แนวโน้มที่น่าเป็นห่วงของเศรษฐกิจโลก (1) | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

แนวโน้มที่น่าเป็นห่วงของเศรษฐกิจโลก (1) | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

 เมื่อวันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมามีรายงานข่าว 2 เรื่องที่สะท้อนความน่าเป็นห่วงของเศรษฐกิจโลกในปีนี้และปีหน้า 

คือข่าวจาก Aljazeera ชื่อเรื่อง “Asia facing  stagflationary risks, IMF official warns” และข่าวจาก CNN ชื่อเรื่อง “A major recession is coming Deutsche Bank warns” ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่าเศรษฐกิจ ณ วันนี้กำลังต้องเผชิญกับเรื่องที่น่าหนักใจ 3 เรื่องหลักคือ 

1.สงครามที่ยูเครน 
2.การปราบเงินเฟ้อที่สหรัฐ
3.การปราบโควิดที่จีน

ผมจะขอเสนอแนวคิดเกี่ยวกับ 3 เรื่องดังกล่าวและผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในบทความนี้และบทความครั้งต่อไป โดยพยายามประเมินว่าเหตุการณ์ทั้ง 3 นั้นจะส่งผลในการฉุดกำลังซื้อและชะลอการขึ้นของราคาสินค้าและบริการ (deflationary) และ/หรือเพิ่มปัญหาขาดแคลนและเติมเชื้อให้กับเงินเฟ้อ (inflationary) มากน้อยเพียงใด

ต้องขอกล่าวก่อนเลยว่าเป็นการประเมินที่ยาก เพราะแม้จะพูดได้ในเชิงทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัตินั้นย่อมจะต้องมีข้อมูลที่ถูกต้องเพียงพอและทันสมัย พร้อมกับแบบจำลองทางเศรษฐกิจที่จำลองกลไกของเศรษฐกิจจริงได้อย่างแม่นยำ เพื่อประเมินน้ำหนัก (impact) ของตัวแปรต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง

ซึ่งทำได้ยากเมื่อต้องเผชิญกับตัวแปรที่ในอดีตที่ไม่ค่อยมีแบบอย่างให้เปรียบเทียบได้มากคือโรคระบาดและสงคราม

แต่สิ่งที่มีความชัดเจนคือสหภาพยุโรป สหรัฐ อเมริกาและประเทศจีนนั้น จีดีพีรวมกันประมาณ 3 ใน 4 ของจีดีพีโลก ดังนั้นจึงจะเป็นปัจจัยหลักในการกำหนดทิศทางของเศรษฐกิจโลก 

สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยนั้นการค้าของไทย (ส่งออก+นำเข้า) กับกลุ่มประเทศดังกล่าวน่าจะประมาณ 60% ของการค้าต่างประเทศของไทยทั้งหมดซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 30% ของจีดีพีของไทย แต่ผลกระทบต่อจีดีพีไทยโดยรวมน่าจะสูงกว่านั้น

 เพราะประเทศคู่ค้าอื่นๆ ที่สำคัญของไทย เช่น ญี่ปุ่น อาเซียนและเกาหลีใต้ ก็จะได้รับผลกระทบที่รุนแรงจากความผันผวนของเศรษฐกิจยุโรป อเมริกาและจีนเช่นกัน

ขอเริ่มที่สงครามที่ยูเครนก่อน ซึ่งผมขอยึดบทวิเคราะห์ของ The Economist เมื่อวันที่ 25 เมษายนที่มีชื่อเรื่องว่า “America is thinking of winning the war in Ukraine” ซึ่งสรุปได้ดังนี้

แนวโน้มที่น่าเป็นห่วงของเศรษฐกิจโลก (1) | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

1.ในช่วงแรกที่กองทัพรัสเซียเริ่มรุกเข้าไปในยูเครน สหรัฐคงเชื่อเหมือนหลายฝ่ายว่ากองทัพยูเครนคงจะต่อสู้กองทัพรัสเซียไม่ได้ จึงเพียงแต่ส่งอาวุธเพื่อป้องกันตัว (defensive weapons) ให้ยูเครนและประกาศคว่ำบาตรรัสเซียเพียงเพื่อให้รัสเซียมีต้นทุนสูงขึ้นจากการเข้ายึดครองประเทศยูเครน

