ผู้ว่าฯ กทม.กับการจัดการขยะ | ธงชัย พรรณสวัสดิ์

ผู้ว่าฯ กทม.กับการจัดการขยะ | ธงชัย พรรณสวัสดิ์

ถ้าจะให้พูดถึงเรื่องปัญหาขยะชุมชนกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พูดเป็นวันก็พูดไม่จบ เพราะในการจัดการขยะชุมชนนี้ มันมีทั้งต้นทาง กลางทาง และก็ปลายทาง

ส่วนต้นทางคือการใช้หลัก 3R หรือ Reduce Reuse Recycle หรือในภาษาไทยที่เราเรียกว่า "3ช" หรือ "ใช้น้อย ใช้ซ้ำ และใช้ใหม่" เพื่อลดปริมาณขยะให้น้อยลง 

ส่วนกลางทางคือส่วนที่เกี่ยวกับการจัดเก็บและขนไปกำจัดที่ปลายทางต่อไป การจัดการที่ปลายทางหรือการกำจัดขยะนี้มีหลายวิธี ใน กทม.ก็มีหลายวิธีที่ใช้ผสมๆ กันอยู่

ทั้งการขนไปฝังกลบที่ต่างจังหวัด (4,700 ตันต่อวัน) การหมักทำปุ๋ย (1,800 ตันต่อวัน) การแยกขยะด้วยเครื่องมือกล แล้วต่อด้วยระบบทางชีววิทยา (800 ตันต่อวัน) และสุดท้ายคือ ระบบเอาขยะมาเผาเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้า (500 ตันต่อวัน) รวมแล้วเบ็ดเสร็จตกประมาณวันละ 12,000 ตัน

จะเห็นได้ว่า ส่วนที่ กทม.ต้องรับผิดชอบเป็นหลักในปัจจุบันคือ ส่วนกลางทางและปลายทาง ซึ่งด้วยปริมาณขยะขนาด 12,000 ตันต่อวันนั้น ทำให้ กทม.ต้องมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานมากถึงปีละ 7-8 พันล้านบาท

ยังไม่นับรวมถึงค่าสำรวจออกแบบ ค่าลงทุนก่อสร้าง ค่าดอกเบี้ย ค่าซ่อมแซม ค่าเปลี่ยนเครื่องจักรอุปกรณ์ ค่าเสียโอกาสเอาเงินส่วนนี้ไปพัฒนาด้านอื่นๆ ของเมืองให้ดีขึ้น ฯลฯ 

ถ้าเอาพวกนี้มาคิดรวมด้วย ค่าใช้จ่ายทั้งหมดก็อาจสูงขึ้นไปได้ถึงอีกร้อยละ 50 นี่เป็นตัวเลขคาดเดา เพราะยังไม่เคยมีใครเลยที่ใช้หลักคิดนี้ในการวิเคราะห์ทางการเงินของโครงการจัดการขยะของบ้านเรา

ขอถือโอกาสฝากผู้สมัครผู้ว่าฯ และผู้ว่าฯ ที่ได้รับเลือก รับเอาหลักคิดนี้ไปใช้เพื่อคำนวณต้นทุนที่แท้จริงของการจัดการขยะของ กทม. ซึ่งเมื่อได้ตัวเลขมาแล้ว อาจจะตกใจที่งบที่ลงทุนไปนั้นมันมากกว่าค่าขยะที่เก็บได้ 4 ถึง 6 เท่า ขึ้นอยู่กับว่าใช้เทคโนโลยีปลายทางเป็นอย่างไร ถ้าเป็นเตาเผาผลิตไฟฟ้าก็แพงหน่อย ตันละ 1,000 กว่าบาท ยังไม่รวมค่าเก็บขนและขนส่งด้วยซ้ำ 

ผู้ว่าฯ กทม.กับการจัดการขยะ | ธงชัย พรรณสวัสดิ์

ถ้าเป็นการเอาไปฝังในหลุมขยะก็ถูกกว่า แต่ปัญหาคือ หลุมขยะที่ว่าไม่ได้อยู่ใน กทม. มันไปอยู่ที่นครปฐมและฉะเชิงเทรา ซึ่งวันดีคืนดีคนสองจังหวัดนั้นเขาลุกขึ้นมาโวยวาย ไม่ยอมให้เราเอาขยะไปทิ้งบ้านเขา ปัญหาวิกฤติจะเกิดขึ้นทันทีกับคน กทม.

