ข้อคิดจากสิงห์สาราสัตว์ | วรากรณ์ สามโกเศศ
มนุษย์ใช้ลักษณะทางกายภาพและพฤติกรรมของสัตว์อธิบายปรากฏการณ์ของโลกมนุษย์ และให้ข้อคิดมายาวนานและอย่างได้ผล วันนี้ขอนำมารวบรวมเพื่อเป็นอาหารสมอง
สัตว์ตัวแรกคือ “กบในน้ำเดือด” มีการอ้างกันมานานว่าหากเอากบใส่ในหม้อน้ำที่ตั้งไว้บนเตาไฟตั้งแต่ยังเย็น มันจะอยู่อย่างมีความสุขถึงแม้อุณหภูมิจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะการเป็นสัตว์เลือดเย็นทำให้สามารถปรับอุณหภูมิในร่างกายให้สอดคล้องกับข้างนอกได้โดยมิได้ตระหนักถึงอันตราย
กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็เมื่อน้ำเดือดและกลายเป็นส่วนประกอบของต้มโคล้งไปแล้ว เรื่องนี้สอนให้รู้ว่าคนและองค์กรที่ไม่ยอมปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป พอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทีละน้อยเหมือนอุณหภูมิของน้ำ และกว่าจะรู้ตัวก็สายไปเสียแล้ว
เรื่องเล่านี้เข้าท่า และน่าจำเอาไปใช้ต่อ ๆ กันดังที่ทำกันมาเป็นร้อยปีแล้ว เสียแต่ว่ามันไม่ใช่เรื่องจริงเชิงวิทยาศาสตร์ ในปี ค.ศ. 1869 แพทย์ชาวเยอรมัน Friedrich Goltz สาธิตให้เห็นว่ากบโดดออกมาจากหม้อทั้งนั้นเมื่อน้ำร้อนขึ้น
นอกจากนี้มีการทดลองอีกหลายครั้งและก็ได้ผลเหมือนกัน ล่าสุดในปี 1995 Douglas Melton แห่งมหาวิทยาลัย Harvard ก็ทดลองอีกและได้ข้อสรุปว่า “กบโดดออกมาจากหม้อเมื่อน้ำร้อนขึ้น มันไม่นั่งอยู่เพื่อเอาใจมนุษย์ และถ้าโยนกบลงไปในหม้อน้ำเดือดมันไม่โดดออกมาแน่นอน เพราะมันตายแล้ว” อย่างไรก็ดี ผู้คนก็ยังคงใช้เรื่อง “กบในน้ำเดือด” เป็นเรื่องเล่าต่อไปอยู่ดี
ถึงแม้จะไม่ใช่เรื่องจริงแต่ก็ได้ข้อคิดนั่นก็คือคำว่า “creeping normality” หรือ “การคืบคลานสู่ความเป็นปกติ”
กล่าวคือคนจะยอมรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ว่าเป็นสถานการณ์ปกติได้หากมันเกิดขึ้นช้า ๆ โดยไม่สังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้น แต่ถ้าเปลี่ยนแปลงอย่างมากและอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น ๆ แล้ว ก็จะเป็นสิ่งที่ผู้คนไม่ยอมรับ
ตัวอย่างเช่นเรื่องการบุกรุกการถมคลองในยุค 2500 ของพระนคร / การเกิดขึ้นของสลัม / เสรีนิยมในเรื่องเพศ / คอร์รัปชั่น / การมีกิ๊ก ฯลฯ ไม่มี creeping normality ใดที่เลวร้ายไปกว่าการที่สังคมเห็นการเป็นคนเลว ความชั่ว การทรยศนอกใจคู่รักหรือสามีภรรยา การซื้อขายเสียง การซื้อ ส.ส. และคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องปกติธรรมดา
สัตว์ตัวต่อไปคือนกกระจอกเทศ ที่ว่ากันว่าชอบเอาหัวซุกทรายเวลาเผชิญกับอันตราย นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมด้านการเงินชาวอิสราเอลสองคนตั้งชื่อปรากฏการณ์ว่า Ostrich Effect (OE ปรากฏการณ์นกกระจอกเทศ)
เมื่อมนุษย์หลีกเลี่ยงการรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การเงินที่น่าอันตรายโดยกระทำราวกับว่ามันไม่ได้เกิดขึ้น หรือพูดให้กว้างหน่อยว่าเป็นการหลีกเลี่ยงตนเองจากการรับทราบข้อมูลทางการเงินที่เป็นลบซึ่งเกรงว่าจะก่อให้เกิดความไม่สบายใจ
ต่อมา OE กินความหมายไปถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันด้วยดังตัวอย่างต่อไปนี้
(1) คนที่เป็นโรคเบาหวานจำนวนหนึ่งไม่ติดตามเฝ้าดูตัวเลขของระดับน้ำตาลในเลือดซึ่งเป็นหนทางควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยเกรงว่าหากเห็นตัวเลขสูงแล้วจะไม่สบายใจ
(2) คนไม่ยอมไปตรวจโรคเพราะกลัวพบว่าเป็นโรคซึ่งจะทำให้ทุกข์ใจ ดังนั้นสู้ไม่ไปตรวจเสียดีกว่า กล่าวคือเอาหัวซุกทรายและแสร้งทำเสมือนว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นแล้วมันก็จะหายไปเอง
(3) OE เกิดขึ้นกับผู้ที่ไม่อยู่ในสภาพที่สามารถชำระหนี้ได้แต่ก็ไม่ติดต่อกับสถาบันการเงิน ปล่อยให้หนี้เพิ่มพูนโดยกระทำตนราวกับว่าหากไม่รับรู้แล้วหนี้มันจะละลายหายไป
OE
โดยแท้จริงแล้วคือ ผลพวงของความขัดแย้งระหว่างสมองของเรา ซึ่งใช้เหตุใช้ผลอย่างตระหนักว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องรับรู้กับอารมณ์ของเรา ที่คาดคะเนว่าจะเป็นเรื่องที่เจ็บปวดจึงต้องการหลีกเลี่ยง
หากไม่อยากเสียหายจาก OE สมองของเราต้องทำหน้าที่อย่างเหนืออารมณ์ ความกล้าที่จะเผชิญความไม่สบอารมณ์เท่านั้นที่จะปราบเจ้านกกระจอกเทศที่ชอบเอาหัวซุกทรายนี้ได้
สัตว์ตัวที่สามคือกระต่ายขาว ลองจินตนาการว่าถ้าใครบอกเราให้หลับตาและนึกถึงอะไรต่ออะไรก็ได้ยกเว้นอย่างเดียวคือกระต่ายขาวแล้วอะไรจะเกิดขึ้น เราจะเห็นภาพกระต่ายขาวขึ้นมาทันที
ทั้ง ๆ ที่ตลอดปีสองปีที่ผ่านมานี้ไม่เคยนึกถึงภาพกระต่ายขาวเลยสักครั้ง ที่เราเห็นขึ้นมาก็เพราะมีคนเตือนใจให้เรานึกถึงมัน ถ้า “กระต่ายขาว” คือจุดอ่อน ข้อบกพร่องหรือข้ออ่อนด้อยของเรา และเราไปเอ่ยให้คนอื่นฟัง มันก็จะเป็น “กระต่ายขาว” ตัวใหญ่
ในการสัมภาษณ์งาน “คุณมีข้อเด่นอยู่ อยากรู้ว่าคุณมีข้ออ่อนด้อยอะไรบ้าง” ด้วยการพยายามแสดงความจริงใจแต่บังเอิญเซ่อจึงตอบไปว่า “ผมเป็นคนหัวปานกลาง และตอนเช้าลุกจากที่นอนลำบากมาก”
เมื่อ “กระต่ายขาว” หลุดออกมาเช่นนี้ผู้สอบสัมภาษณ์ก็จะเห็นว่าเป็นคนไม่ฉลาดและขี้เกียจเพราะออกมาจากปากเขาเอง นักการเมืองในการหาเสียงบอกว่า “ผมอายุก็มากแล้ว สุขภาพก็ไม่ค่อยดี แต่พร้อมที่จะรับใช้พี่น้องอย่างเต็มที่” (ภาพจะเป็นว่าเขาแก่มากและใกล้ตาย)
“ถึงผมจะถูกกล่าวหาว่าคอร์รัปชัน แต่ศาลก็พิสูจน์แล้วว่าผมบริสุทธิ์” (ไอ้นี่มันจอมโกง) “พี่ขาหนูเคยมีแฟนมา 2-3 คน แต่รักที่จะจบลงที่พี่” (สงสัยเคยมีแฟนมาเป็นโหลแล้วแน่ๆ) ฯลฯ
นี่คืออิทธิฤทธิ์ของ “กระต่ายขาว” มนุษย์จะรับทราบข้อมูลและขยายเป็นภาพใหญ่ขึ้นเสมอโดยเฉพาะในทางที่เป็นลบ
ประเด็นคือถ้าไม่อยากให้ใครนึกถึงเรื่องอะไรก็อย่าไปเอ่ยถึงมันเสียแต่แรกเลยจะดีกว่า โดยเฉพาะถ้าไม่แน่ใจว่ามันจะเป็นไปในทิศทางใด ให้คนอื่นเขาพยายามค้นหาข้ออ่อนด้อยของเราด้วยตัวเขาเองโดยไม่ต้องไปนำเสนอ หรือชี้แนะ
กบ นกกระจอกเทศ และกระต่าย ให้ข้อคิดแก่มนุษย์ได้เป็นอย่างดีโดยตัวเขาเองไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีบุญคุณกับมนุษย์ แต่เราก็สามารถตอบแทนได้ด้วยการรักษาความมีเมตตาต่อเขาไว้อย่างมั่นคง.