2.ต่อมาเมื่อกองทัพและประชาชนยูเครนต่อสู้กับกองทัพรัสเซียได้อย่างที่ไม่มีใครคาดหวังมาก่อน ท่าทีของสหรัฐก็เปลี่ยนไปโดยการเพิ่มความช่วยเหลือทางการทหารอย่างจริงจังเพื่อให้กรุงเคียฟและรัฐบาลของประธานาธิบดี Zelinski ปกครองประเทศต่อไปได้

แต่ประธานาธิบดีไบเดนของสหรัฐก็ยังยั้งๆ มือเพราะกลัวว่าการให้ความช่วยเหลือที่จริงจังมากเกินไปจะเสี่ยงต่อการที่รัสเซียจะหันมาใช้อาวุธนิวเคลียร์และเป็นการขยายความขัดแย้งไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 (ประธานาธิบดีไบเดนพูดเองก่อน)

3.แต่ล่าสุดเมื่อรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐนาย Anthony Blinken และรัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐนายพล Lloyd Austin ร่วมกันเดินทางไปเยือนกรุงเคียฟเมื่อวันที่ 25 เมษายน

ซึ่งนายพล Austin (ที่มักจะไม่ค่อยพูด) กล่าวว่า “เราต้องการให้รัสเซียอ่อนแอลงจนกระทั่งไม่มีศักยภาพที่จะทำสงครามแบบที่กำลังทำกับยูเครน และจะต้องไม่สามารถเสริมสร้างกำลังทางการทหารขึ้นมาใหม่ได้อีกในอนาคต” 

แนวโน้มที่น่าเป็นห่วงของเศรษฐกิจโลก (1) | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

สามารถตีความได้ว่า สหรัฐคาดหวังว่า รัสเซียอาจรบพ่ายแพ้จนต้องหันมาเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งกับยูเครน ดังนั้น ประธานาธิบดีไบเดนจึงอนุมัติงบประมาณเพื่อซื้ออาวุธให้กับยูเครนเพิ่มขึ้นอีกอย่างรวดเร็ว และระยะหลังนี้ก็เป็นการให้อาวุธเชิงรุก (offensive weapons) และเป็นอาวุธหนักซึ่งรวมถึงปืนใหญ่ จรวด ชิ้นส่วนของเครื่องบินขับไล่และแม้แต่การส่งเครื่องบินขับไล่ให้ 

ตลอดจนการฝึกฝนทหารของยูเครนให้สามารถใช้อาวุธของนาโต้ที่ดีกว่าของรัสเซียที่ทหารยูเครนใช้อยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้สหรัฐและสมาชิกนาโต้ส่วนใหญ่ (เยอรมนียังกลับใจหันมายอมส่งอาวุธหนักให้กับยูเครน) กล้าปรับท่าที 

แม้ว่าประธานาธิบดีปูตินและรัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซียนาย Lavrov จะออกมาขู่อย่างชัดเจนมากขึ้นเป็นลำดับว่า รัสเซียพร้อมจะใช้อาวุธนิวเคลียร์หากการดำเนินการของนาโต้ถือเป็นภัยคุกคามรัสเซีย

ล่าสุดบริษัท Gazprom ของรัสเซียประกาศยุติการส่งก๊าซธรรมชาติขายให้กับโปแลนด์และบัลกาเลีย ซึ่งย่อมจะยิ่งทำให้พลังงานขาดแคลนมากขึ้นในยุโรปและประเทศต่างๆ ในยุโรปย่อมจะต้องเร่งรีบหาแหล่งพลังงานจากที่อื่นๆ จึงทำให้ราคาพลังงานในตลาดโลกสูงขึ้นและอยู่ที่ระดับสูงไปได้อีกนาน เพราะการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและแหล่งพลังงานนั้นย่อมต้องใช้เวลานาน 3-5 ปี 

