พฤติกรรม "บูลลี่" ของเด็กไทย ติดอันดับ 2 ของโลก
แม้ว่าปัจจุบันจะมีการตระหนักรู้เรื่องการกลั่นแกล้งหรือ “บูลลี่” กันมากขึ้น แต่เด็กไทยจำนวนไม่น้อยกลับยังต้องเผชิญปัญหาเหล่านี้อยู่
ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต(อัปเดตล่าสุด) ระบุว่า ประเทศไทยติดอันดับการบูลลี่เป็น 2 ในโลกในปี พ.ศ. 2563 รองจากประเทศญี่ปุ่น จากข้อมูลการบูลลี่ด้วยการใช้ตัวอักษรผ่านโซเชียลมีเดีย
โดยคำที่คนไทยส่วนมากใช้บูลลี่กันมากที่สุดมักเป็นเรื่องของ รูปลักษณ์ เพศ และความคิดหรือทัศนคติ เช่น ไม่สวย, ไม่หล่อ, ขี้เหร่, หน้าปลอม, ผอม, เตี้ย, ดำ, ขาใหญ่, จอแบน, ตุ๊ด, สายเหลือง, ขุดทอง, กะเทย, กะหรี่, แมงดา, ชะนี, แรด, โง่, สลิ่ม, ควายแดง, ตลาดล่าง และปัญญาอ่อน เป็นต้น
และส่วนใหญ่การบูลลี่จะเกิดขึ้นในนักเรียนชั้นมัธยมมากที่สุด ซึ่งพบได้ตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมปีที่ 1 – 6 เรียกได้ว่าเป็นช่วงวัยที่กำลังเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นไปจนถึงวัยรุ่นเลยทีเดียว ซึ่งเป็นการกระทำที่ทำไปทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว ส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นการบูลลี่จากเพื่อน
- การบูลลี่คืออะไร
“บูลลี่” หรือ “Bully” เป็นการกลั่นแกล้งที่แสดงออกด้วยคำพูด หรือ พฤติกรรมที่ก้าวร้าวต่อผู้อื่น ซึ่งมักเกิดขึ้นในสังคมที่มีช่องว่างระหว่างผู้ที่มีพละกำลัง หรืออำนาจมากกว่าแสดงออกแก่ผู้ที่อ่อนแอกว่า และมีโอกาสเกิดขึ้นได้ซ้ำ ๆ
แต่การบูลลี่ด้วยคำพูดนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าการกระทำ เพราะใช้เพียงแค่คำพูดเท่านั้น โดยส่วนใหญ่มักพบการบูลลี่ในโรงเรียน รองลงมาคือที่ทำงาน ซึ่งเป็นหนึ่งในปมที่นำไปสู่ปัญหาสภาพทางจิตใจที่ร้ายแรงได้ในอนาคต
- การบูลลี่มี 3 ประเภท
- การกลั่นแกล้งทางวาจา (Verbal Bullying) คือ การสื่อสาร พูด เขียน เพื่อสื่อความหมายกลั่นแกล้ง เช่น เรียกชื่อด้วยคำอื่น, แสดงความคิดเห็นทางเพศที่ไม่เหมาะสม, เหน็บแนม และขู่ว่าจะทำร้าย
- การกลั่นแกล้งทางสังคม (Social Bullying) คือ ทำให้เสียหน้า หรือแกล้งให้สูญเสียความสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างตั้งใจ เช่น พยายามไล่เพื่อนออกจากกลุ่ม, ปล่อยข่าวลือให้เสียหาย และทำให้เกิดความอับอายในที่สาธารณะ สำหรับสังคมในที่นี้หมายถึงทั้งสังคมภายนอก และสังคมในโลกโซเชียล เป็นต้น
- การกลั่นแกล้งทางกายภาพ (Physical Bullying) คือ การกลั่นแกล้งที่เกี่ยวข้องกับร่างกายและสวัสดิภาพของผู้ถูกกลั่นแกล้ง เช่น การทำร้ายร่างกาย หรือ แย่งสิ่งของ
- สถานที่ที่มีการบูลลี่เกิดขึ้นบ่อย
ส่วนใหญ่การกลั่นแกล้งจะเกิดขึ้นที่โรงเรียน ในช่วงเวลาหลังเลิกเรียนหรือช่วงพักกลางวัน ทั้งในบริเวณที่ลับสายตาและสถานที่เปิดโล่ง การบูลลี่นั้นเป็นส่วนหนึ่งของการนำไปสู่ปัญหาอาชญากรรมในอนาคต โดยผู้ตกเป็นเหยื่อของการบูลลี่มักเป็นเด็กอายุ 12 - 18 ปี
- การบูลลี่ในโรงเรียน
การที่เด็กถูกบูลลี่อยู่บ่อยครั้ง ทำให้เกิดปัญหาเด็กไม่อยากไปโรงเรียน ส่งผลต่อผลการเรียนและความปลอดภัยของเด็ก เพื่อไม่ให้เด็กเจอปัญหาตามลำพัง
ผู้ปกครองควรหมั่นซักถาม และสังเกตอาการ เมื่อเด็กมีอาการผิดปกติ วิตกกังวล กลัว ไม่อยากไปโรงเรียน ควรรีบปรึกษาครูประจำชั้นหรืออาจารย์ที่ปรึกษาทันที เพื่อช่วยกันแก้ไขและหาทางออกของปัญหาก่อนที่จะบานปลายทำให้เด็กไม่สามารถเข้าสังคมได้เป็นปัญหาเรื้อรังต่อไปในอนาคต
- บูลลี่ในที่ทำงาน
ส่วนใหญ่เป็นเนื้อหาเกี่ยวข้องกับรูปร่างหน้าตา และพฤติกรรมของพนักงาน รวมถึงเรื่องชู้สาวที่มีโอกาสเกิดปัญหาคุกคามทางเพศ
อย่างไรก็ตามผู้ที่เผชิญกับเหตุการณ์ถูกบูลลี่จะต้องเตรียมพร้อมรับมือ และเก็บหลักฐานสำหรับชี้แจงต่อหัวหน้าสายงานได้ หากไม่สามารถแก้ไขปัญหาเบื้องต้นได้อาจจะต้องรวบรวมหลักฐานไว้ใช้ในการแจ้งความและมอบให้แก่ทนาย