สิ่งที่ผู้ว่าฯ และผู้สมัครเป็นผู้ว่าฯ ควรต้องรีบเอาไปขบคิดเป็นนโยบายของการทำงานคือ การจัดการขยะให้ดีและถูกต้องนั้นมันไม่ใช่ค่าใช้จ่าย แต่เป็นการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดี เพื่อบ้านเมืองที่ดี และเพื่อชีวิตที่ดีของคนในอนาคต

เมื่อได้ราคาที่คิดต้นทุนทุกอย่างมาให้ครบ และได้เป็นตัวเลขที่บอกไปแล้วว่าจะแพงกว่าที่เก็บค่าใช้จ่ายขยะในปัจจุบันมากถึง 4 ถึง 6 เท่า 

ผู้ว่าฯ ก็ต้องจัดหางบประมาณมาจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านการประชาสัมพันธ์และชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจว่า ราคาค่าดำเนินการมันแพงขนาดนี้จริงๆ เพื่อทำให้คน กทม.ยอมรับ และเกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นจริง ทั้งนี้ กทม.คงต้องยอมจ่ายแพงเป็นค่าตอบแทนให้ผู้มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ (Influencers) มาโน้มน้าวให้ประชาชนยอมจ่ายค่าจัดการขยะให้ตรงกับความเป็นจริง 

ผู้ว่าฯ กทม.กับการจัดการขยะ | ธงชัย พรรณสวัสดิ์

เช่น แทนที่จะเป็น 20 บาทต่อบ้านต่อเดือนดังในปัจจุบันของบางบ้าน ไปเป็น 200 บาทต่อบ้านต่อเดือน ซึ่งก็แน่ล่ะ ผู้ว่าฯ ที่ฉลาดก็ย่อมมีกุศโลบายในการที่จะเพิ่มค่าขยะเป็นขั้นบันได มิใช่เพิ่มครั้งเดียวเต็มเพดาน

ในความรู้สึกและความเข้าใจของเรา ผู้ว่าฯ แบบนี้แหละที่มีกึ๋น มองอนาคตได้ทะลุ รักบ้านเมืองจริง โดยยินยอมที่อาจจะไม่ได้รับการเลือกเข้ามาใหม่ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป แต่คนแบบนี้ไม่ใช่หรือที่เขาเรียกว่า great governor ไม่ใช่เป็นเพียง good governor

ที่พูดมาทั้งหมดนี้ มันมีแต่รายจ่ายออกซึ่งเป็นจำนวนไม่น้อย แล้วเราจะทำอย่างไรให้จ่ายลดลงได้ สิ่งที่ทำได้มีอยู่ทางเดียวคือต้องลดปริมาณขยะที่ต้องมาเก็บ มาขน มากำจัด ซึ่งนั้นก็คือหลักคิด 3R หรือ 3ช ที่พูดไว้แต่ต้น

ถามว่าแนวคิดนี้ผู้ว่าฯ และผู้สมัครผู้ว่าฯ ได้รู้มาก่อนแล้วไหม ตอบได้ทันทีว่ารู้ รู้มานานแล้ว เพราะเป็นหลักการหรือตรรกระที่เข้าใจได้ไม่ยาก แต่ถ้าถามต่อไปว่าแล้วที่พยายามแยกขยะ ลดขยะ รีไซเคิลขยะ ที่ทำกันมา 30 ถึง 40 ปีแล้วนั้น ทำไมมันจึงไม่ได้ผล? 

ผู้ว่าฯ กทม.กับการจัดการขยะ | ธงชัย พรรณสวัสดิ์

คำตอบที่ตรงที่สุดคือ 1.ชาวบ้านไม่รู้สึกมีแรงกดดันจากการถูกบังคับใช้กฎหมายของ กทม. เช่น ไม่จับจริง ไม่ปรับจริง ไม่ไม่เก็บขยะจริง (คือยังมาเก็บขยะให้ แม้ไม่จ่ายค่าขยะ) 2.ไม่มีแรงจูงใจทางสิ่งแวดล้อมให้ชาวบ้านอยากที่จะร่วมมือในการทำ 3ช และ 3.ไม่มีแรงกระตุ้นทางรายได้ที่มากพอที่จะลุกขึ้นมาทำ 3ช กันจริงจัง

สำหรับข้อที่หนึ่งข้างต้นนั้น เป็นงานบริหารธรรมดาที่ผู้ว่าฯ สามารถไปคิดกลไกหรือยุทธวิธีได้เอง แต่สำหรับข้อสองนี้เป็นเรื่องของการเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งมีข้อสังเกตว่าในประวัติศาสตร์ของ กทม. เรายังไม่เคยเห็นผู้ว่าฯ คนใดจัดงบประมาณให้มากพอในการที่จะมาสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง จนไปถึงระดับที่ประชาชนตระหนักในปัญหาและเปลี่ยนพฤติกรรม

เราจึงอยากจะขอให้ผู้ว่าฯ คนใหม่กรุณานำเอาแนวคิดนี้ไปลองวิเคราะห์ดูว่าสมควรนำไปใช้ไหม

ส่วนสำหรับข้อสาม ถ้าคน กทม.เริ่มเข้าใจและจะร่วมมือกันแยกขยะ นำไปรีไซเคิล เพื่อลดค่าใช้จ่ายโดยรวมของขั้นตอนกลางทางและปลายทาง แต่เขาก็อาจยังไม่ลงมือจริง หากการทำเช่นนั้นมันยุ่งยากเกินและใช้เวลามากเกิน รวมทั้งยังขายขยะที่แยกมาแล้วไม่ได้ ตลอดจนต้องเป็นภาระเสียค่าใช้จ่ายนำขยะที่แยกแล้วนี้ไปส่งทางไปรษณีย์เพื่อไปกำจัดที่ปลายทาง เช่น นำไปเผาเป็นเชื้อเพลิงที่เตาเผาขยะหรือเตาผลิตปูนซีเมนต์

วิธีการที่เราอยากเสนอผู้ว่าฯ คนใหม่คือ ขอให้มองให้ครบวง ถ้า กทม.มีขยะมาก ค่าเก็บขนและค่ากำจัดก็ต้องมากตามไปด้วย ดังนั้น ถ้าเราสามารถกำหนดกฎเกณฑ์หรือแม้กระทั่งวงเงินมาสนับสนุนให้เกิดการซื้อขายขยะที่แยกแล้วได้ง่ายขึ้น มีรายรับสูงขึ้น ชาวบ้านรวมทั้งซาเล้งก็คงยินดีที่จะร่วมมือมากขึ้น และสุดท้ายค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะโดยรวมก็จะลดลง

ขยะพลาสติกถ้าแยกได้เบ็ดเสร็จจริงจะรีไซเคิลได้ทั้งสิ้น ปัญหาคือ ชาวบ้านนอกจากไม่อยากแยกแล้ว ยังแยกไม่ได้และไม่เป็น เพราะพลาสติกมีหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นโพลีไวนิล โพลีสไตรีน โพลีเอทธิลีน โพลีโพรพิลีน และอีกหลายโพลี ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ชาวบ้านมีความรู้ในเรื่องแบบนี้

ดังนั้น วิธีการที่ดีต้องทำให้ง่ายที่สุดสำหรับชาวบ้านนั่นคือ ไม่ต้องแยกอย่างเบ็ดเสร็จเรียบร้อย แต่ให้แยกเพียงเท่าที่แยกได้ แล้วให้ซาเล้งและผู้ประกอบการรีไซเคิลนำไปแยกต่ออีกทอด ซึ่ง ณ ปัจจุบันคนทั้งสองกลุ่มนี้เขาไม่ยินดีทำเพราะเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่าย แต่ถ้า กทม.มีระบบการเงินที่ทำให้เขาได้รายได้มากขึ้นจนกลับยอมยินดีทำ ทุกอย่างก็จะลงตัว

มีหลายข้อที่ขอฝากผู้สมัครผู้ว่าการกรุงเทพมหานครและคนที่จะมาเป็นผู้ว่าฯ คนต่อไป ให้นำไปคิดและผลิตเป็นนโยบายการทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีของบ้านเมืองต่อไป ซึ่งก็ไม่ใช่สำหรับใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นของสังคมคน กทม.ทั้งปวงนั่นเอง.

ผู้เขียน 
ศ.ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รศ.ดร.โสภา ชินเวชกิจวานิชย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล