ช่องว่างของความสำเร็จ

ช่องว่างของความสำเร็จ

แม้ในยามวิกฤติก็ยังหาทางออกได้เสมอหากรู้จักตัวเองดีพอ

โอกาสของธุรกิจเอสเอ็มอียังมีอยู่เสมอ แม้ในยามวิกฤติเราก็ยังเห็นผู้ประกอบการหลายรายไปได้ดี โดยเฉพาะด้านสุขภาพที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพจิต 

ตามด้วยธุรกิจ “อัจฉริยะ” ที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลยกระดับการทำธุรกิจเดิมๆ เช่น Smart Farming, Smart Office, Smart Furniture ฯลฯ และที่ทิ้งท้ายไว้ในตอนที่แล้วก็คือธุรกิจด้านความสวยงาม

ต่อกันในธุรกิจที่ 5 ที่น่าจะเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กคือ "ธุรกิจท่องเที่ยวและบันเทิง" เพราะไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่เน้นการทำงานจริงจังและเต็มที่ แต่เมื่อถึงเวลาพักผ่อนก็ให้ความสำคัญเต็มที่ไม่แพ้กัน

ธุรกิจที่เน้นด้านท่องเที่ยว สันทนาการและการผ่อนคลายจึงมีแนวโน้มจะไปได้ดีมาก โดยเฉพาะช่วงครึ่งปีหลังที่ทุกประเทศมีแนวโน้มผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 การท่องเที่ยวจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง

วันหยุดในเทศกาลต่างๆ เราจึงเริ่มเห็นคนเดินทางไปท่องเที่ยวในต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในยุโรปซึ่งแต่เดิมมีแต่กลุ่มผู้มีรายได้สูงเท่านั้น แต่ทุกวันนี้เราจะเห็นนักท่องเที่ยวทุกระดับ รวมถึงประเทศท่องเที่ยวยอดฮิตของคนไทยเช่นเกาหลี ญี่ปุ่น ที่เราตั้งตารอให้สถานการณ์กลับมาเป็นปกติเหมือนเดิม

ที่สำคัญการใช้เงินเพื่อท่องเที่ยวของคนรุ่นใหม่เน้นการสร้างประสบการณ์ที่ดีและน่าประทับใจจึงมีแนวโน้มที่จะใช้เม็ดเงินเพื่อการพักผ่อนมากกว่าคนรุ่นเก่า 

เช่นการใช้บริษัทวางแผนการท่องเที่ยวที่ทำหน้าที่มากกว่าบริษัททัวร์ คือปรับรูปแบบการท่องเที่ยวให้เหมาะกับแต่ละกลุ่ม ทั้งตั๋วเครื่องบิน สถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหารที่เน้นความพิเศษเฉพาะกลุ่ม

ธุรกิจด้านสันทนาการต่างๆ ก็มีแนวโน้มคล้ายกันคือใช้บริษัทแพลนเนอร์มารับผิดชอบงานมากขึ้นเพื่อความราบรื่นและสร้างประสบการณ์ที่ไม่มีใครเหมือนจากเดิมที่เราเห็นแค่เวดดิ้งแพลนเนอร์ก็มีงานอื่นๆ อีกมากที่ต้องใช้บริษัทวางแผนบริหารจัดการเช่นกัน

ธุรกิจที่ 6 คือ "ด้านการค้าขาย" จะเป็นอะไรก็ได้แต่ต้องมี “บุคลิก” ที่ชัดเจน ทั้งสินค้าบริการและร้านอาหาร ที่เราอาจรู้สึกว่ามีการแข่งขันสูง มีรายใหญ่เป็นเจ้าตลาดมีสาขามากมาย แต่สังเกตให้ดีว่ามีร้านเล็กหลายร้านที่อยู่รอดได้และยังคงขายได้ดีเพราะมีความโดดเด่นเป็นตัวของตัวเอง

อย่างเช่นชานม ชาไข่มุกที่มีร้านเปิดขายนับหมื่นรายแต่เรากลับเลือกกินของร้านใดร้านหนึ่งเพราะมีการจัดร้านที่เหมาะกับตัวเรา หรือร้านอาหารมากมายแต่ถ้าจะกินแกงกะหรี่ก็ต้องมาที่ร้านนี้เท่านั้น ฯลฯ ซึ่งนั่นก็คือบุคลิกของร้านที่เราสร้างขึ้นมาเองได้

ธุรกิจทั้งหมดที่กล่าวมานั้น เป็นเพียงการยกตัวอย่างมาเพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้น เพราะในเวลานี้ถือเป็นโอกาสทองของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่จะสามารถแข่งกับธุรกิจขนาดใหญ่ได้โดยใช้โซเชียลมีเดีย 

อย่างเช่นอินสตาแกรมและเฟซบุ๊ก ซึ่งการที่ร้านค้ามีบุคลิกที่ดี มีความเฉพาะตัว หากถูกใจลูกค้ากลุ่มหนึ่งเขาย่อมแชร์ประสบการณ์ของตัวเองให้เพื่อนฝูงได้รู้จักผ่านโซเชียลมีเดียแน่นอน

การจัดร้าน หรือการใส่ใจกับแพ็คเกจสินค้า การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย แม้กระทั่งการตั้งชื่อสินค้าจึงมีความสำคัญมากกับการดึงดูดให้ลูกค้าบอกต่อ ซึ่งเป็นหนทางให้ธุรกิจเล็ก ๆ ยังคงมีช่องว่างทางการตลาดได้เสมอ ขอเพียงเราต้องหาโอกาสดังกล่าวให้เจอ

แม้ในยามวิกฤติทั้งความซบเซาของเศรษฐกิจและภาวะสงคราม แต่เราก็ยังหาทางออกได้เสมอหากเรารู้จักตัวเองดีพอ และต้องมองให้ออกว่าความสำเร็จนั้นไม่ได้มีแค่มิติเดียวเสมอไป