจากสิ่งเหล่านั้น ที่ถูกปล่อยทิ้งจากแหล่งกำเนิดมลพิษ หรือที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ  ซึ่งก่อให้เกิดหรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม 

หรือภาวะที่เป็นพิษภัยอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนได้ และยังหมายความรวมถึงรังสี ความร้อน แสง เสียง กลิ่น ความสั่นสะเทือน หรือเหตุอื่นๆ ที่เกิดหรือถูกปล่อยออกจากแหล่งกำเนิดมลพิษด้วย

โดยทั่วไปแล้ว มลพิษสิ่งแวดล้อม ก็คือ ขยะ (ของแข็ง)  น้ำเสีย (ของเหลว)  และอากาศเสีย (ก๊าซ) ในขณะที่ “แหล่งกำเนิดมลพิษ” จะหมายถึง โรงงานอุตสาหกรรม  ร้านค้า  ร้านอาหาร  อาคาร  สิ่งก่อสร้าง  ยานพาหนะ  และสถานที่ประกอบกิจการใดๆ ซึ่งเป็นแหล่งที่ก่อให้เกิดมลพิษ

ดังนั้น “การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม”   จึงเป็นการตระหนักถึงผลกระทบเชิงลบของการทำธุรกิจอุตสาหกรรมที่มีต่อการดำรงชีวิตอย่างปกติสุขและสิ่งแวดล้อม แล้วทำการบริหารจัดการด้วยการเฝ้าระวัง  เพื่อกำจัดหรือป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบ  หรือทำการบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมถึงการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้กลับคืนสู่สภาพเดิมด้วย

ส่วน “การพัฒนาชุมชน” และสังคมโดยรอบหรือที่อยู่ใกล้เคียงกับโรงงานหรือร้านค้าให้เข้มแข็งนั้น จะเป็นการสร้างความร่วมมือหรือการมีส่วนร่วมกับชุมชนในการพัฒนาและส่งเสริมความเข้มแข็ง และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในชุมชนหรือสังคมโดยรอบที่ (อาจจะ) ได้รับผลกระทบจากการธุรกิจอุตสาหกรรมของเรา   

โดยมุ่งเน้นที่จะทำให้ชุมชนและสังคมมีภูมิคุ้มกันที่ดี  และนำไปสู่การพึ่งพาตนเองในระยะยาว อันจะส่งผลต่อการยกระดับคุณภาพสังคม  คุณภาพชีวิต  การฟื้นฟูธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจให้แก่ชุมชนและสังคมโดยรวมอย่างต่อเนื่องต่อไป  

โดยการพัฒนาทักษะ ความรู้ ความสามารถและทัศนคติของชุมชนให้สอดคล้องกับ จุดแข็งและวัฒนธรรมท้องถิ่นรวมทั้งความต้องการในท้องถิ่นด้วย  เพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนในชุมชนให้ดีขึ้น

การพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง จึงเท่ากับ “การผูกมิตร” และเสริมสร้างสัมพันธ์ที่ดีระหว่างโรงงาน (กิจการร้านค้า) กับชุมชนและสังคมโดยรอบ  อันจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กร  ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ธุรกิจอุตสาหกรรม  สังคม  และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กันด้วย

เรื่องที่สำคัญในวันนี้ ก็คือ “ประสบการณ์” ที่เกิดขึ้นจากการทำกิจกรรม “ความรับผิดชอบต่อสังคม” ที่สมควรเผยแพร่ใน “รายงานความรับผิดชอบต่อสังคม” (CSR report) หรือ “รายงานแห่งความยั่งยืน” (SD report)  ซึ่งเป็น “รายงานประจำปี” ขององค์กรในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่เป็นมาตรฐานสากล 

 เพื่อให้ข้อมูลและสื่อสารกับผู้มีส่วนได้เสียอย่างโปร่งใสและสร้างความเชื่อถือได้มากขึ้นด้วย  พร้อมๆ กับสามารถขยายผลเพื่อช่วยกันสร้าง “โลกสวยด้วยมือเรา” อย่างกว้างขวางกันต่อไป

ทั้งหมดทั้งปวงนี้  อยากจะตอกย้ำว่า  ผลลัพธ์ที่ได้จากการประกอบกิจการที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม  จะเป็นเรื่องของ “Win - Win” ที่องค์กรมีแต่ได้กับได้  ครับผม !