แต่ในขณะเดียวกัน ยุโรปมีความเสี่ยงสูงว่าการต้องเผชิญกับทั้งภาวะสงคราม ความเสี่ยงที่สงครามจะเพิ่มความรุนแรง (เช่น กลัวการใช้อาวุธนิวเคลียร์โดยรัสเซีย) บวกกับพลังงานราคาสูงและอาหารกับปุ๋ยขาดแคลน ซึ่งรวมกันแล้วน่าจะทำให้เศรษฐกิจยุโรปมีความเสี่ยงมากกว่าส่วนอื่นๆ ของโลกที่จะชะลอตัวลงอย่างรุนแรงหรืออาจเข้าสู่ภาวะถดถอยก็เป็นได้ 

ดังนั้น ผมจึงสรุปว่าสำหรับยุโรปนั้นความเสี่ยงสุทธิน่าจะไปในทิศทางของเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างรุนแรง (deflation) มากกว่าการเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อที่คุมไม่อยู่ (inflation) เช่นที่อาจจะเกิดขึ้นที่สหรัฐ

แนวโน้มที่น่าเป็นห่วงของเศรษฐกิจโลก (1) | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

สำหรับผลกระทบต่อประเทศไทยนั้น ก็น่าจะเห็นได้จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก (ยกเว้นราคาข้าวที่ราคาค่อนข้างนิ่งในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา) และราคาปุ๋ยซึ่งเราเริ่มเห็นผลกระทบบ้างแล้ว เช่น จีนห้ามส่งออกปุ๋ยและอินโดนีเซียห้ามส่งออกน้ำมันปาล์ม (ซึ่งในช่วงที่ผ่านมานั้นราคาปุ๋ยกับราคาน้ำมันพืชปรับสูงขึ้นกว่าราคาน้ำมันดิบ) ตรงนี้น่าจะมีความเสี่ยงสูงว่าประเทศไทยจะขาดแคลนปุ๋ยอย่างมากนับจากวันนี้ 

สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นคือ เมื่อราคาปุ๋ยสูงเกินเอื้อม เกษตรกรก็จะต้องจำยอมซื้อปุ๋ยน้อยลงเพื่อใช้ในการเพาะปลูกฤดูกาลนี้ แต่ผลที่จะตามมาคือความเสี่ยงที่ปีนี้ผลผลิตทางการเกษตรจะตกต่ำกว่าปีก่อนๆ มาก

ชาวนาที่ปลูกข้าวจะพบว่ารายได้ตกต่ำ และจะเรียกร้องเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลได้ เพราะรัฐบาลมีนโยบาย “ประกันรายได้” แปลว่าไม่ว่ารายได้จะตกต่ำเพราะเหตุผลใด รัฐบาลก็ต้องเยียวยาให้อย่างไม่มีเงื่อนไข

ประเด็นที่น่าสนใจที่ผมพบจากงานวิจัยของธนาคารกรุงศรีคือ การประเมินความจำเป็นในการใช้ปุ๋ยของเกษตรกรในพืชผลประเภทต่างๆ คือ
•น้ำมันปาล์ม  ใช้ปุ๋ยไร่ละ 120 กิโลกรัม
•ยางธรรมชาติ ใช้ปุ๋ยไร่ละ 76 กิโลกรัม
•อ้อย ใช้ปุ๋ยไร่ละ 63 กิโลกรัม
•ข้าวนาปี ใช้ปุ๋ยไร่ละ 49 กิโลกรัม
•ข้าวโพด ใช้ปุ๋ยไร่ละ 46 กิโลกรัม
•มันสำปะหลัง ใช้ปุ๋ยไร่ละ 41 กิโลกรัม
เนื่องจากปาล์มราคาดีมากจึงเป็นไปได้ว่า ปุ๋ยน่าจะขาดแคลนอย่างมากสำหรับพืชผลอื่นๆ ครับ.

แนวโน้มที่น่าเป็นห่วงของเศรษฐกิจโลก (1) | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์+สุขภาพ
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
นักเศรษฐศาสตร์ และที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร 
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร