“คน” จะยิ่งสำคัญมากขึ้น | วิฑูรย์ สิมะโชคดี
ตลาดหนังสือที่เกี่ยวกับ “การบริหารงาน” ทุกวันนี้ มักจะมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับ “ความเป็นผู้นำ” (Leadership) เป็นส่วนใหญ่
เพราะเห็นมีแต่ ตำรา และ หนังสือ ที่ว่าด้วย “ความเป็นผู้นำ” (Leadership) วางขายกันเกร่อ (ทั้งต้นฉบับและที่แปลเป็นไทยแล้ว) อาทิ การพัฒนาผู้นำ, วิธีเป็นผู้นำที่ชาญฉลาด, แบบฉบับของผู้นำ, กว่าจะเป็นผู้นำ, ผู้นำยุค 4.0 เป็นต้น
หรือ หนังสือที่ว่าด้วย “สุดยอดนักบริหาร” , นักบริหารมืออาชีพ, บริหารโดยไม่ต้องบริหาร, ผู้บริหารยุคดิจิทัล และอื่นๆ อีกมากมาย
สังคม (ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน) และธุรกิจอุตสาหกรรม จึงให้ความสำคัญกับ “ความเป็นผู้นำ” มาก เพราะเชื่อกันว่าผู้นำ คือ ผู้ที่จะบริหารจัดการองค์กรให้ประสบความสำเร็จและมีอนาคตต่อไปได้ (มีกำไร บรรลุเป้าหมาย มีชื่อเสียง เป็นต้น)
หนังสือที่วางขายมากมายนั้น เราแทบจะไม่เคยเห็นหนังสือที่ว่าด้วย “ความเป็นผู้ตาม” อาทิ “การเป็นผู้ตามที่ดี” , สุดยอดผู้ตาม, คุณสมบัติของผู้ตามที่มากความสามารถ, จากผู้ตามสู่ผู้นำ, การพัฒนาผู้ตาม เป็นต้น
ทุกวันนี้ เราจึงมีแต่คนที่อยากเป็น “ผู้นำ” หรือ “ผู้บริหาร” ซึ่งเลือกซื้อหาหนังสือผู้นำมาอ่านกัน เพื่อจะได้เป็นผู้บริหาร (หัวหน้า) เร็วๆ เพราะไม่มีใครอยากเป็น “ผู้ตาม” (ลูกน้อง) นานๆ
ใครเป็น “ผู้นำ” หรือ “ผู้บริหาร” ที่อายุน้อย สังคมก็จะชื่นชมยกย่อง และเอาเป็นแบบอย่าง
คนที่สนใจจะพัฒนาตนเองอย่างจริงจัง จึงมีไม่มากนัก เพราะต้องเริ่มจากการเป็น “ผู้ปฏิบัติงาน” หรือ “ผู้ตาม” ที่ดีก่อน แล้วค่อยๆ เรียนรู้ถึงขั้นตอนของการพัฒนาตนเอง และไต่เต้าจาก “ลูกน้อง” ไปเป็น “หัวหน้า” ( จาก “ผู้ตาม” ไปสู่ “ผู้นำ” ) เพื่อสร้างพื้นฐานการปฏิบัติงาน และสั่งสมประสบการณ์ให้แข็งแกร่งก่อนเป็น “ผู้นำที่ยอดเยี่ยม” ต่อไป
คนจำนวนไม่น้อย จึงไม่ค่อยให้ความสำคัญและอดทนกับ “การไต่เต้า” เพื่อจะได้ก้าวหน้าอย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างพื้นฐานที่แข็งแรงและมั่นคงก่อน เพื่อจะได้พัฒนาความรู้ความสามารถอย่างเป็นขั้นเป็นตอนให้เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ
ด้วยการเรียนรู้ถึง “วิธีการทำงานที่ถูกต้อง” (ที่มีคุณภาพและเป็นไปตามมาตรฐาน) และ “สั่งสมประสบการณ์” จากการบริหารจัดการและแก้ปัญหาในหน้าที่ เพื่อจะทำงานได้ครบถ้วนถูกต้องตามที่ได้รับมอบหมาย รวมตลอดถึงการได้เรียนรู้งานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่งานที่ทำอยู่ด้วย
การทำงาน การแก้ปัญหาในงาน การปรับปรุงงาน และการเรียนรู้จากสถานที่ทำงาน จึงเป็นขั้นตอนที่สำคัญยิ่งของการพัฒนาตนเองให้เจริญก้าวหน้าจาก “ความเป็นลูกน้อง” ไปสู่ “ความเป็นหัวหน้า” และเป็น “มืออาชีพ” ที่ค่อยๆ ยกระดับไปสู่ “ความเป็นผู้บริหาร” และ “ผู้นำ” ต่อไป
“ผู้นำ” จึงต่างจาก “ผู้ตาม” เพราะผู้นำต้องบริหารจัดการ เพื่อนำพาผู้ตามและองค์กรไปสู่ความสำเร็จตามวิสัยทัศน์หรือเป้าหมายที่วางไว้ ดังนั้น ผู้นำจึงมักจะเกี่ยวข้องกับการทำงานของคนหลายคน (ทีมงาน) ในขณะที่ผู้ตามมักจะทำงานแบบฉายเดี่ยวตัวใครตัวมัน
ความรู้ความสามารถของผู้นำจึงเกี่ยวข้องกับทักษะความรู้หลายด้าน โดยเฉพาะความรู้ความสามารถทางการบริหารจัดการ แต่ผู้ตามต้องมีความรู้ความสามารถเฉพาะตัวในงานที่ตนเองรับผิดชอบหรือที่ทำอยู่เป็นหลัก ซึ่งเกือบจะไม่เกี่ยวข้องกับทีมงานและการบริหารจัดการเลย แต่ในอนาคต เมื่อก้าวขึ้นเป็น “หัวหน้างาน” ก็จะต้องทำงานเป็นทีมและเกี่ยวข้องกับคนที่ร่วมงานมากขึ้น
“ผู้นำ” จึงถูกคาดหวังให้สร้างผลงานด้วยการรวมพลังความรู้ความสามารถของ “ทีมงาน” โดยอาศัยการบริหารจัดการ แต่ไม่ได้ถูกคาดหวังให้สร้างผลงานด้วยการทำงานเพียงลำพัง
ทั้งหมดทั้งปวงของการบริหารจัดการ “ทีมงาน” ที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จึงเกี่ยวข้องกับ “คน” เป็นหลัก ผู้นำหรือผู้บริหารจึงต้องมีทักษะของ “การบริหารทรัพยากรมนุษย์” ที่ทันยุคทันเหตุการณ์ด้วย
แนวความคิดและเครื่องมือทางการบริหารก็มีพัฒนาการมาตลอด เพื่อให้เหมาะกับแต่ละยุคสมัย แต่ก็หนีไม่พ้นเรื่องของ “การสร้างความมีส่วนร่วม” โดยเฉพาะ “การมีส่วนร่วม” ของผู้บริหารกับผู้ปฏิบัติงานอย่างเหมาะสมในเรื่องของการกำหนดเป้าหมายงาน การทำงาน การควบคุมงาน และการประเมินผลงานร่วมกัน ดังเห็นได้จากแนวความคิดด้านการบริหารจัดการเรื่อง MBO KPI และ OKR ที่มีประสิทธิภาพในปัจจุบัน
การมีส่วนร่วมในผลงานที่เกิดจากการทำงานเป็นทีม จึงบ่งบอกถึงความสามารถและความมีประสิทธิภาพของ “ผู้นำ” ได้
ทุกองค์กรในวันนี้ “ผู้นำ” และ “ผู้ตาม” ต่างต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เราต่างต้องยึดหลักที่ว่า “ทุกคนรู้และทำได้” จึงจะทำงานหนึ่งๆ ได้สำเร็จตามเป้าหมาย แต่ในความเป็นจริงแล้ว องกรส่วนใหญ่มักมีบรรยากาศของ “ตัวใครตัวมัน” ที่ “รู้ไม่จริงและทำไม่ได้” ด้วย จึงเต็มไปด้วย “ปัญหาที่ซุกใต้พรม”
นับแต่วันนี้เป็นต้นไป ไม่ว่าจะเป็นยุคของ “หุ่นยนต์” หรือยุค “AI” ครองเมือง ผมก็ยังเชื่อมั่นว่า “คน” จะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นทุกที ซึ่งต้องมี “ผู้นำโบกธง” นำขบวน ครับผม !