ยกเลิก Test & Go กับจังหวะพลิกฟื้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย
การท่องเที่ยวเป็นช่องทางสำคัญในการสร้างรายได้ของประเทศไทย อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของบ้านเราหยุดชะงักมานานกว่า 2 ปีจากสถานการณ์โควิด-19 จนล่าสุดรัฐบาลได้ประกาศยกเลิกมาตรการเข้าประเทศในรูปแบบ Test & Go ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2565
โดยเปิดให้นักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์สามารถเดินทางเข้าไทยได้แบบอิสระ ส่งผลให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าภายในสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ ประเทศไทยจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาถึง 5 ล้านคน จากจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าไทยเพียง 1 ล้านคน ในช่วงวันที่ 1 มกราคม - 11 พ.ค. 2565
ทุกฝ่ายจึงคาดหวังการกลับมาของนักท่องเที่ยวครั้งนี้ ว่าจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยที่ซบเซามายาวนาน โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่รองรับเป้าหมายกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทยอยกลับมาเปิดให้บริการกันอย่างคึกคัก ทั้งโรงแรม ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า รวมถึงธุรกิจบันเทิงต่าง ๆ ซึ่งสิ่งที่ผู้ประกอบการควรทราบคือ ในระหว่าง 2 ปีกว่าที่การท่องเที่ยวหยุดไป พฤติกรรมและเทรนด์ของนักท่องเที่ยวเปลี่ยนไปขนาดไหน?
ความท้าทายและความต้องการของนักท่องเที่ยวในวันนี้
- นักท่องเที่ยวคาดหวังบริการและข้อมูลผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้น เช่น ความสะดวกในหาข้อมูล และการจองบริการและกิจกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่เข้าประเทศจนจบทริป โดยระบบต่าง ๆ ในช่องทางดิจิทัลจะช่วยอำนวยความสะดวกและช่วยให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น
- การมีส่วนร่วมของนักท่องเที่ยวบนโลกดิจิทัล เช่น การรีวิวจากนักท่องเที่ยว ที่มักจะอยากแชร์รูปสวย ๆ เขียนแบ่งปันประสบการณ์ถึงความพึงพอใจ (หรือความไม่พอใจ!) และข้อเสนอแนะของพวกเขาที่มีต่อการท่องเที่ยว ซึ่งการให้คะแนนและรีวิวต่าง ๆ บนโลกออนไลน์ ซึ่งกลายมาเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจเข้ามาลองใช้บริการ และจากสิ่งเหล่านี้เราสามารถรวบรวมข้อมูลที่ได้ เพื่อหาแนวทางใหม่ ๆ ในการพัฒนาประสบการณ์ของนักท่องเที่ยว
การรักษาความปลอดภัยของข้อมูลและความเป็นส่วนตัวของนักท่องเที่ยว เช่น ข้อมูลส่วนบุคคลที่อยู่บน passport บัตรเครดิต หรือแม้กระทั่งการเข้าใช้ Wifi Hotspot สาธารณะ ซึ่งอาจมีความเสี่ยงในการเข้าถึงข้อมูลของนักท่องเที่ยวโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงต้องมีการควบคุมดูแลระบบและระเบียบในการรักษาความปลอดภัยที่รัดกุม ให้นักท่องเที่ยวไม่ต้องกังวลว่าข้อมูลพวกเขาจะหลุดไปหรือไม่
รัฐบาลของดูไบ ได้มีการจัดสรรงบประมาณหลายพันล้านดอลลาร์ให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของดูไบ งบประมาณที่จะถูกนำมาใช้สนับสนุนการพัฒนาโครงการต่างๆ ในอีก 5 ปีข้างหน้านั้นรวมถึง การสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT, กิจกรรมการท่องเที่ยวที่สำคัญ, และการทำระบบ Smart Tourism อีกด้วย
โดยล่าสุดได้มีความร่วมมือกับภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวของ เช่น ศุลกากร ตำรวจ สนามบิน ในการพัฒนา Smart Wallets และ One Gate ที่จะช่วยติดตามนักเดินทาง โดยใช้การจดจำใบหน้าแบบไบโอเมตริกซ์อัตโนมัติ ซึ่งนักเดินทางจะสามารถใช้เพียง Smart Phone ของตนแทนหนังสือเดินทางได้ โดยจะเชื่อมต่อกับสนามบินนานาชาติดูไบ ไปยังด่านตรวจคนเข้าเมือง จนถึงห้องรับรองและ Touchpoint อื่น ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวได้อย่างไร้รอยต่อ นอกจากนี้ยังเชื่อมต่อกับระบบควบคุมชายแดนอัตโนมัติ ในด้านความปลอดภัยจากผู้ที่แอบลักลอบเข้าเมืองอีกด้วย
รองรับนักท่องเที่ยวยุคใหม่ ด้วยการท่องเที่ยวแบบ Smart Tourism
นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ สำหรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพื่อแก้ปัญหาและคลายความกังวลในเรื่องของความปลอดภัยและสุขภาพจาก เป็นตัวช่วยให้ธุรกิจท่องเที่ยวไปต่อได้ในสถานการณ์นี้
- Super App สำหรับการเดินทาง การมีแอปฯ ที่เป็น One stop service โดยใช้เทคโนโลยี IoT หรือ AR เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถตรวจสอบ ข้อมูลการเดินทาง สถานที่ท่องเที่ยว การรักษาความปลอดภัย การเข้าเมือง ตั๋วเครื่องบิน จองรถแท็กซี่ และการนำทาง เสมือนมีไกด์ส่วนตัวอยู่ในมือ ช่วยอำนวยความสะดวกและลดการสัมผัสในการเดินทางได้
- Smart Loyalty System โดยสะสมคะแนนจากการท่องเที่ยว การใช้บริการต่าง ๆ รวมถึงการแชร์ประสบการณ์ เก็บคะแนนผ่านเทคโนโลยี Blockchain และสามารถแลกของรางวัล เพื่อจูงใจนักท่องเที่ยวและส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวให้กับพื้นที่ที่ต้องการเป็นที่รู้จักมากขึ้น
- Event Platform เพื่อสนับสนุนผู้เดินทางเพื่อเข้าร่วม Event สำคัญภายในประเทศ เช่น คอนเสิร์ต, การแข่งขันกีฬา, การประชุม หรือนิทรรศการ ที่จะช่วยให้ผู้เข้าร่วมได้ลงทะเบียน รวมถึงสามารถประเมินความพึงพอใจจากการเข้าร่วม Event ซึ่งจะได้ทั้งการอำนวยความสะดวกให้ผู้เข้าร่วม และยังได้เก็บ Data เพื่อวิเคราะห์กลยุทธ์ในการจัด Event ถัด ๆ ไปอีกด้วย
ในวันที่ดิจิทัลได้ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนมากขึ้น ภาคการท่องเที่ยวก็ต้องการตัวช่วยในการยกระดับความเป็นดิจิทัลให้เท่าทันกับพฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งปัจจัยสำคัญในการปฏิรูปอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้เป็น Smart Tourism ได้นั้น ภาครัฐจำเป็นต้องออกนโยบายที่มีวิสัยทัศน์ และเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วนใน Ecosystem ไม่ว่าจะเป็น หน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ ภาคธุรกิจ ภาคแรงงาน และภาคประชาชน โดยภาครัฐกำหนดทิศทางการพัฒนา เป้าหมาย และแผนงานที่ชัดเจนต่อการพัฒนาและฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในยุคหลังโควิด ให้สามารถกลับมาเติบโตได้อย่างยั่งยืน