ส่อง'สงครามเศรษฐกิจรัสเซีย'กระทบไทย
หลังจากรัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครนทั้งทางอากาศ ทางบก และทางทะเล บรรดาชาติตะวันตกก็ใช้เศรษฐกิจเป็นเครื่องมือเล่นงานรัสเซียทันที จนน่าเป็นห่วงว่าสงครามเศรษฐกิจรอบนี้จะส่งผลต่อประเทศไทยมากน้อยแค่ไหน
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ นักเศรษฐศาสตร์ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร และกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัท กล่าวถึงการที่สหรัฐ ชาติพันธมิตรตะวันตกรวมถึงฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี สหราชอาณาจักร และแคนาดาเห็นพ้องกันในเบื้องต้นที่จะขับธนาคารสัญชาติรัสเซียจำนวนหนึ่งออกจากระบบ Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication (SWIFT) ที่ถูกสร้างขึ้นโดยธนาคารในสหรัฐและยุโรป ว่า SWIFT เป็นระบบที่มีความมั่นคงปลอดภัยสูง ซึ่งให้บริการข้อความ (Messaging Service) เพื่อยืนยันและรับประกันการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ ระบบนี้ใช้กันมากในสถาบันการเงินกว่า 11,000 แห่งทั่วโลก และในวันๆหนึ่งมีการใช้บริการข้อความธุรกรรมทางการเงินในระบบนี้กว่า 42,000,000 ข้อความทั่วโลก
ขับรัสเซียพ้น SWIFT ลดเชื่อมั่นการเงิน
การที่ธนาคารรัสเซียบางแห่งถูกตัดออกจากระบบย่อมได้รับผลกระทบ แม้ว่าที่ผ่านมารัสเซียได้พยายามพัฒนาร่วมกับจีน เพื่อจัดตั้งระบบ SPSF ในลักษณะเดียวกันนี้ในช่วงสถานการณ์ไครเมีย แต่ก็ยังไม่ได้ใช้อย่างแพร่หลายและส่วนใหญ่ใช้ภายในประเทศรัสเซียเองเพียงแค่ 400 แห่งหรือคิดเป็นสัดส่วนการทำธุรกรรมภายในประเทศเพียง 20%
ดังนั้นจะเห็นว่า ระบบที่รัสเซียจัดทำขึ้นไม่อาจเข้ามาแทนที่ระบบ SWIFT เมื่อรัสเซียออกจากระบบนี้แล้ว เชื่อว่าต่างชาติก็คงไม่ต้องการทำการค้าร่วมกับรัสเซีย ยิ่งจะส่งผลกระทบรุนแรง
"ถึงอย่างไรต้องดูรายละเอียดว่า ชาติตะวันตกตัดธนาคารใดของรัสเซียออกจากระบบ SWIFT ถ้าเริ่มจากธนาคารขนาดเล็ก ก็คงไล่เรียงเด็ดหัวทีละแห่งไปถึงธนาคารขนาดใหญ่ ถ้ายูเครนสามารถต้านทานรัสเซียได้นาน และปล่อยให้ยืดเยื้อไปถึงจุดที่ยุโรปต้องแซงชั่นธนาคารกลางรัสเซีย จะยิ่งกดดันประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินเหนื่อยกว่านี้" ศุภวุฒิระบุ
เมื่อถามถึงผลกระทบที่ยุโรปตัดธนาคารของรัสเซียบางแห่งออกจากระบบ SWIFT ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า รัสเซียอยากจะขายของก็ไม่มีใครซื้อ เพราะถ้าการค้าไม่ทำผ่านระบบ SWIFT ก็ไม่มีเครื่องรับประกันการส่งเงินอย่างเป็นทางการ ขอย้ำว่า ถ้าไม่อยู่ในระบบนี้จะซื้อจะขายก็ลำบาก ก่อนหน้านี้อิหร่านเคยโดนไปแล้ว แต่ไม่มีประเทศไหนใหญ่ขนาดรัสเซียเจอถูกตัดจากระบบนี้ โดยเจ้าหน้าที่รัสเซียเคยกล่าวไว้ว่าถ้ารัสเซียถูกตัดออกจากระบบ SWIFT อาจส่งผลให้จีดีพีของประเทศหายไป 5%
ชาติตะวันตก เป็นแนวรบ ศก.
ดร.ศุภวุฒิ กล่าวต่อว่า ขอให้จับตามาตรการที่มีต่อธนาคารชาติรัสเซียด้วย โดยหลักๆ แล้ว ชาติยุโรปไม่ส่งทหารไปรบแต่จะทำสงครามทางเศรษฐกิจกับรัสเซีย หวังให้รัสเซียมีปัญหาด้านการค้า ขณะที่สหรัฐวางตัวเป็นมหาอำนาจโลกด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ตราบใดที่ผลประโยชน์ของสหรัฐแพร่ขยายไปทั่วโลก เชื่อว่าสหรัฐจะยังคงพยายามทำตัวเป็นตำรวจโลกต่อไป
สิ่งสำคัญอยากให้ติดตามการเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับนโยบายของยุโรปต่อรัสเซีย ซึ่งยุโรปต้องตัดสินใจยากมากในเชิงการเมืองว่าจะลดทอนหรือยกเลิกการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียอย่างไร ซึ่งเชื่อว่าในใจยุโรปตอนนี้ได้ตัดสินใจไปแล้วว่า จะไม่พึ่งพาพลังงานจากรัสเซียเพราะพิจารณาจากพฤติกรรมรัสเซียในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา และเดิมที่ยุโรปมีความหวังเสมอว่า รัสเซียเชื่อถือได้ และจะสามารถเข้าร่วมกับยุโรปได้ทั้งผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ
แต่มาตรการตอนนี้ ยุโรปตัดสินใจที่จะดำเนินนโยบายการปิดล้อม (Containment Policy) เพื่อที่จะบอนไซรัสเซียไปเรื่อยๆ โดยการไม่อุดหนุนพลังงานรัสเซีย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอีกทอดหนึ่ง แทนที่ยุโรปจะใช้ก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียที่ส่งทางท่อ นอร์ด สตรีม 2 แต่ในอนาคตข้างหน้ายุโรปจะมาแย่งซื้อก๊าซธรรมชาติจากตลาดกาตาร์ ดูไบ สหรัฐ จะทำให้ราคาพลังงานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและยาวนานเป็น 10 ปี
บางชาติยุโรป ลดพึ่งพาพลังงานรัสเซีย
สิ่งนี้ทำให้คนไทยต้องติดตามผลกระทบรุนแรงด้านพลังงาน เพราะเมื่อยุโรปปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเปลี่ยนแนวคิดภูมิรัฐศาสตร์ ถ้าพิจารณาจากคำกล่าวของนายกรัฐมนตรีเยอรมนี อิตาลี ฝรั่งเศส สะท้อนการเปลี่ยนท่าทีที่มีต่อความสัมพันธ์กับประธานาธิบดีปูติน ถือเป็นจุดเปลี่ยนเกม (Game Changing) บนกระดาน และตราบใดที่ปูตินยังเป็นประธานาธิบดีรัสเซียนั้น นโยบายยุโรปที่มีต่อรัสเซียก็จะยังไม่เปลี่ยน เมื่อปีที่แล้วปูตินได้แก้กฎหมายให้ตนเองเป็นประธานาธิบดีเป็นระยะเวลายาวไปถึงปี 2579 ฉะนั้นนโยบายนี้จะอยู่ไปถึง 14 ปีข้างหน้า
"เราจะเห็นภาพที่ชัดขึ้นเรื่อยๆว่า ยุโรปถอยออกมาจากการพึ่งพารัสเซีย โดยเฉพาะด้านพลังงานที่ตอนนี้โปแลนด์ยอมเป็นประเทศส่งผ่านอาวุธช่วยเหลือยูเครน ขณะที่หลายประเทศในยุโรปก็ตื่นตัวต่อสถานการณ์รัสเซียยูเครน เช่นบางประเทศในกลุ่มนอร์ดิกที่อยากเข้าร่วมนาโตก็แสดงท่าทีกดดันต่อรัสเซียด้วย" ดร.ศุภวุฒิกล่าวและเสริมว่า ตอนนี้อย่าไปมองสหรัฐไปมากกว่ายุโรป ซึ่งเป็นประเทศที่ต้องปรับตัว คือยุโรปตะวันตกเพราะอยู่ใกล้ที่สุด และได้รับผลกระทบที่สุดโดยประเทศเหล่านี้เปลี่ยนแนวคิดต่อประธานาธิบดีปูตินจากหน้ามือเป็นหลังมือ ถึงอย่างไร ขอให้ติดตามสถานการณ์ภายในสัปดาห์นี้จะเห็นภาพในสนามรบชัดเจนขึ้น
สิ่งที่ประเทศไทยต้องเผชิญยิ่งขึ้นเป็นในเรื่องนโยบายด้านพลังงาน หากยังอุดหนุนแก๊สหุงต้ม อุดหนุนดีเซลโดยกองทุนน้ำมันขาดทุน ในเดือนหนึ่งๆ 6,000 - 7,000 ล้านบาท ยิ่งจะทำให้นโยบายด้านพลังงานของไทยเดินหน้าต่อไปได้ยาก เพราะราคาแก๊สและน้ำมันโลก จะสูงต่อเนื่องไปอีกหลายปี ดังนั้นรัฐบาลต้องมองหาทางออกในระยะยาวว่ามีทางเลือกอื่นๆอย่างไรบ้าง
นักธุรกิจต่างชาติ เสี่ยงค่าเงินผันผวน
การที่มีรายงานว่า ยุโรปเล็งคว่ำบาตรธนาคารกลางรัสเซีย จะทำให้ไม่สามารถเข้าถึงทุนสำรองระหว่างประเทศของรัสเซียที่มีถึง 630,000 ล้านดอลลาร์ สิ่งนี้ทำให้ธนาคารกลางรัสเซียกลัวเงินไหลออก จึงสั่งขึ้นดอกเบี้ยจาก 9% มาเป็น 20% ในเวลาข้ามสัปดาห์เท่านั้น และยังสั่งบริษัทต่างๆ ของรัสเซีย ถ้ามีรายได้ในต่างประเทศเป็นเงินดอลลาร์ก็ให้มาแลกกับทางการรัสเซีย 80% และถ้ามีคำสั่งขายเงินของนักลงทุนต่างชาติ ก็ไม่ให้รับคำสั่งนี้ด้วย ดังนั้นนักธุรกิจที่ทำการค้ากับรัสเซียก็ต้องระวังความเสี่ยงเรื่องความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงการขายเงินออกมีความเสี่ยงสูงมาก